รวมคำถามการปลูกมังคุดที่ชาวสวนอยากรู้ก่อนลงมือปลูก ตอนที่ 2

รวมคำถามการปลูกมังคุดที่ชาวสวนอยากรู้ก่อนลงมือปลูก
ตอน  1  2 

การให้น้ำมังคุดมีวิธีการอย่างไร?

วิธีการให้น้ำต้นมังคุดนั้น เดิมที่ชาวสวนใช้วิธีตักรด หากปลูกบนหลังร่อง หรือใช้วิธีสูบน้ำผ่านสายยางรด หากปลูกในพื้นที่ราบในเขตที่ราบหรือที่ดอนนั้นในระยะหลังเมื่อน้ำในคูคลองลดน้อยลงฝนตกน้อยลง ประกอบกับค่าแรงงานสูงขึ้น ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้น้ำแบบหัวปล่อยน้ำที่โคนต้นเรียกว่า มินิสปริงเกอร์ หรือที่เรียกกันในหมู่ชาวสวนว่า น้ำเหวี่ยง บ้าง น้ำต้น บ้าง วิธีการให้น้ำแบบนี้สะดอกมากขึ้นกว่าเดิม ใช้แรงงานน้อย แต่ต้องลงทุนสูงขึ้นถึงแม้จะไม่ประหยัดน้ำเท่าวิธีการให้น้ำแบบหยด แต่ก็สะดวกในการปฏิบัติงานและประหยัดกว่าวิธีอื่นๆ และยังสามารถควบคุมการให้น้ำได้ดีอีกด้วย
หัวปล่อยน้ำแบบมินิสปริงเกอร์ที่ใช้ในสวนมังคุด
หัวปล่อยน้ำแบบมินิสปริงเกอร์ที่ใช้ในสวนมังคุด
การให้น้ำแบบประหยัดนั้น ควรจะให้แต่น้อย แต่ให้บ่อยครั้ง เพื่อให้ดินบริเวณรอบๆ รากมังคุดชุ่มชื่นอยู่เสมอ และป้องกันไม่ให้น้ำส่วนเกินไหลไปทางหน้าดิน หรือไหลซึมลงไปในดินชั้นล่าง ซึ่งเป็นระดับที่ลึกกว่ารากมังคุด ควรมีบ่อหรือหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งอย่างเพียงพอ โดยมีการกะประมาณกันว่าพื้นที่ที่เป็นบ่อหรือสระควรมีสัก 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เช่น ที่ดิน 10 ไร่ ควรใช้เป็นสระน้ำสักประมาณ 200 ตารางวาเป็นต้น แต่ถ้ามีการใช้น้ำอย่างประหยัดพื้นที่เก็บน้ำก็ลดลงได้หรือในเขตที่มีฝนตกกระจายตลอดปี ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บน้ำไว้มากนัก

การเตรียมการให้น้ำมังคุดนั้น ควรเริ่มพร้อมกับการวางแผนผังสวน คือ ควรกำหนดพื้นที่ที่จะทำบ่อหรือสระเก็บน้ำให้อยู่ในตำแหน่งที่จะเก็บน้ำได้ดี (ต่ำ หรือ ลุ่มกว่าที่อื่น) และจ่ายน้ำไปยังที่ปลูกได้อย่างถั่วถึงและที่สำคัญคือต้องประหยัด (ใช้ท่อน้อย) สำหรับการวางท่อ ท่อใหญ่ควรผ่านกลางแปลงโดยให้อยู่ในตำแหน่งที่ซ่อมแซมได้สะดวก ควรมีก๊อกน้ำให้เพียงพอและควรเลือกท่อที่มีราคาประหยัดและทนทานมากที่สุด ในช่วงที่มังคุดจะออกดอกประมาณ 1 เดือน จะต้องลดปริมาณการให้น้ำกับมังคุดหรือที่ชาวสวน เรียกว่า งดน้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงกับไม่ให้เลย คือจะให้ในปริมาณที่จะทำให้ต้นเกิดการพักตัวเท่านั้น เพราะจะทำให้ต้นมังคุดออกดอกได้ดี

การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยอะไร? ให้มากน้อยเท่าใด? และให้ระยะไหนบ้าง?

ปุ๋ยที่ให้กับต้นมังคุดอาจแยกได้เป็น พวกใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรี เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์นอกจากจะให้ธาตุอาหารแก่มังคุดแล้วยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ช่วยปรับโครงสร้างของดิน และช่วยให้ธาตุอาหารบางอย่างเป็นประโยชน์ต่อมังคุดมากขึ้น เป็นต้น สำหรับการเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ควรเลือกปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอยู่แล้วภายในสวนเป็นอันดับแรก เช่น ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยหมัก หากจำเป็นต้องนำเข้าจากนอกสวนก็ควรเลือกประเภทที่หาง่ายราคาถูก และอยู่ใกล้สวนมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อความประหยัด เช่น ฟางข้าว แกลบ ขี้เลื่อย และปุ๋ยคอกต่างๆ เป็นต้น ปุ๋ยอินทรีย์นั้นควรให้แก่มังคุดอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าให้มากครั้งได้ก็ยิ่งดี ทั้งนี้ก็แล้วแต่เงินทุนและแรงงานที่มีอยู่ ซึ่งการให้แต่ละครั้งควรโรยที่รอบทรงพุ่มในปริมาณที่พอสมควร ระยะที่เหมาะสมกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ คือ หลังจากเก็บผลแล้วอาจใส่ในช่วงกลางของฤดูฝน และหลังจากติดผลแล้วอีกสัก 1-2 ครั้ง ก็ได้โดยทั่วไปหากดินอุดมสมบูรณ์ดี การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว

สำหรับปุ๋ยเคมีนั้นแม่จะเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารแก่มังคุดในปริมาณมากและมังคุดสามารถตอบสนองต่อปุ๋ยอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ปุ๋ยเคมีจะสลายตัวเร็วและอาจทำให้เกิดผลตกค้างอย่างอื่นๆ เช่น ดินมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ดินจับตัวเป็นก้อนและมีการระบายอากาศไม่ดี ดังนั้นจึงควรให้ปุ๋ยเคมีเพียงทดแทนธาตุอาหารในดิน ส่วนมี่มังคุดนำไปใช้เท่านั้นก็พอ ปกติชาวสวนจะให้ปุ๋ยเคมีปีละ 2 ครั้ง คือหลังจากเก็บผลผลิตแล้วโดยให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 และหลังจากมังคุดออกดอกก็จะให้ปุ๋ยสูตรที่มีโปรแตสเซียมสูง เข่น 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 เป็นต้น การให้ปุ๋ยจะใช้วิธีหว่านตามแนวรอบทรงพุ่ม

ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบก็เป็นวิธีการให้ปุ๋ยเพื่อให้ต้นมังคุดตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่การให้ปุ๋ยประเภทนี้ปุ๋ยก็จะสลายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้สิ้นเปลืองเงินทุน ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรงงานในการฉีดพ่น ค่าเชื้อเพลิง และค่าสึกหรอของเครื่องยนต์ แต่หากให้ไปพร้อมกับการฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชก็จะสิ้นเปลืองน้องลง สำหรับการใช้ฮอร์โมนหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชนั้น ควรพิจารณาให้รอบคอบว่ามีประโยชน์เพียงใด และก่อให้เกิดผลเสียต่อต้นมังคุดด้วยหรือไม่

การกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมังคุด มีความจำเป็นแค่ไหน? และควรปลูกพืชคลุมดินด้วยหรือไม่?

ในระยะที่ต้นมังคุดเล็กอยู่ คือในช่วง 4-5 ปีแรกนั้น หากมีการปลูกพืชแซมก็จำเป็นต้องช่วยกำจัดวัชพืชให้มังคุดด้วย เพราะมังคุดโตช้าและนิยมปลูกห่างจึงทำให้มีพื้นที่ว่างมาก วัชพืชจึงเจริญได้อย่างรวดเร็วถ้ามีแรงงานและเครื่องจักรพอ ควรใช้วิธีการตัดหรือพรวนแกลบ แล้วปล่อยให้เศษวัชพืชเหล่านั้นเป็นปุ๋ยพืชสดในแปลงปลูกต่อไปหากมีความจำเป็นจริงๆ จึงจะใช้สารเคมีกำจัด เมื่อต้นมังคุดมีทรงพุ่มแผ่กว้างแล้ว ปัญหาเรื่องวัชพืชก็จะลดน้อยลง เพราะต้นมังคุดมีทรงพุ่มทึบทำให้วัชพืชไม่สามารถขึ้นภายใต้ทรงพุ่มได้ แต่หากยังมีวัชพืชขึ้นก็จะใช้วิธีถากหรือตัดเพียง 1-2 ครั้ง วัชพืชก็จะหมดไป นอกจากนี้การคลุ่มโคนต้น ด้วยเศษพืชหรือฟางข้าว จะช่วยป้องกันวัชพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย

หากไม่มีการปลูกพืชแซมระหว่างต้นมังคุด ขอแนะนำให้ปลูกพืชคลุมดินด้วย เพราะนอกจากจะช่วยคลุมวัชพืชแล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและป้องกันการชะหน้าดิน เมื่อฝนตกหนักด้วยพืชคลุมดินที่นิยมปลูกกันก็คือพืชตระกูลถั่ว เช่น เซนโตรีมา เพอราเรีย และคาโลโปโกเนียน เป็นต้น ซึ่งอาจจะติดต่อของเมล็ดพันธุ์ได้จากศูนย์พัฒนาที่ดินใกล้บ้านท่าน

โรคสำคัญที่พบในมังคุดมีอะไรบ้าง? และมีวิธีป้องกันกำจัดอย่างไร?

ยังไม่เคยพบว่ามังคุดมีโรคระบาดร้ายแรงดังเช่นผลไม้อื่นเลยโรคที่พบบ่อยไม่ทำความเสียหายกับต้นมังคุดมากนักคือ โรคใบจุดและโรคแอนแทรคโนส ซื่งจะทำให้ใบแห้งตายเป็นจุดๆ มักเกิดเมื่อมีฝนตกชุกโดยโรคใบจุดนั้นใบของต้นที่เป็นโรคจะเกิดจุดสีน้ำตาลแห้ง บริเวณกลางแผลจะแห้งเป็นสีเทาและมีสีเขม่าดำเป็นจุดๆ ประปราย ถ้าอาการลุกลามติดต่อกันใบจะแห้งทั้งใบ สารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคนี้ได้แก่ สารประกอบทองแดง เช่น คูปราวิท หรือ แคปแทน เช่น ออร์โธไซด์ หรือ แมนโคเซ็บ เช่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือ เบนโนมิล เช่น เบนเลท เป็นต้น ส่วนโรคแอนแทรคโนส นั้นมักเกิดในระยะใบอ่อน โดยจะเกิดจุดสีน้ำตาลบนใบต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น พบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนป้องกันกำจัดโดยใช้สารเบนโนมิล หรือแคปแทน หรือ แมนโคเซ็บ ก็ได้ ส่วนการป้องกันโรคโดยวิธีอื่นนั้น ในช่วงฤดูฝนควรตัดแต่งกิ่งที่รกรุงรังออกบ้าง สำหรับส่วนที่เป็นโรคแนะนำให้นำไปเผาไฟ ก็จะช่วยลดการระบาดของโรคได้
วิธีป้องกันโรคใบจุดในมังคุด
โรคใบจุดในมังคุด
วิธีป้องกันโรคแอนแทรคโนสในมังคุด
โรคแอนแทรคโนสในมังคุด

แมลงศัตรูสำคัญที่พบในมังคุดมีอะไรบ้าง?

แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของมังคุดเท่าที่พบมี 3 ชนิด ด้วยกันคือ หนอนชอนใบ  หนอนกินใบอ่อน และ เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบมักเข้าทำลายในช่วงที่มังคุดแตกใบอ่อน เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งมาวางไข่ไว้บนใบอ่อนที่พึ่งเริ่มแตกออกมา ตัวหนอนจะกัดกินอยู่ใต้ใบ ทำให้ใบอ่อนบิดเบี้ยวไม่เจริญเติบโตส่วนหนอนกินใบอ่อนนั้นจะกัดกินใบอ่อนให้เว้าแหว่ง หนอนทั้งสองชนิดนี้หากมีการระบาดมาก มังคุดอาจไม่ออกดอก การป้องกันกำจัดมักใช้วิธีการฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงประเภทคาร์บาริล เช่น เซผวิน หรือประเภทโมโนโครโตฟอส เช่น อโซดริน นูวาเรน ส่วนเพลี้ยไฟนั้น จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบอ่อน ทำให้ผิวผลหยาบกร้าน และมียางไหล การป้องกันกำจัดทำได้โดยการใช้สารฆ่าแมลงประเภทโมโนโครโตฟอส หรือ คาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ คาแมง เป็นต้น ปกติแมลงศัตรูมังคุดเหล่านี้จะมีศัตรูธรรมชาติคอยควบคุมอยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่ระบาดทำการเสียหายมากนัก ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัดควรปล่อยให้มีการกำจัดโดยธรรมชาติจะดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีไรแดง ซึ่งไม่จัดเป็นแมลง แต่ก็ทำความเสียหายได้ไม่ใช่น้อย โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อนทำให้ผิวผลกร้าน และถ้ามีการระบาดมากจะทำให้ผลลีบ ไรแดงมักระบาดในหน้าหนาวซึ่งเป็นช่วงที่มังคุดติดผลอ่อน อาจใช้วิธีป้องกันกำจัดโดยการพ่นด้วยกำมะถันผงชนิดละลายน้ำได้ หรือสารไดโคโพล เช่น เคลแทน ไดโคลหรือสารโปรฟาไลท์ เช่น โอไมท์ เป็นต้น

ตามธรรมชาติแล้ว มังคุดมีความต้านทานต่อโรคและแมลงเนื่องจากภายใต้ต้นมียางมาก จึงช่วยแพร่กระจายการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ได้และทำให้แมลงไม่ชอบกัดกินอีกด้วย

มีสาเหตุอื่นหรือไม่? ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับมังคุด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับมังคุด พอสรุปได้ดังนี้

1. การขาดน้ำ เมื่อมังคุดได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะเกิดอาการใบแห้งและร่วง หากมีผลอ่อนผลมักจะร่วงด้วย แต่ถ้าผลไม่ร่วงก็จะไม่เติบโตและลีบเล็ก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและควรฉีดพ่นน้ำที่ทรงพุ่มบริเวณโดยรอบด้วย เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ ซึ่งจะช่วยลดการคายน้ำของมังคุดได้

2. การเกิดผลแตก และผลยุบ เนื่องจากการเก็บเกี่ยวและการขนส่งที่ไม่ดีพอ จะต้องปรับปรุงการเก็บเกี่ยวและการขนส่งโดยการเก็บลงตะกร้าหูเหล็ก หรือ ลังหูเหล็ก หรืออาจใช้ตะกร้ามังคุดที่มีฝาปิดก่อนการขนส่ง ตลอดจนต้องใช้ความระวังมากขึ้น

3.การเกิดเนื้อแก้ว เนื้อแก้วคือการที่เนื้อมังคุดเป็นสีใสบางส่วน หรือทั้งหมดมีลักษณะกรอบ แข็ง ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าอาการเนื้อแก้วนี้เกิดจากสาเหตุอะไร

4. อาการยางไหล เท่าที่พบมี 2 แบบ คือยางไหลภายนอก จะมียางไหลออกมาเกาะเป็นก้อนคล้ายหยดน้ำอยู่ที่ผิวนอกของผลมังคุดเชื่อว่าเกิดจากกาลดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยไฟ หรือจากการวางไข่ของแมลงวันทอง อาการยางไหลแบบนี้ไม่มีผลต่อเนื้อภายใน อีกแบบคือยางไหลที่เกิดจากภายในผลแบบนี้จะเกิดยางที่เนื้อผลหรือตรงกลางระหว่างกลีบของเนื้อผลทำให้รับประทานไม่ได้

5. อาการผลแตกร้าว เนื่องจากในช่วงที่ผลเจริญเติบโตได้รับน้ำน้อย เมื่อได้รับน้ำฝนในปริมาณมากทันทีทันใด ทำให้เปลือกนอกของมังคุดขยายตัวตามการขยายตัวของเปลือกและเนื้อภายในไม่ทันเปลือกนอกจึงแตก วิธีแก้ควรให้น้ำกับมังคุดอย่างพอเพียงในช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโต

ตารางการดูแลรักษามังคุดแบบง่ายๆ

ตารางที่ทำให้ต่อไปนี้ดัดแปลงมาจากต้นแบบของสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดระยอง
เดือน
การเปลี่ยนแปลง
การดูแลรักษา
ม.ค.
ออกดอกและติดผล
หากมีเพลี้ยไฟและไรแดงระบาดให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัด
ก.พ.
ผลเจริญเติบโต
1-15 ก.พ. ให้ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 บำรุงผล
มี.ค.
-
-
เม.ย.
-
-
พ.ค.
ผลแก่
เก็บเกี่ยผล
มิ.ย.
การเจริญเติบโตทางต้นและใบ
ตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยคอกกับปุ๋ยเคมี 15-15-15
ก.ค.
-
-
ส.ค.
-
-
ก.ย.
-
ให้ปุ๋ยครั้งที่ 3 โดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
ต.ค.
-
-
พ.ย.
-
-
ธ.ค.
-
-
ตารางนี้ใช้สำหรับมังคุดที่ปลูกในภาคตะวันออก สำหรับมังคุดที่ปลูกในภาคอื่นๆ ก็ดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยดูจากตารางนี้เป็นตัวอย่างได้ และในตารางนี้ไม่ได้ระบุเรืองของการดูแลรักษาบางอย่างไว้ เช่น การกำจัดวัชพืช และการให้น้ำ เพราะต้องทำเป็นประจำและผู้ปลูกสามารถตัดสินใจเองได้

มังคุดเริ่มออกดอกให้ผลเมื่ออายุเท่าใด? และการให้ผลมากน้อยแค่ไหน?

โดยทั่วไปต้นมังคุดที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะเริ่มออกดอกเมื่อต้นมีอายุ 8 ปีขึ้นไป ถ้าสังเกตจากต้น จะพบว่ามีการแตกกิ่งข้าง 16 ชั้น รวมเป็น 32 กิ่ง (มังคุดจะแตกกิ่งข้างปีละ 2 ชั้น ๆ ละ 2 กิ่ง) แม้ว่าต้นมังคุดจะโตช้าแต่หลังจากเริ่มให้ผลแล้วก็จะให้เพิ่มผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มังคุดจะออกดอกที่บริเวณปลายยอดของกิ่งเท่านั้นถ้ายิ่งต้นโตมีกิ่งมากก็จะยิ่งให้ดอกและผลมากด้วย โดยเฉลี่ยแล้วผลมังคุดที่ได้ในแต่ละช่วงอายุจะเป็นดังนี้
ผลผลิต
อายุ 8-10ปี
อายุ 10-15ปี
อายุ 15 ปีขึ้นไป
ผลผลิตต่อตัน
10-50 กก.
50-80 กก.
80 กก.ขึ้นไป
ผลผลิตต่อไร่
160-800 กก.
800-1080 กก.
1,280 กก.ขึ้นไป
(กรณีที่ปลูกระยะ 10 x 10 เมตร)
จากการสำรวจของการส่งเสริมการเกษตรในปี พ.ศ. 2530/31 พบว่าพื้นที่ปลูกมังคุดเฉพาะที่ให้ผลแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 63411 ไร่ ในจำนวนนี้ให้ผลผลิต 67432 ตัน ดังนั้น โดยเฉลี่ยมังคุดจะให้ผลผลิตไร่ละ 1.063 ตัน หรือ 1063 กิโลกรัม แต่หากจะคิดเฉลี่ยผลผลิตโดยรวมต้นที่ให้ผลแล้วต้นที่ไม่ให้ผลเข้าด้วยกัน ก็มีผลการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า มังคุดจะให้ผลผลิต 571 กิโลกรัม/ไร่ โดยในภาคตะวันออกที่มีการดูแลรักษาดีกว่า จะให้ผลผลิต 962.9 กิโลกรัม/ไร่ และในภาคใต้ให้ผลผลิต 403 กิโลกรัม/ไร่

เมื่อมังคุดออกดอกติดผลแล้ว ควรดูแลรักษาผลมังคุดอย่าไร?

การดูแลให้มังคุดมีผลขนาดใหญ่ ผลสวย ไม่มีตำหนินั้น ทำได้โดยหลังจากดอกบานแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยคอกรอบทรงพุ่มประมาณ 1 เข่งพลาสติก (หากมีต้นขนาดใหญ่ ก็ใส่ให้มากกว่าสัดส่วน) และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 ก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูว่ามีเพลี้ยไฟและไรแดงระบาดหรือไม่ หากเห็นว่าการระบาดมากขึ้น ก็ใช้สารเคมีฉีดพ่น มังคุดจะใช้เวลาหลังจากดอกบานถึงเก็บผลได้ประมาณ 3 เดือน ในระยะนี้จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมังคุดติดผลมากเกินไปและติดในลักษณะเป็นช่อผล หลังจากติดผลแล้วควรปลิดเอาดอกออกบ้างโดยเหลือไว้เพียงผลเดียว เพื่อให้ผลที่เหลือไว้มีขนาดใหญ่และขายได้ราคา ประมาณ 2-3 อาทิตย์ก่อนเก็บผลควรตรวจดูว่ามีแมลงเช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หรือมดระบาดมากหรือไม่หากมีมากควรใช้สารเคมีจำพวกคาร์บาริล เช่น เซฟวิน หรือ พวกคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ ฉีดพ่น จะช่วยทำให้ผลสะอาดไม่มีตำหนิและขายง่าย

การเก็บเกี่ยวผลมังคุดที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?

หลังจากผ่านช่วงดอกบานไปแล้วประมาณ 3 เดือน ก็จะเริ่มเก็บผลมังคุดได้ แต่เนื่องจากมังคุดออกดอกไม่พร้อมกัน คือระยะตั้งแต่ออกดอกแรก จนถึงดอกสุดท้ายในแต่ละต้นจะกินเวลาประมาณ 1 เดือน ผลมังคุดจึงสุกไม่พร้อมกันทั้งต้น ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการเก็บผลประมาณ 1 เดือนด้วย ในการเก็บมังคุดนั้นจะดูที่การเปลี่ยนสีของเปลือกมังคุดที่สุกสีเปลือกมังคุดที่สุกสีของเปลือกจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีม่วงแดง จนถึงม่วงดำ จะใช้เวลาเปลี่ยนแปลงประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นผลจะร่วงจากต้นดังนั้นการเก็บผลจึงเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ระยะที่สีผิวเปลือกเกิดจุดแต้มหรือประสีม่วงแดงขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งชาวสวนเรียกกันว่าระยะที่เกิด "สายเลือด" หลังจากการเก็บผลมาแล้วสีผิวจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำได้เหมือนกับผลที่อยู่บนต้น การเก็บผลมังคุดชาวสวนมักจะเก็บทุกวันหรือวันเว้นวัน จะไม่ปล่อยทิ้งช่วงไว้นาน เพราะจะทำให้มีผลสุกงอมมาก ซึ่งผลที่สุกงอมจะเน่าเสียเร็วทำให้ไม่สามารถส่งไปขายตลาดที่ไกลๆ ได้

แต่เดิมชาวสวนเชื่อกันว่ามังคุดเป็นผลไม้เปลือกแข็ง จะเก็บแรงไปบ้างก็ไม่เสียหายอะไรนัก แต่ภายหลังพบว่ามังคุดที่สอยหล่นจากต้นมากระทบกับพื้นนั้นมักจะช้ำ ด้านที่กระทบกับพื้นนั้นจะมียางไหลที่ภายในผลและเกิดอาการเปลือกแข็งตามมา ทำให้ผู้ซื้อไม่นิยมเพราะได้ผลเสียตามมามาก ดังนั้นในการเก็บผลจึงต้องระวังไม่ให้ผลเสียตามมามาก ดังนั้นในการเก็บผลมังคุดจึงต้องระวังไม่ให้ผลช้ำ วิธีเก็บมังคุดนั้น เดิมมักจะใช้วิธีสอยด้วยเครื่องมือต่างๆ ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ใช้จำปา ใช้ไม่ง่าม ใช้ตะขอกระตุก เป็นต้น แต่เครื่องมือเหล่านั้นมักทำให้ผลมังคุดช้ำ ดังนั้นจึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือเก็บมังคุดแบบอื่นๆ ขึ้นมาซึ่งจะไม่ทำให้ผลมังคุดร่วงสู่พื้น เช่นเครื่องมือแบบถึงกาแฟมีเขี้ยว หรือ เครื่องมือเก็บมังคุดแบบตะกร้อที่มีฟันรอบตัว ซึ่งปัจจุบันชาวสวนเริ่มนำมาใช้กันมากขึ้น แต่หากยังใช้วิธีเก็บผลด้วยเครื่องมืออย่างเดิมอยู่ ควรจะคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือเศษพืชให้หนา จะช่วยลดการช้ำของผลที่ตกกระทบพื้นได้บ้าง
ต้นมังคุดอายุ 5ปี จากการเพราะเมล็ด
ตะกร้อสอยมังคุด
ต้นมังคุดอายุ 10ปี จากการเพราะเมล็ด
ตะกร้อสอยมังคุด บิด อวน
ต้นมังคุดอายุ 5ปี จากการเพราะเมล็ด
ที่สอยมังคุดพลาสติก
ต้นมังคุดอายุ 10ปี จากการเพราะเมล็ด
ที่สอยมังคุดสเตนเลส

หลังจากการเก็บผลมังคุดจากต้นแล้วก่อนส่งตลาด ควรทำอย่างไรจึงขายได้ราคาดี

หลักในการจัดการผลมังคุดภายหลังจากที่เก็บผลมังคุดจากต้นแล้ว มีดังนี้
1. ทุกครั้งที่จับหรือเคลื่อนย้ายผลมังคุดต้องระวังไม่ให้ช้ำและไม่วางซ้อนทับกันมากเกินไป
2. เมื่อเก็บผลมังคุดมาจากต้นแล้วก่อนอื่นจะต้องนำมาแยกผลที่แก่-อ่อนออกจากกันตามความเข้มของสีม่วงแดงที่เปลือก อาจแยกได้เป็น 3 พวกคือ พวกที่ยังมีสีเขียวที่ผิวผล พวกที่ผิวผลมีสีแดงอ่อนจนถึงน้ำตาลแดง และพวกที่ผิวผลมีสีม่วงแดงจนถึงม่วงดำ ซึ่งสองพวกแรกนั้นเหมาะสำหรับส่งตลาดที่อยู่ไหล ส่วนพวกสุกท้ายควรเก็บไว้ส่งตลาดท้องถิ่นหรือตลาดที่อยู่ไม่ไกลนัก
3. หลังจากแยกมังคุดเป็น 3 พวก ตามความแก่ - อ่อนของผลแล้ว ในแต่ละพวกยังจะต้องนำมาแยกตามขนาดของผลออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ ขนาดเล็กประมาณ 16-25 ผลต่อกิโลกรัมและขนาดกลางประมาณ 10-15 ผลต่อกิโลกรัม และขนาดใหญ่ประมาณ 7-9 ผลต่อกิโลกรัม ซึ่งการแยกขนาดนี้จะทำให้การขายได้ราคาดีกว่าการขายคละกันในกรณีที่จะนำส่งพ่อค้าส่งออกก็จะทำได้ง่ายขึ้น
4. ในระหว่างที่ทำการคัดผล ถ้าพบว่าผลมีตำหนิ ช้ำ มีแมลงเช่นเพลี้ย มด ติดอยู่หรือเน่าเสียควรคัดแยกไว้ต่างหากไม่นำมารวมกับพวกที่จะส่งตลาด แต่อาจขายให้กับคนที่นะซื้อไปเพาะเมล็ดก็ได้
5. ภาชนะที่ใช้ใส่ผลมังคุด ควรใช้เข่งพลาสติก ขนาดเล็ก หรือตะกร้าพลาสติก ด้านในควรใช้วัสดุลอง เช่นกระดาษ หรือกระสอบปุ๋ยกรุ เพื่อกันช้ำลดการเสียดสี ในการบรรจุไม่ควรบรรจุผลมังคุดเกิน 20 กิโลกรัม เพราะจะทำให้ผลซ้อนทับกันมากเกินไป ชาวสวนนิยมใช้ใส่ผลมังคุดเพื่อส่งตลาดมีทั้ง เข่งพลาสติก  ลังพลาสติก หรือ ลังหูเหล็ก และตะกร้าผลไม้ สำหรับภาชนะที่บรรจุมังคุดที่ดีควรมีสมบัติ 3 ประการ ดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก ต้องมีขนาดกะทัดรัด นำหนักไม่มาก สะดวกต่อการขนส่ง ข้อสอง ต้องป้องกันการกระทบกระแทกและรับน้ำหนักได้ดี และข้อสาม คือ มีราคาถูกและมีความทนทาน
6. เมื่อเก็บผลมังคุดจากต้นแล้ว ควรวางผลมังคุดไว้ในที่ร่มซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้ดี และเมื่อทำการบรรจุเสร็จควรรีบส่งตลาดทันทีหากบรรทุกบนรถ ควรมีหลังคาและไม่ควรจอดรถในที่แจ้ง ควรจอดใต้ร่มเงา
เมื่อเก็บมังคุดมาแล้วควรคัดขนาดและคัดคุณภาพความแก่-อ่อน
เมื่อเก็บมังคุดมาแล้วควรคัดขนาดและคัดคุณภาพความแก่-อ่อน
แยกขนาดและคุณภาพมังคุดเสร็จแล้วจะบรรจุในตะกร้าพลาสติกเพื่อจำหน่ายต่อไป
เมื่อแยกขนาดและคุณภาพมังคุดเสร็จแล้วจะบรรจุในตะกร้าพลาสติกเพื่อจำหน่ายต่อไป

ตลาดรับซื้อมังคุุดมีที่ไหนบ้าง

ตลาดมังคุดภายในประเทศ นั้น แบ่งออกได้ดังนี้
1 ตลาดส่งในระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย
1.1 ตัวแทนหรือผู้รวบรวมสินค้าในท้องถิ่น จะรวบรวมส่งพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดตลาดกรุงเทพ พ่อค้าเร่จากต่างจังหวัดหรือผู้ส่งออก
1.2 ตลาดกลางขายส่งในจังหวัด จะส่งให้ตลาดกลางกรุงเทพ ตลาดในระดับภาคหรือผู้ส่งออก
1.3 พ่อค้าเร่จากต่างจังหวัด มักจะซื้อจากชาวสวนหรือตัวแทนแล้วนำไปขายให้ผู้บริโภค
2. ตลาดต่างจังหวัด จะรับซื้อมาจากตลาดกรุงเทพ ตลาดกลางขายส่งในจังหวัดที่ปลูกมังคุดหรือจากพ่อค้าเร่ แล้วส่งขายแก่พ่อค้าขายปลีก
3. ตลาดกรุงเทพ จะรับซื้อจากตลาดกลางขายส่งในจังหวัดที่ปลูกมังคุด หรือจากเกษตรกร แล้วขายต่อให้กับพ่อค้าขายปลีก ตลาดต่างจังหวัดหรือผู้ส่งออกต่อไป
นอกจากนี้ยังมีผู้ซื้ออีก 2 ประเภท ที่จะติดกับชาวสวนโดยตรงหรือกับตลาดในท้องถิ่น คือผู้ส่งออกและผู้ซื้อผลไปเพาะเมล็ด ผู้ซื้อทั้งสองประเภทนี้จะเลือกซื้อผลมังคุดที่ดีที่สุดและเลวที่สุดเท่านั้น
ตลาดรับซื้อมังคุดภายในประเทศ
ในด้านชั้นก็ขึ้นอยู่ว่าขั้นตอนการขายจากชาวสวนถึงผู้บริโภคมีหลายขั้นตอนหรือไม่ ถ้ามีน้อยชั้นชาวสวนก็จะขายได้ราคาสูงและผู้บริโภคจะซื้อได้ราคาถูก แต่ถ้ามีหลายขั้นตอนราคาก็จะตรงกันข้ามตลาดที่ช่วยให้ราคาผลมังคุดสูงขึ้นในระยะหลังนี้คือตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกจะรับซื้อผลมังคุดที่มีคุณภาพดีจากชาวสวนในราคาที่สูงกว่าปกติ

การลงทุนทำสวนมังคุดใช้เงินมากน้อยแค่ไหน? และผลตอบแทนจะคุ้มทุนหรือไม่?

ได้มีการประเมินต้นทุนการผลิตมังคุดโดยกรมการค้าภายใน พอสรุปได้ว่าหากปลูกมังคุด 16ตัน/ไร่ ในเวลา 3 ปี จะต้องใช้เงินลงทุน 39,352 บาท/ไร่ แต่หากปลูก 20/ไร่ ในเวลา 3 ปี จะต้องใช้เงินลงทุน 46,880 บาท/ไร่ ซึ่งจะแยกรายละเอียดให้เห็นได้ดังนี้
เงินลงทุน
ปลูก16 ตัน/ไร่
ปลูก 20 ตัน/ไร่
เงินลงทุนปีที่ 1
2,512
3,410
เงินลงทุนปีที่ 2-6 ปีละ
1,880
2,280
เงินลงทุนปีที่ 7-13 ปีละ
3,920
4,620
นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้เปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกมังคุดทั่วทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกโดยเฉลี่ยทุกอายุ พบว่าต้นทุนต่อปีโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 4,430 บาท/ไร่ โดยการลงทุนในภาคใต้จะต่ำกว่าภาคตะวันออกประมาณ 2,500 บาท/ไร่ แต่พบว่ามังคุดที่ปลูกในภาคตะวันออกให้ผลผลิตสูงกว่าทางภาคใต้ประมาณ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อคิดเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัมของผลมังคุดแล้ว ในภาคตะวันออกจะใช้เพียง 6.42 บาทต่อมังคุด 1กิโลกรัม ขณะที่ภาคใต้ใช้ถึง 9.01 บาท/มังคุด 1 กิโลกรัม จากการคิดกำไรที่จะได้รับต่อพื้นที่ 1 ไร่โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ชาวสวนภาคตะวันออกจะได้กำไร 2,478 บาท (ขายในกิโลกรัมละ 9บาท) ในขณะที่ภาคใต้ต่ำกว่าคือเพียง 398 บาท (ขายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท) ทังนี้เพราะชาวสวนมังคุดในภาคตะวันออกใช้เทคนิคการผลิตที่ก้าวหน้าและอาศัยหลักวิชาการมากกว่า ถ้าสังเกตจากตัวเลขที่แสดงราคาต้นทุนและกำไรของสำนักงานเศรษฐกิจนี้ จะพลว่ามีการประเมินผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ คือ ในภาคตะวันออกเพียง 962 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งเป็นการคิดค่าเฉลี่ยในช่วง 1-15 ปีของการปลูก แต่หลังจากนี้ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำไรจึงควรจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยชาวสวนมังคุดภาคตะวันออกผู้มีประสบการณ์บอกว่า การทำสวนมังคุดนั้นจะคืนทุนได้ในปีที่ 12 หลังจากนั้นจะได้กำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้อื่นๆ ก็จะเห็นได้ว่าทุนคืนช้ากว่าแต่ในระยะยาวแล้วมั่นคงกว่า

มีเทคนิคพิเศษอะไรหรือไม่ที่จะทำให้การทำสวนมังคุดแล้วกำไรมากๆ

ทำให้ได้กำไรมากๆ จะหมายถึงทำให้ได้ผลผลิตที่สูงและต้นมังคุดมีความแข็งแรง สามารถเก็บผลได้นานหลายปี การทำให้ได้กำไรมากนี้ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะเป็นการให้ได้กำไรมากโดยเร็วกว่าการอยากรวยเร็ว ซึ่งก็มักจะใช้วิธีการบังคับมังคุดออกดอกออกให้ผลผลิตไปจากธรรมชาติ เข่น ออกดอกมากเกินไป หรือออกดอกนอกฤดูกาลปกติ เป็นต้น เปรียบเสมือนกับการฆ่าห่านที่ไข่เป็นสีทองเพราะอยากได้ไข่ในท้องห่านโดยเร็ว จึงไม่ขอตอบคำถามในแนวทางนี้

ขอกลับมาที่การทำกำไรมากๆ โดยให้ผลผลิตสูง และให้ผลผลิตนานๆ ก่อนอื่นขอย้ำเรื่องผลผลิตสูงเสียก่อนว่าไม่ใช้ให้ผลดกเกินกว่าธรรมชาติ แต่ให้ผลดกพอประมาณ โดยที่ต้นสามารถเลี้ยงผลได้และให้ผลดกได้สม่ำเสมอทุกปี รวมทั้งผลผลมังคุดที่ได้จะต้องมีขนาดใหญ่พอเหมาะ และไม่มีตำหนิเสียหายด้วย หมายความว่าจะต้องขายได้ราคาดีด้วยนั่นเอง การทำแบบนี้ทำให้ได้ผลตอบแทน (ตัวเงิน) ที่สูง แม้ว่าจะมีผลมังคุดออกขายไม่มาก พูดง่ายๆ ก็คือขายได้ราคานั่นเอง เทคนิควิธีการที่จะทำให้ได้กำไรมากๆ ดังที่ตอบไว้ข้างต้นพอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. ต้องวางแผนผังสวนและแผนการดูแลรักษาให้ดี ซึ่งก็จะช่วยทำให้การดูแลรักษาทำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและประหยัดเงินลงทุน นอกจากนี้ควรมีแหล่งน้ำสำรองเพียงพอและถ้ามีการปลูกพืชแซมด้วย ก็จะยิ่งทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
2. ต้องถือหลักว่าลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด โดยดูจากเปอร์เซ็นต์กำไรต่อเงินลงทุน ตัวอย่างเช่น ถ้าลงทุน 30,000 บาท/ไร่ ได้กำไร 3,000 บาท เท่ากับกำไร 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าลงทุน 40,000 บาท/ไร่ ได้กำไร 3,500 บาท แบบนี้ดูจากตัวเงินที่ได้กำไรแล้วจะเห็นว่าสูงกว่า แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะได้เพียง 8.15 เปอร์เซ็นต์ แบบนี้ต้องทบทวนดูให้ดี การลงทุนแค่ 30,000 บาท/ไร่ อาจจะดีกว่าก็ได้
3. ต้องบำรุงต้นให้แข็งแรงสมบูรณ์ ต้นมังคุดที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนนั้น นอกจากจะเก็บผลได้มากและให้ผลสม่ำเสมอทุกปีแล้ว ยังมีอายุยืนสามารถเก็บผลได้นานหลายสิบปีด้วยการทำต้นให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเสมอไป การตัดแต่งกิ่งแห้งออกไป การให้ปุ๋ยและน้ำอย่างเหมาะสมรวมทั้งการไม่ปล่อยให้ติดผลดกจนเกินไป ตลอดจนการรักษาให้เกิดสมดุลของธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืชของมังคุด ล้วนเป็นวิธีการที่ทำให้ต้นมังคุดแข็งแรงสมบูรณ์ได้ทั้งสิ้น
4. การจัดการใช้แรงงานคนและเครื่องมือเครื่องจักรที่คุ้มค่าที่สุดการใช้แรงงานคนให้เหมาะสมกับความสามารถและให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประหยัดค่าจ้างแรงงานได้ อีกทั้งมีเครื่องมือเครื่องจักรที่เหมาะสมก็จะลดการจ้างแรงงานไปได้มาก เครื่องมือเครื่องจักรที่จะซื้อมาใช้แต่ละชิ้นควรตรวจสอบก่อนซื้อว่าใช้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ เช่น เปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคนหรือเปรียบเทียบกับเครื่องจักรชนิดหรือยี่ห้ออื่น ทั้งในด้านความบ่อยครั้งในการใช้งานความทนทานและผลงานที่ได้ การใช้เครื่องจักรจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นแต่ถ้าซื้อมาเพื่อใช้ปีละ 1 ครั้ง ก็ไม่คุ้มค่า
5. ขายผลมังคุดให้ได้ราคาดีที่สุด จะต้องเตรียมผลมังคุดให้มีคุณภาพดี  และเลือกขายให้กับตลาดที่รับซื้อราคาสูง ปัจจุบันผู้ส่งออกให้ราคาดีกว่าตลาดท้องถิ่น 2-3 เท่า แต่จะรับซื้อผลมังคุดที่มีคุณภาพตามที่กำหนดเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากจะขายให้กับผู้ส่งออก ก็จะต้องมีการดูแลรักษาและเก็บผลให้ได้ผลผลิตมังคุดที่มีคุณภาพตามที่เขากำหนดไว้

เคยได้ยินมาว่าเขามีการทำมังคุดคุณภาพ เขาทำกันอย่างไร?และทำเพื่ออะไร?

