ลักษณะพฤกษศาสตร์ของทุเรียน
วงศ์ : Bombacaceae
ชื่อสามัญ : Durian
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio Zibethinus Murray
ใบ ทุเรียนเป็นไม้ยืนต้น เป็นพืชที่ไม่มีการผลัดใบ ทรงพุ่มแผ่กว้าง มีความสูง 20-40 เมตร (เพาะเมล็ด) สำหรับต้นที่ปลูกจากการเสียบยอด มีความสูง 8-12 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ยาว 8-20 เซนติเมตร กว้าง 4-6 เซนติเมตร เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ปลายใบแหลม มีก้านใบสีน้ำตาลบนใบสีเขียวแก่ถึงเขียวเข้ม ด้านใต้ใบเป็นสีน้ำตาล เส้นใบทุเรียนสานกันมีลักษณะเป็นร่างแห ใบของทุเรียนในแต่ละพันธุ์ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์นั้นๆ ด้วย
ราก ทุเรียนมีรากหาอกหารบริเวณผิวดินจนถึงระดับ 50 เซนติเมตร มีรากพิเศษที่เกิดจากบริเวณโคนต้นอยู่มากมายตามผิวดิน แตกออกมาลักษณะตีนตะขาบเรียกว่า "รากตะขาบ" รากแก้วของทุเรียนทำหน้าที่ยึดลำต้น ทุเรียนนนท์ส่วนใหญ่ ไม่มีรากแก้วเพราะปลูกจากกิ่งตอน แต่จะมีรากพิเศษแทนหรือรากแขนงที่แตกจากรากพิเศษที่หยั่งลึกลงไปในดินทำหน้าที่คล้ายรากแก้วและสามารถหยั่งลึกไปถึงระดับน้ำใต้ดินได้มีรากฝอยเป็นรากหาอาหารออกมาจากพิเศษมีหน้าที่ในการดูดอาหาร
ดอก ดอกทุเรียนมีลักษณะคล้ายระฆัง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใน 1 ดอกประกอบด้วย กลีบเลี้ยงซึ่งอยู่ชั้นนอกสุดมีสีเขียวอมน้ำตาลทำหน้าที่หุ้มกลีบดอกไว้ เมื่อดอกเริ่มบานจะเห็นกลีบเลี้ยง 2-3 กลีบมีกลีบรองลักษณะคล้ายหม้อตาลโตนดอยู่ถัดเข้าไปจากกลีบเลี้ยง กลีบดอกมีสีขาวนวล จำนวน 5 กลีบมีเกสรตัวผู้ 5 ชุด มีก้านเกสร 5-8 อัน ทุเรียนมักออกดอกเป็นช่อๆ 1-30 ดอก
ผล ผลทุเรียนมีลักษณะเป็นหนามแหลมแข็ง เปลือกหนา ในแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะของผลแตกต่างกันออกไป เช่น พันธุ์กลม (ก้านยาว กระดุม) พันธุ์ก้นป้าน (หมอนทอง ทองย้อย) ในแต่ละผลมีลักษณะแบ่งเป็นพู ในแต่ละพูจะมีเนื้อทุเรียนและมีเมล็ดอยู่ภายใน เนื้อของทุเรียนมีสีจำปาหรือเนื้อสีเหลืองอ่อนขึ้นอยู่กับสภาพของดินและพันธุ์ของทุเรียน