เพลี้ยแป้งในทุเรียน (mealybugs)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์
Planococcus minor (Maskell), Planococcus lilacinus (Cockerell), Pseudococcus crytus Hampel
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งในทุเรียน
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงศตรูที่สำคัญพบระบาดทำความเสียหายต่อทุเรียนในแหล่งปลูกทั่วไป ดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ โดยมีมดแกงและมดดำช่วยคาบพาไปตามส่วนต่างๆ ของพืชส่วนที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น และชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honeydew) ออกมาเป็นเหตุให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ ถ้าเพลี้ยแห้งเข้าทำลายทุเรียนผลเล็กจะทำให้ผลแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าเป็นทุเรียนผลใหญ่จะมีความเสียหายต่อเนื้อทุเรียน และทำให้คุณภาพของผลทุเรียนเสียไป ราคาต่ำ และเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภค
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยแป้งในทุเรียน
เพลี้ยแห้งเพศเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อน หรือชมพูลักษณะอ้วนสั้นมีผงสีขาวคล้ายผงแป้งปกคลุมลำตัวอยู่ ไข่เป็นกลุ่ม จำนวนไข่แต่ละกลุ่ม 100-200 ฟอง เพศเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถึงใต้ท้องเพศเมีย ระยะไข่ ประมาณ 6-10 วัน ส่วนเพศเมียเมื่อหยุดไข่ก็จะตายไป ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีเหลืองอ่อน ไม่มีผงสีขาว ตัวอ่อนจะคลานออกจากกลุ่มไข่เพื่อหาที่ๆ เหมาะสมเพื่ออยู่อาศัย เพศเมียมีการลอกคราบ 3 ครั้ง เพลี้ยแห้งสามารถขยายพันธุ์ได้ 2-3 รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี ในระยะที่พืชอาหารไม่เหมาะสม เพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืช เช่น หญ้าแห้วหมู โดยมีมดที่อาศัยกินสิ่งที่ขับถ่ายของเพลี้ยแป้งเป็นตัวพาไปอาศัยตามส่วนต่างๆ ของต้นทุเรียน
เพลี้ยแป้งจะระบาดทำความเสียหายแก่ผลทุเรียนตั้งแต่ระยะที่ทุเรียนเริ่มติดผล จนกระทั่งผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว หรือ กลางเดือนกรกฎาคมสำหรับทุเรียนรุ่นหลัง
พืชอาหารเพลี้ยแป้งในทุเรียน
ทุเรียน มังคุด สับปะรด และ เงาะ
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งในทุเรียน
พบด้วงเต่าในวงศ์ Coccinellidae เป็นแมลงห้ำ 3 ชนิด คือ Cryptolaemus montrouzieri, Scymnus sp. และ Nephus sp.
การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในทุเรียน
1. หากพบเพลี้ยแป้งระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้งเสีย
2. เมื่อพบเพลี้ยแป้งปริมาณน้อยบนผลทุเรียนใช้แปลงปัด หรือใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุดออก หรือ การใช้น้ำผสม white oil อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยในการกำจัดเพลี้ยแป้ง
3. เนื่องจากเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดโดยมีมดพาไป การป้องกันโดยใช้ฝ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น malathion (Malathion 83 83% EC) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่างๆ ของทุเรียน และต้องชุบสารฆ่าแมลงซ้ำทุกๆ 10 วัน หรือการพ่นสารฆ่าแมลงไปที่โคนต้น จะช่วยป้องกันมดและลดการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้อย่างมาก
4. สารฆ่าแมลงที่ได้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้ง คือ carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย
เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อนทุเรียนทำให้แคระแกร็น
มดแดงกินมูลหวานเพลี้ยแป้งและพาไปยังส่วนต่างๆของทุเรียน
เพลี้ยแป้งขับถ่ายมูลหว่านทำให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