ท่านเคยซื้อผลมังคุดมา 1 กิโลกรัม แล้วรับประทานได้เพียงครึ่งกิโลกรัมหรือไม่หลายคนคงตอบว่าเคยถ้าเป็นอย่างนี้ท่านจะเข็ดไปอีกนาน หากท่านเป็นชาวสวนผู้ปลูกมังคุดท่านคงไม่อยากให้คนซื้อ "เข็ด" ไม่กล้าซื้อมังคุดอีก เพราะถ้าคนซื้อไม่ซื้อท่านก็จะขายไม่ได้ ราคาก็จะตก ถามว่าแล้วมังคุดเสียมากๆ นี่เกิดจากอะไรละ ก็ตอบได้ว่าเป็นเพราะไม่มี "มังคุดไม่มีคุณภาพ" แล้วเจ้าตัวคุณภาพนี้ถ้ามีแล้วคนซื้อมังคุดจะกินได้หมด ทุกลูกทั้ง 1 กิโลกรัม ที่ซื้อมาเลยหรือไม่ ตอบว่า "แน่นอน" ถ้าจะเสียสักลูกสองลูก คนซื้อเขาคงไม่ถือ แถมถ้ามังคุดที่ขายมีคุณภาพดีด้วยแล้วนอกจากคนซื้อกินได้ทั้งหมดแล้วยังอยากจะซื้อด้วย เพราะลูกใหญ่ รสดีเปลือกบาง เนื้อมาก มันดีไปซะทั้งนั้นอย่างนี้ราคาสูงไปอีกกิโลกรัมละ 5 บาท ก็ยังจะซื้อ เพราะว่าคุ้มค่ากว่า นี่แหละครับ แล้วท่านไม่คิดทำให้คุณภาพมังคุดของท่านบ้างหรือครับ

ถ้าท่านต้องการให้มังคุดของท่านมีคุณภาพที่ดี อยากจะแนะนำให้ลองทำตามดูดังนี้
1. เตรียมการเก็บผลได้แนะนำไปเป็นส่วนใหญ่แล้วในคำตอบข้อด้านบน ในที่นี้ท่านจะขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยคือ ในการบำรุงต้นหลังจากเก็บผลไปจนถึงช่วงที่มังคุดออกดอกในปีต่อไปนั้น ไม่ควรเร่งปุ๋ยไนโตรเจนมากจนเกินไป เพราะอาจเกิดการ "เฝือใบ" ได้ แต่สิ่งที่จำเป็นคือต้องดูแลรักษาให้ใบที่มีอยู่สมบูรณ์ไม่ขาดวิ่น หรือแห้งตาย เพราะใบจะเป็นแหล่งสร้างอาหารที่สำคัญของมังคุด
2. การจัดการเมื่อเก็บผลและหลังจากเก็บผลจากต้นแล้ว วิธีการเก็บผลและการจัดการหลังเก็บผลได้อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดแล้วในคำตอบด้านบน สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมก็คือ หลีกเลี่ยงการเก็บผลขณะที่ฝนตกหรือแดดร้อนจัด พยายามแยกผลเสียหรือผลที่มีตำหนิออกจากผลดีทันทีที่พบ การคัดสีแยกความแก่และการคัดขนาดนั้น ต้องไม่มีเข้าข้างตัวเอง ในขณะเก็บเกี่ยวหากมีผลร่างมากกระทบพื้นอย่างแรงต้องแยกไปรวมกับพวกที่มีตำหนิและหลังจากการคัดขนาดแล้ว ควรจะนำส่งตลาดทันทีไม่ควรเก็บไว้ค้างคืนหรือนานเกินไป

การนำผลมังคุดไปขายให้กับพ่อค้าส่งออก ควรปฏิบัติอย่างไร?

พ่อค้าส่งออกมังคุด มีกฏเกณฑ์การรับซื้อมังคุดที่แตกต่างไปจากตลาดภายในประเทศ คือ จะเลือกซื้อมังคุดที่มีคุณภาพที่เขาต้องการ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ
1. จะรับซื้อผลมังคุดที่มีขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ มีน้ำหนักผลละ 70-100 กรัม หรือประมาณ 10-15 ผลต่อกิโลกรัม จะไม่รับซื้อผลมังคุดที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป ดังนั้นก่อนนำไปขายควรคัดขนาดเสียก่อน
2. ผิวผลมังคุดจะต้องสะอาดไม่ด่างดำ ไม่มีแมลงหรือราดำติดอยู่ ไม่มีรอยแผลหรือรอยกัดรอยดูดของแมลง ผิวไม่หยาบกร้านหรือตกสะเก็ต กลีบเลี้ยงใกล้ขั้วผลควรมีสีเขียวสด ไม่เหี่ยวแห้ง ถ้ามีอาการยางไหลอาจใช้มีดขูดยางออกให้หมดก็จะนำไปขายได้
3. บริเวณใกล้กลีบเลี้ยง หรือซอกมุมอื่นๆ ของผลมังคุดต้องสะอาดไม่มีแมลงอาศัยอยู่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบางประเทศจะห้ามนำผลมังคุดไปขาย หากตรวจพบว่ามีแมลงติดอยู่ที่ผล ดังนั้นหากพบควรใช้ผ้าเช็ด ใช้แปรงเขี่ยออกหรืออาจใช้ลมเป่าก็ได้
4. ต้องเป็นมังคุดที่ใช้รับประทานเนื้อได้ทั้งหมด ไม่มีอาการเปลือกแข็ง ยางไหล เนื้อแก้วหรือเน่าเสีย จึงจำเป็นต้องคัดเลือกผลที่เสียหรือมีตำหนิออกทุกครั้งที่พบ ตั้งแต่เก็บผลถึงก่อนส่งขาย ขณะที่ส่งขายก็จะต้องไม่บรรจุในภาชนะที่ใหญ่เกินไป เพราะอาจจำทำให้ผลที่อยู่ด้านล่างช้ำได้

ส่วนการรับซื้อของผู้ส่งออกมังคุดนั้น มีทั้งที่มาติดต่อรับซื้อถึงสวนหรือติดต่อผ่านนายหน้าหรือผู้ที่รวบรวมในท้องถิ่น แล้วแต่ว่าจะเป็นแบบไหนจะสะดวกกว่ากัน หากในท้องถิ่นนั้นมีการรวมตัวของชาวสวนเป็นกลุ่มผู้ผลิตมังคุดคุณภาพหรือกลุ่มผู้ผลิตมังคุดเพื่อการส่งออกจะง่ายกว่าการติดต่อกับพ่อค้าส่งออกมากยิ่งขึ้น เพราะพ่อค้าจะเข้ามาติดต่อกับกลุ่มได้้โดยตรง สำหรับราคาขายให้กับพ่อค้าส่งออกนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาค่อนข้างสูง คืออยู่ในช่วง 30-40 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นราคาขายที่ดีทีเดียว

ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำสวนมังคุดมีอะไรบ้าง?

