ตารางที่ 2.2 ความลึกของร่องเกลียวหนอนแบบมีช่วงก๊าซ
ระยะพิตซ์ h = 0.7D สำหรับ D = 25-70 ช่วง L1
ระยะพิตซ์ h = 0.8D สำหรับ D = 70-130 ช่วง L1
ระยะพิตซ์ h = D ช่วง L2
ปลายเกลียวหนอน ตามหลักการแล้วปลายของเกลียวหนอนควรจะทำให้เอียงเป็นมุมและมีผิวลื่นเพื่อให้พลาสติกเหลวไหลตัวได้ดี หรืออาจจะทำเป็นแบบเกลียวก้นหอย (spiral) ก็ได้ซึ่งจะใช้กับ พลาสติก PVC-U เพราะจะทำให้การขับดันพลาสติกเหลวดีขึ้น และเพื่อป้องกันพลาสติกที่ปลายเกลียวหนอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นงานฉีดได้
การป้องกันพลาสติกเหลวไหลย้อนกลับ เนื่องจากตัวเกลียวหนอนและกระบอกฉีดจะมีช่องว่างอยู่ข้างละประมาณ 0.1 ถึง 0.3 mm ช่องว่างนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเกลียวหนอน ขนาดยิ่งโตช่องว่างยิ่งมากขึ้น ช่องว่างนี้จะช่วยป้องกันการเสียดสีกันระหว่างตัวเกลียวหนอนกับผิวด้านในของกระบอกฉีด โดยพลาสติกเหลวจะแทรกตัวอยู่ตามช่องว่างนี้ และทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของตัวเกลียวหนอนไว้ ทำให้ในการใช้เกลียวหนอนเป็นลูกสูบเพื่ออัดพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์ในช่วงจังหวะฉีดนั้น พลาสติกเหลวบางส่วนจะวิ่งเข้าแม่พิมพ์ แต่บางส่วนก็จะไหลตามช่องว่างดังกล่าวกลับเข้าไปในกระบอกฉีด ทำให้พลาสติกเหลวในกระบอกฉีดร้อนยิ่งขึ้น จนอาจเปลี่ยนสีเป็นสีอื่นได้และเข้าไปผสมกับพลาสติกที่จะฉีดต่อไปได้ นอกจากนี้ปริมาณพลาสติกที่สามารถฉีดได้ก็จะลดลง ด้วยเหตุนี้เราจึงใช้แหวนติดไว้ที่ปลายเกลียวหนอน ซึ่งเราเรียกว่า แหวนกันพลาสติกไหลย้อนกลับ (check ring) โดยช่องว่างแต่ละข้างระหว่างแหวนกับกระบอกฉีดจะมีขนาดประมาณ 0.02mm ถึง 0.03mm พลาสติกเหลวจึงไม่สามารถไหลย้อนกลับเข้าไปในกระบอกฉีดได้การทำงานของตัวแหวนกันพลาสติกไหลย้อนกลับสามารถดูได้จากรูป 2.11
รูปที่ 2.11 การทำงานของแหวนกันพลาสติกไหลย้อนกลับ
ในการใช้งานไปนานๆ ตัวแหวนกันพลาสติกไหลย้อนกลับนี้มีโอกาสสึกหรอได้เนื่องจากเสียดสีกับผิวด้านในของกระบอกฉีด (โดยปกติตัวแหวนจะถูกทำให้มีความแข็งน้อยกว่าผิวด้านในของกระบอกฉีด) ถ้าตัวแหวนเกิดการสึกหรอ จะทำให้ความดันฉีดลดลง และเนื้อพลาสติกที่ฉีดได้ก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งเราสามารถทำการตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยการเคลื่อนเกลียวหนอนตามแนวแกนอัดพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนให้วิ่งออกไปยังหัวฉีด (จังหวะฉีด) แต่แทนที่จะให้พลาสติกเหลวไหลผ่านหัวฉีดออกไป เราก็หาสิ่งกีดขวางปิดกั้นหัวฉีดเอาไว้แทนเพื่อไม่ให้พลาสติกเหลวไหลออกจากหัวฉีดได้ และสังเกตดูว่าตัวเกลียวหนอนมีการเคลื่อนที่ไปทางหัวฉีดหรือไม่ ถ้ามีการเคลื่อนที่ก็แสดงว่าตัวแหวนเกิดการสึกหรอ พลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนจึงมีโอกาสไหลย้อนกลับเข้าไปในกระบอกฉีดได้ ทำให้ปริมาณพลาสติกเหลวลดลง ตัวเกลียวหนอนจึงเคลื่อนเข้าแทนที่ข้างหน้าได้
ระบบส่งกำลังขั้วเกลียวหนอน การเคลื่อนที่ของเกลียวหนอนจะมีอยู่ด้วยกัน 2ลักษณะคือ การหมุนรอบตัวเองเพื่อดึงพลาสติกเข้ากระบอกฉีดและหมุนส่งไปยังหน้าปลายเกลียวหนอน และการเคลื่อนที่ตามแนวแกนเพื่ออัดพลาสติกเหลวเข้าสู่แม่พิมพ์ในจังหวะฉีดการเคลื่อนที่ตามแนวแกนจะใช้ระบบมอเตอร์ไฮดรอลิกก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่โรงงานพลาสติกส่วนใหญ่นิยมใช้มอเตอร์ไฮดรอลิก ตารางที่ 2.3 แสดงข้อเปรียบเทียบระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไฮดรอลิก