โรคทุเรียนมีอะไรบ้างที่ชาวสวนทุเรียนต้องรู้

โรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน (Root and Foot Rot)

สาเหตุ โรครากเน่าโคนเน่า

เชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora palmivora (Butler))

ลักษณะอาการโรครากเน่าโคนเน่า

ใบจะไม่เป็นมันสดใสเหมือนทุเรียนปกติ ต่อมาใบล่างๆ จะเริ่มเป็นจุดประเหลืองแล้วค่อยๆ หลุดร่วงไป ต้นทรุดโทรมและตาย
เกิดอาการเน่าที่โคนต้นหรือกิ่งทุเรียน จะสังเกตเห็นผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่งคล้ายมีคราบน้ำตาลแดงไหลออกมารอยแผลแตกของลำต้นหรือกิ่ง และน้ำยางนี้จะค่อยๆ แห้งไปในช่วงกลางวันที่มีแดดจัด ทำให้เห็นคราบน้ำจับบนเปลือกของลำต้นทุเรียน เมื่อถากเปลือกของลำต้นบริเวณที่มีคราบน้ำยาง จะเห็นเนื้อเยื่อเปลือกถูกทำลายมีสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนอาการเน่าที่เกิดกับรากเล็กหรือรากฝอยนั้น เมื่อเยื่อรากจะเปื่อยยุ่ย เมื่อดึงเบาๆ จะขาดออกจากกันได้ง่าย

การแพร่ระบาดโรครากเน่าโคนเน่า

เชื้อราไฟทอปธอร่าสามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลาหลายปี ในรูปแบบของคลาไมโดสปอร์ (chlamydospores) และเมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสม คือน้ำและความชื้นเพียงพอก็สามารถงอกเป็นเส้นใยสร้างอวัยวะขยายพันธุ์ (sporangium) ซึ่งเป็นที่กำเนิดของซูโอสปอร์ (Zoospores) ซึ่งมีหางสามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำเข้าทำลายพืชรากพืช นอกจากนั้นเชื้อโรคยังแพร่ระบาดได้โดยลมพายุ และน้ำท่วมหรือติดไปกับดินปลูก และกิ่งพันธุ์เป็นโรค

วิธีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า

1. เก็บชิ้นส่วนของเปลือกหรือผลทุเรียนที่เน่าร่วงหล่นออกนอกแปลง แล้วทำการเผาทำลายถากส่วนที่เป็นโรคออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้ แล้วทารอยแผลด้วยปูนแดง หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คูปราวิท หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
2. ถากเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นโรคออกบางๆ แล้วทาด้วยสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น เมตาแลกซิล ฟอสเอสเอทธิล อลูมินั่ม เป็นต้น
3. อัดฉีดเข้าลำต้นด้วยสารฟอสฟอรัสแอซิด (phosphorous aced) โดยผสมกับน้ำสะอาด
4.ลดปริมาณเชื้อราในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือเศษซากพืชคลุมดินเพื่อส่งเสริมจุลินทรีย์หลายชนิดเพิ่มปริมาณ หรือนำจุลินทรีย์ปฎิปักษ์ใส่ในดิน เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) ซึ่งมีการผลิตในรูปการค้า
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรครากเน่าในทุเรียน
ลักษณะอาการโรครากเน่าในทุเรียน
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคโครนเน่าในทุเรียน
ลักษณะอาการโรคโครนเน่าในทุเรียน

โรคผลเน่าในทุเรียน (Fruit Rot)

สาเหตุ โรคผลเน่า

เชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora palmivora (Butler))

ลักษณะอาการโรคผลเน่า

บริเวณปลายผลทุเรียน หรือก้นผลมักพบจุดช้ำสีน้ำตาลปนเทา ต่อมาขยายเป็นวงกลมหรือค่อนข้างรีไปตามรูปร่างผล แผลดังกล่าวอาจพบได้ตั้งแต่ผลยังคงอยู่บนต้น แต่ส่วนใหญ่มักพบเกิดกับผลทุเรียนในช่วงประมาณ 1 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และในระหว่างบ่มผลให้สุก

การแพร่ระบาดโรคผลเน่า

เชื้อราสามารถเข้าทำลายผลทุเรียนได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อนจนกระทั้งผลแก่ โดยเฉพาะเมื่อผลทุเรียนใกล้แก่จะเป็นช่วงต้นฤดูฝนซึ่งมักจะเกิดลมพายุฝนพัดพาเอาเชื้อที่ติดอยู่กับดินขึ้นไปเกาะติดบนผลทุเรียนที่ติดอยู่บนต้น และเข้าทำลายทำให้เกิดแผลเน่าได้ ซึ่งบริเวณที่เชื้อเข้าทำลายส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณก้นผลเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความชื้นสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

วิธีการป้องกันกำจัดโรคผลเน่า

1. ทำการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดกับต้นทุเรียนในแปลงปลูกเสียตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนเศษชิ้นส่วนพืชที่เป็นโรคจะต้องเก็บออกนอกแปลงแล้วนำไปเผาทำลายเพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในแปลงปลูก
2. หมั่นตรวจตราผลทุเรียนในแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงผลใกล้แก่ หากพบอาการผลเป็นจุดเน่า ควรทำการฉีดพ่นสารเคมี เช่น เมตาแลกซิล 25% WP หรือ เมตาแลกซิลผสมแมนโคแซบ หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP ให้ทั่วต้นทุเรียนประมาณ 1-2 ครั้ง
3. ในแปลงปลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง อันเนื่องมาจากมีต้นที่เป็นโรคเน่าโคนเน่าในแปลงมาก และมีฝนตกชุกในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต เชื้อโรคอาจจะติดมากับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการจำเป็นต้องจุ่มสารเคมี เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ก่อนผึ่งให้แห้งแล้วดำเนินการบรรจุลงเข่งพลาสติกหรือตะกร้าหูเหล็ก เพื่อส่งไปยังจุดหมายปลายทาง การเก็บเกี่ยวทุเรียนต้องละมัดละวังผลทุเรียนสัมผัสกับดิน โดยใช้ตะกร้าพลาสติกหรือเข่งพลาสติกใส่ทุเรียน หรืออาจจะปูพื้นดินที่จะวางผลทุเรียนด้วยกระสอบที่สะอาด เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดิน และการขนย้ายจะต้องระมัดระวังบาดแผลบนผลที่เกิดจากหนามทิ่มแทงกัน
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคผลเน่าในทุเรียน
ลักษณะอาการโรคผลเน่าในทุเรียน

โรคใบติดหรือใบไหม้ในทุเรียน

สาเหตุ โรคใบติดหรือใบไหม้

เชื้อราไรซอคโทเนีย (Rhizoctonia sp.)

ลักษณะอาการโรคใบติดหรือใบไหม้

พบแผลคล้ายน้ำร้อนลวกบนใบ บริเวณกลางใบหรือขอบใบ ต่อมาแผลขยายตัวลุกลามและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างแผลไม่แน่นอนเชื้อราแพร่ไปยังที่อื่นๆ ที่ติดกันโดยการสร้างเส้นใยของเชื้อรายึดใบให้ติดกัน ทำให้เกิดอาการใบแห้งเป็นหย่อมๆ และใบจะค่อยๆ ร่างหล่นลงยังโคนต้นทุเรียนเหลือแต่กิ่ง ซึ่งต่อมาจะค่อยๆ แห้ง ทำให้ต้นทุเรียนเสียรูปทรง และมีการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

การแพร่ระบาดโรคใบติดหรือใบไหม้

เชื้อราสามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน โดยอาศัยเศษซากพืช และแพร่ระบาดเข้าทำลายพืชระยะใบอ่อน โดยเฉพาะช่วงฝนชุก

วิธีการป้องกันกำจัดโรคใบติดหรือใบไหม้

1. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้เหมาะสม โดยให้มีความชื้นในปริมาณที่ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดี และมีความชื้นในทรงพุ่มไม่เหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค
2. ในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อนควรหมั่นสำรวจอาการของโรค หากพบโรคควรตัดกิ่งที่เป็นโรคออกนำไปเผานอกแปลงปลูก และพ่นด้วยสารกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมนโคแซบ
3. เก็บและรวบรวมเศษใบเป็นโรคที่ร่างหล่นอยู่บริเวณโคนต้นทุเรียน แล้วนำไปเผาทำลายเพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในแปลงปลูกให้น้อยลง
4. ในแปลงปลูกที่ความชื้นสูง และมีการระบาดของโรคเป็นประจำ ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนต่ำ เพื่อลดความอุดมสมบูรณ์ของการแตกใบ
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคใบติดหรือใบไหม้ในทุเรียน
ลักษณะโรคใบติดหรือใบไหม้ในทุเรียน

โรคใบจุดสนิมในทุเรียน (Agal Spot)

สาเหตุ โรคใบจุดสนิม

สาหร่ายสีเขียว (Cephaleuros virescens)

ลักษณะอาการโรคใบจุดสนิม

พบจุดฟูสีเขียวแกมเหลืองของสาหร่าย ขอบของจุดเหล่านี้จะไม่เรียบ และมีลักษณะเป็นแฉกๆ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจุดจะขยายใหญ่ และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม สาหร่ายที่พบไม่มีผลกระทบที่รุนแรงต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน นอกจากจะบดบังเนื้อที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงให้น้อยลง

การแพร่ระบาดโรคใบจุดสนิม

ระบาดมากในแปลงทุเรียนที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ และสภาพแปลงความชื้นสูง

วิธีการป้องกันกำจัดโรคใบจุดสนิม

1. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้เหมาะสม
2. หากพบการระบาดมากฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคใบจุดสนิมในทุเรียน
ลักษณะโรคใบจุดสนิมหรือโรคใบจุดสาหร่ายในทุเรียน

โรคแอนแทรคโนสในทุเรียน

สาเหตุ โรคแอนแทรคโนส

เชื้อราคอลเลโตตริคัม (colletotrichum gloeosporioides)

ลักษณะอาการโรคแอนแทรคโนส

ลักษณะอาการคล้าโรคใบติด โดยใบจะไหม้เป็นสีน้ำตาล มักเกิดตามบริเวณขอบใบหรือกลางใบบริเวณเนื้อใบที่ไหม้จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ขอบของแผลจะเป็นสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบแผล เนื้อใบที่ถูกทำลายจะมองดูโปร่งใส การเกิดโรคมักจะกระจายไปทั่วทั้งต้นทุเรียน ไม่เหมือนโรคใบติดที่มักพบการกระจายเป็นหย่อมๆ โรคนี้พบได้ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่มองเห็นอาการได้ชัดแจนในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นระยะที่ทุเรียนกำลังออกดอกติดผล

การแพร่ระบาดโรคแอนแทรคโนส

มักพบในทุเรียนพันธุ์ชะนี ในทุเรียนพันธุ์หมองทองพบอาการระบาดบ้างแต่ไม่รุนแรง โดยเชื้อราจะแพร่ระบาดไปตามลมเข้าทำลายพืชเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม

วิธีการป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส

1. ดูแลต้นทุเรียนให้มีความแข็งแรงโดยการให้น้ำ และธาตุอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอโดยเฉพาะในช่วงติดผลของทุเรียน
2. ในแหล่งปลูกที่พบโรคเสมอในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อน ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรค เช่น สารเบโนมิล คาร์เบนดาซิม หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคแอนแทรคโนสในทุเรียน
ลักษณะโรคแอนแทรคโนสในทุเรียน

โรคราสีชมพูในทุเรียน (Pink Disease)

สาเหตุ โรคราสีชมพู

เชื้อราคอร์ทีเซียม (Corticium salmonicolor)

ลักษณะอาการโรคราสีชมพู

เมื่อมองดูจากนอกทรงพุ่มของต้นทุเรียน จะเห็นอาการใบเหลืองร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายอาการกิ่งแห้ง หรือโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า แต่หากสังเกตตามกิ่งด้านในของทรงพุ่มจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวปกคลุมโคนกิ่งที่แสดงอาการ เมื่อเชื้อเจริญลุกลามและมีอายุมากขึ้น เส้นใยขาวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื้อราสร้างส่วนขยายพันธุ์เพื่อการระบาดไปยังต้นทุเรียนต้นอื่นๆ ต่อไป เมื่อถากส่วนของกิ่งที่มีเชื้อราปกคลุมจะเห็นเนื้อเปลือกแห้งเป็นสีน้ำตาล

การแพร่ระบาดโรคราสีชมพู

แพร่ระบาดในสภาพความชื้นสูง

วิธีการป้องกันกำจัดโรคราสีชมพู

1. หมั่นตรวจหาลักษณะของโรคในแปลงปลูกทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ
2. เมื่อพบเชื้อราเริ่มเข้าทำลายตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ควรทาด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ รอบๆ กิ่ง
3. ตัดกิ่งส่วนที่เป็นโรคออก แล้วนำไปเผาทำลาย ทาด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์รอบๆ บริเวณรอยตัดของกิ่ง
4. ควรทำการตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนให้มีทรงพุ่มโปร่งพอสมควร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี
5. ในแหล่งปลูกที่พบโรคราสีชมพูระบาดเป็นประจำ อาจใช้สารเคมีฉีดพ่น เข่น เบนโนมิล
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคราสีชมพูในทุเรียน
ลักษณะโรคราสีชมพูในทุเรียน

โรคราแป้งในทุเรียน (Powdery Mildew)

สาเหตุ โรคราแป้ง

เชื้อราออยเดียม (Oidium sp.)

ลักษณะอาการโรคราแป้ง

พลกลุ่มเชื้อราสีขาวมีลักษณะคล้ายฝุ่นแป้งปกคลุมเปลือกทุเรียน เชื้อสามารถเข้าทำลายผลทุเรียนได้ตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนจนกระทั่งผลแก่ ซึ่งการเข้าทำลายของเชื้อในระยะติดผลใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้ผลอ่อนร่วงหล่นได้ หรือถ้าเป็นกับผลที่กำลังเจริญเติบโตก็จะทำให้สีผิวของทุเรียนผิดปกติไม่เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค นอกจากนี้ยังทำให้ราคาผลผลิตทุเรียนตกต่ำ

การแพร่ระบาดโรคราแป้ง

เชื้อราแพร่ระบาดทางลมในระยะที่อากาศเย็นและแห้งแล้ง

วิธีการป้องกันกำจัดโรคราแป้ง

1. ในแหล่งปลูกที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการระบาดของโรค เกษตรกรควรตรวจผลทุเรียนที่อยู่ในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ
2. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรค เช่น เบโนมิลหรือกำมะถันผงชนิดละลายน้ำ (wettable sulfur) เป็นต้น
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคราแป้งในทุเรียน
ลักษณะโรคราแป้งในทุเรียน

โรคราดำในทุเรียน (Sooty mold)

สาเหตุ โรคราดำ

เชื้อรา

ลักษณะอาการโรคราดำ

ผลทุเรียนมีราสีดำเจริญเป็นจุดๆ หรือปกคลุมกระจายทั่วผล จุดมักรวมตัวกันทำให้เห็นเป็นปื้นดำทำให้ผิวของผลทุเรียนไม่สะอาด และมีราคาตกต่ำลง

การแพร่ระบาดโรคราดำ

มักพบแมลงจำพวกเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง มีการขับถ่ายสารเหนียวๆ ลงบนผล ซึ่งเป็นอาหารของราดำและมักพบราดำในสภาพความชื้นสูง โดยพบกับต้นทุเรียนที่มีพุ่มหนาทึบ

วิธีการป้องกันกำจัดโรคราดำ

1. ควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยด้วยสารสกัดสมุนไพรหรือสารกำจัดแมลง เช่น ไวท์ออยผสมมาลาไธออน
2. พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคราดำในทุเรียน
ลักษณะโรคราดำในทุเรียน

โรคดอกและผลล่วงในทุเรียน

โรคนี้อาจนับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะมีผลกระทบโดยตรงกับปริมาณผลผลิตทุเรียนที่เกษตรกรจะได้รับหลังจากดูแลรักษาต้นทุเรียนโดยการให้น้ำให้ปุ๋ยป้องกันกำจัดโรคและแมลงมาเกือบตลอดปี แต่ก็มักพบเสมอว่าในบางปีที่ทุเรียนหลังจากที่ออกดอกแล้ว มีปัญหาดอกร่วงก่อนบานดอกแห้ง หรือดอกบานแล้วไม่ติดผล หรือติดผลแล้วแต่ผลอ่อนร่วงง่าย เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยบางอย่างที่มีอิทธิพลต่อการร่วงของดอกและผลทุเรียน ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละปีอาจแตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการร่วงหล่นของดอกหรือผลทุเรียนมีดังนี้
1. การร่วงของดอกในขณะดอกตูม อาจเนื่องมาจากความชื้นในอากาศต่ำในช่วงทุเรียนออกดอกโดยเฉพาะสวนที่มีสภาพลมแรงพัดผ่าน ซึ่งจะทำให้ความชื้นในแปลงปลูกน้อยลง การให้น้ำอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของต้นทุเรียนที่จะนำไปเลี้ยงดอก ก็จะทำให้ดอกแห้งและหลุดร่วงได้ง่าย
2. การให้น้ำที่ไม่เหมาะสมในช่วงทุเรียนออกดอก การให้น้ำน้อยเกินไปทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น บางครั้งการให้น้ำมากเกินไปทำให้ต้นทุเรียนทิ้งดอก และมีการแตกใบอ่อนได้
3. การที่ต้นทุเรียนออกดอกหลายๆ รุ่นในต้นเดียวกัน ทำให้ต้นทุเรียนนำน้ำและธาตุอาหารไปเลี้ยงดอกที่ออกรุ่นใหม่มากกว่า เป็นผลให้รุ่นเก่าไม่มีน้ำและอาหารเพียงพอ เกิดการหลุดล่วงได้
4. มีแมลงพวกเพลี้ยไฟ หรือไรแดงเข้าทำลายดอก
5. การผสมเกสรของทุเรียนแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะพันธุ์ชะนี มีการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเกสรตัวผู้ยาวกว่าเกสรตัวเมีย ในสภาพที่ดอกคว่ำลงโอกาสที่เกสรตัวผู้จะไปติดกับปลายเกสรตัวเมียนั้นมีน้อยมาก จึงทำให้ทุเรียนพันธุ์ชะนีติดผลยาก โดยเฉพาะหากมีฝนตกในช่วงดอกบาน มักพบการติดผลน้อยกว่าปกติ ซึ่งการติดผลน้อยของทุเรียนในลักษณะนี้อาจจะแก้ไขด้วยการช่วยผสมเกสรโดยใช้เกสรตัวผู้จากดอกทุเรียนพันธุ์อื่นๆ เช่น หมอนทอง ซึ่งติดผลง่ายกว่าพันธุ์ชะนี และผลไม่หลุดร่วงง่ายการช่วยผสมเกสรนี้จะทำให้รูปทรงของผลทุเรียนสมบูรณ์ไม่มีพูที่แฟบหรือมีก็น้อย
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147