ท่านได้อ่านคำถามทั้งหมดมา อาจคิดว่าการปลูกมังคุดนี่ดีไปทุกอย่าง ราคาก็ดี ตลาดรับซื้อก็มีมาก โรคแมลงก็น้อย น่าปลูกเสียจริงแต่อันที่จริงแล้วการปลูกมังคุดก็ยังมีปัญหาอยู่หลายข้อเหมือนกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ปัญหาเรื่องของการให้ผลช้า เนื่องจากชาวสวนนิยมปลูกมังคุดโดยวิธีเพาะเมล็ด แม้จะไม่กลายพันธุ์ แต่กว่าจะเริ่มขายได้ก็ต้องมีอายุถึง 8 ปี หรือปลูกลงในแปลงแล้ว 5-6 ปี ในระหว่างนี้หากไม่มีรายได้ทางอื่นหรือไม่ได้ปลูกพืชแซม ผู้ปลูกก็คงจะสิ้นเปลืองเงินทุนมาก ขณะนี้นักวิชาการกำลังหาวิธีย่นระยะเวลาช่วงดังกล่่าวให้น้อยลงเช่น ลองทาบกิ่งเสียบกิ่ง เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลองจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าการใช้วิธีไหนจึงจะดีที่สุดและจะแก้ปัญหาได้แค่ไหน
2. เรื่องของคุณภาพมังคุด ปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องของการเก็บผล และการจัดการหลังเก็บผล การเก็บผลนั้นต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้หล่นกระทบพื้น แม้จะมีการพัฒนาเครื่องมือเก็บเกี่ยวที่ใช้ได้ผลค่อนข้างดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเก็บผลได้ช้าเพราะมังคุดไม่สุกพร้อมกันทั้งต้น และต้นมังคุดก็สูงมากด้วยทำให้สิ้นเปลืองค่าแรงเก็บผลมากยิ่งขึ้นในอนาคตค่าแรงงานคนจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปลูกเป็นแปลงใหญ่แล้วเก็บผลไม่ทันก็คงจะเสียหายมาก ดังนั้น ผู้ปลูกจะต้องคิดถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยก่อนที่จะปลูกมังคุดส่วนการจัดการหลังการเก็บผลมาแล้วนั้นต้องเรียนรู้กันพอสมควร ต้องคัดแยกให้เป็นและผลที่เสียต้องคัดทิ้งไป ทำให้มังคุดที่ขายไปมีคุณภาพเชื่อถือได้ เรื่องนี้ยังมีปัญหามากพอสมควร เพราะชาวสวนเกิดความเสียดาย จึงอยากจะขายแบบคละกัน แต่เมื่อมาคิดดูแล้ว การขายแบบคละนั้นจะได้ราคาต่ำกว่าการขายแบบแยกมาก
3. ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องฝนแล้งและนับวันก็จะยิ่งแล้งมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาใหม่กับมังคุด 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรก หากฝนไม่ตก แต่ยังมีบ่อหรือสระให้สูบน้ำมารดได้แม้จะผลิตมังคุดได้เหมือนเดิม แต่ค่าใช่จ่ายในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องจักร ค่าน้ำมันค่าท่อ หรือค่าแรงงานย่อมเพิ่มขึ้น ทำให้อาจจะขาดทันได้ ประการที่สองคือ นอกจากฝนไม่ตกแล้ว น้ำในบ่อยังแห้งอีกด้วย แบบนี้อาจจะทำให้ต้นมังคุดทรุดโทรมหรือตายได้ ดังนั้นก่อนปลูกมังคุดในพื้นที่ใดต้องตรวจสอบก่อนว่ามีฝนตกมาก และการกระจายตัวของฝนดีหรือไม่ อีกทั้งมีแหล่งน้ำพอที่จะสูบมาใช้รดมังคุดได้ตลอดหน้าแล้งหรือไม่

หากต้องการติดต่อขอคำปริกษาจากนักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับมังคุด จะติดต่อได้ที่ไหนบ้าง?

เท่าที่ได้ตรวจสอบนักวิชาการที่ทำเรื่องเกี่ยวกับมังคุดมีอยู่ 4 แห่งที่จะติดต่อขอคำปรึกษาได้ คือ
1. ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี 22110
2. ศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 84160
3. ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140
4. ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

หากท่านต้องการเรียนรู้การปลูกปรือการปฏิบัติดูแลรักษาทั่วไปอาจติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น เกษตรตำบล หรือเกษตรอำเภอ นอกจากนี้ ชาวสวนที่ปลูกมังคุดมานานก็อาจจะให้ขอแนะนำในทางปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน

เนื้อผลมังคุดให้คุณค่าทางโคชนาการอะไรบ้าง?

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลมังคุด จากการตรวจสอบของนักวิชาการ พอสรุปได้ดังนี้ ในส่วนประกอบของเนื้อผลมังคุด 100 กรัม ประกอบไปด้วย
น้ำ
79.2 กรัม
พลังงาน
79 แคลลอรี่
โปรตีน
0.8 กรัม
ไขมัน
1 กรัม
คาร์โบไฮเดรท
18.8 กรัม
เส้นใย
1.6 กรัม
แคลเซี่ยม
10 กรัม
ฟอสฟอรัส
15 กรัม
เหล็ก
0.8 กรัม
วิตามินบี 1
0.03 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2
0.01 มิลลิกรัม
ไนอาซิน
0.5 มิลลิกรัม
วิตามินซี
3 มิลลิกรัม

ประโยชน์ของมังคุดที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายมีอะไรบ้าง

"มังคุด" เป็นผลไม้ที่นิยมปลูกในประเทศแถบเอเชีย และถูกเรียกเป็น “ราชินีผลไม้เมืองร้อน” เป็นผลไม้ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีคุณสมบัติต้านมะเร็ง แต่ว่ามังคุดยังมีประโยชน์มากกว่านั้น โดย 10 ประโยชน์ของมังคุด มีดังนี้
1. แก้โรคเหงือก จากการศึกษาล่าสุดพบว่า มังคุด มีสรรพคุณในการรักษาโรคเหงือกอักเสบ จะเห็นได้ว่ายารักษาอาการอักเสบในช่องปากบางตัวมีส่วนผสม หรือสารสกัดจากมังคุด
2. ช่วยป้องกันวัณโรค วัณโรคเกิดจากไมโคแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ ซึ่งมันจะทำลายปอดของคุณ ซึ่งคุณสมบัติของมังคุดนั้น มีสารต้านเชื้อแบคทีเรียอยู่ การทานมังคุดเข้าไปจึงมีส่วนช่วยในการป้องกันวัณโรค
3. รักษาระดับความดันโลหิต มีแร่ธาตุจำพวกแมงกานีสและโพแทสเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต และโรคเลือดต่างๆ
4. ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน อีกหนึ่งวิธีในการเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย คือการกินผลไม้ตามฤดูกาล และมังคุดเป็นผลไม้ที่มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านแบคทีเรีย ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้
5. บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ในมังคุด มีวิตามินบี1 และวิตามินบีรวม ซึ่งสามารถบำรุงหัวใจและหลอดเลือดในร่างกายของเราได้
6. ป้องกันการเกิดสิว ในมังคุดมีวิตามินซี ซึ่งสามารถช่วยให้ผิวของคุณเรียบเนียนและไร้สิว ยิ่งถ้าเป็นคนผิวมัน เป็นสิวง่าย การทานมังคุดจะช่วยดูแลผิวได้
7. เหมาะกับการลดน้ำหนัก มังคุดเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่ต่ำและมีใยอาหารสูงในมังคุด 100 กรัม มีแคลอรี่เพียง 63 แคลอรี่เท่านั้น ดังนั้นแล้วใครต้องการลดน้ำหนัก อย่าลืมให้มังคุดเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการทาน
8. ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดแดง มังคุด ช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคโลหิตจาง
9. อุดมไปด้วยวิตามินซี เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีเยอะ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส และยังเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้
10. คุณสมบัติต้านมะเร็ง มังคุดเต็มไปด้วยสารโพลีฟินอลที่เรียกว่า แซนโทน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สารดังกล่าวมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และสามารถหยุดการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้อีกด้วย
ประโยชน์ของการรับประทานมังคุดต่อสุขภาพ
10 ประโยชน์ของมังคุด
ตอน  1  2 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147