ปัญหาแมลงและศัตรูพืชของมังคุดที่ชาวสวนมังคุดต้องรู้

ปัญหาแมลงและศัตรูพืชของมังคุดที่ชาวสวนมังคุดต้องรู้
มังคุดเป็นไม้ผลที่มีแมลงศตรูพืชไม่มากนัก ซึ่งแมลงศัตรูส่วนใหญ่เข้าทำลายมังคุดในระยะใบอ่อน ดอก และผลอ่อน ในรอบปีหนึ่งๆ มังคุดจะมีการแตกใบอ่อน 1-2 ครั้ง การแตกใบอ่อนครั้งแรกเกิดขึ้นประมารเอน มิถุนายน-กรกฎาคม และครั้งที่สองประมาณเดือน กันยายน- ตุลาคม แมลงศัตรูพืชสำคัญของมังคุดที่เข้าทำลายใบอ่อนจนมังคุดได้รับความเสียหาย คือ เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ และหนอนกินใบอ่อน ส่วนการออกดอกเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน- มกราคม หลังจากนั้นจะเป็นระยะผลอ่อนจนถึงเดือนมีนาคม ในระยะดอกและผลอ่อนมีแมลงศัตรูที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยไฟ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกและผลอ่อน ทำให้ผลมังคุดที่ได้มีคุณภาพไม่ดี มีลักษณะผิวขี้กลาก ช่วงระยะการพัฒนาของผลตั้งแต่อายุ 2 เดือน ถึงระยะเก็บเกี่ยว จะมีเพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูสำคัญ โดยในระยะผลสุกแมลงศัตรูสำคัญของมังคุดคือ ผีเสื้อมวนหวานแต่ผีเสื้อมวนหวานจะระบาดทำความเสียหายให้แก่มังคุดเพียงบางปีเท่านั้น ส่วนแมลงวันผลไม้เป็นแมลงศัตรูทางด้านกักกันพืช ซึ่งสามารถเข้าทำลายได้เฉพาะผลมังคุดสุกที่มีแผลเท่านั้น

เพลี้ยไฟ (Thrips)

สาเหตุ

Scirtothrips dorsalis Hood (เพลี้ยไฟพริก) และ Scirtothrips oligochaetus Karny (เพลี้ยไฟมังคุด)
เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวตัวได้อย่างรวดเร็ว จะระบาดในช่วงที่อากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานๆ

รูปร่างลักษณะเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟพริก ลำตัวสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ระยะตัวอ่อน 6-7 วัน จากนั้นเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ 1-2 วัน และตัวเต็มวัยอยู่ได้ประมาณ 22 วัน ตัวเมียแต่ละตัววางไข่ได้เฉลี่ย 60 ฟอง

ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟระบาดทำลายไม้ผลหลายชนิด เข่น มะม่วง ส้มโอ เงาะ ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ลิ้นจี่ และลำไย ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช ถ้าเป็นใบอ่อนหรือยอดอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน หงิกงอ และใบไหม้ ต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์ หากมีการระบาดขณะออกดอกและติดผลก่อน อาจทำให้ดอกและผลอ่อนร่วง ผลที่ไม่ร่วงเมื่อมีการพัฒนาโตขึ้นจะเห็นลอยทำลายชัดเจนเนื่องจากผิวเปลือกมังคุดมีลัณณะขรุขระที่เรียกว่า ผิวขี้กลากผลมังคุดที่มีลักษณะดังกล่าจึงขายได้ราคาต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟเป็นประจำ ปกติในสภาพสวนมังคุดของเกษตรกร มังคุดแต่ละต้นจะมีความสมบูรณ์ไม่เท่ากัน จึงแตกใบอ่อนไม่พร้อมกัน ใบอ่อนที่แตกใหม่ทุกครั้งเป็นตัวดึงดูดให้เพลี้ยไฟเข้ามาทำลายโดยเฉพาะเมื่อมังคุดมีการทยอยแตกใบอ่อน ทำให้การระบาดของเพลี้ยไฟเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจมีการระบาดถึงระยะที่มังคุดออกดอก และติดผลอ่อน ซึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรง เกษตรกรจึงต้องสูญเสียสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและค่าแรงในการพ่นเป็นจำนวนมาก
เพลี้ยไฟ พบระบาดรุนแรงในช่วงอากาศแห้งแล้ง และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ในมังคุดพบเพลี้ยไฟปริมาณมาก ระหว่างเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กเคลื่อนที่ได้รวดเร็วหากถูกรบกวนจะเคลื่อนที่โดยการกระโดดหนี และตามด้วยการบินในระยะใกล้ๆ ตัวอ่อนวัยแรกพลมากที่ใต้ใบอ่อน ส่วนตัวเต็มวัยและตัวอ่อนวัยที่สอง จะซ่อนตัวอยู่ตามซอกของตาดอก กลีบดอกและใบอ่อน
บนทรงพุ่มมังคุดจะพลเพลี้ยไฟปริมาณมาก ทางทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก บริเวณด้านบนของทรงพุ่ม ช่วงเวลา 9.00-11.00 น. ดังนั้นการประเมินประชากรเพลี้ยไฟในมังคุดอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรสุ่มตรวจนับในเวลาดังกล่าว

ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาดของเพลี้ยไฟ

ระยะใบอ่อน ดอก และผลอ่อน

พืชอาหารของเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟพริกระบาดทำลายไม้ผลได้หลายชนิด เช่น มังคุด ทุเรียน มะม่วง เงาะ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลิ้นจี่ และ ลำไย

ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟ

ศัตรูทางธรรมชาติของเพลี้ยไฟ เช่น แมงมุมชนิดต่างๆ ตัวอ่อนแมลงช้าง และเพลี้ยไฟตัวห้ำ

วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

เนื่องจากเพลี้ยไฟจะเข้าทำลายมังคุดเมื่อมีการแตกใบอ่อน ออกดอก หรือกำลังติดผลอ่อนในระยะที่มีเฉพาะใบแก่ไม่พลการทำลายของเพลี้ยไฟ หากมังคุดแตกใบอ่อนในช่วงฤดูฝน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม การระบาดของเพลี้ยไฟจะไม่รุนแรง หรือแทบไม่มีการระบาดเลย ถ้าช่วงนั้นมีฝนตกชุกหนาแน่น ส่วนในช่วงแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่มังคุดเริ่มแทงตาออกดอกหรือตาใบผสมกัน และพัฒนาไปเรื่อยๆ จนดอกบาน ติดผลอ่อน ในช่วงนี้เกษตรกรจะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ดอกและผลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยอดที่ไม่พัฒนาเป็นดอกและผลเมื่อได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะแทงตาใบ และพัฒนาต่อเป็นใบอ่อนซ้อนขึ้นมา จึงเป็นสาเหตุทำให้การระบาดของเพลี้ยไฟเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผลอ่อนที่ถูกทำลายตั้งแต่เล็กเนื่องจากเพลี้ยไฟมีปากแบบเขี่ยตูด (rasping-sucking) ทำให้เกิดรอยแผลบนผิวของผลอ่อน เมื่อผลพัฒนาขึ้นรอยแผลดังกล่าวจะขยายขึ้นชัดเจนจนเห็นเป็นลักษณะขรุขระ ทำให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพต่ำ จะเห็นได้ว่าระยะวิกฤตที่ควรทำการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในมังคุด คือ ช่วงฤดูแล้งขณะที่มังคุดอยู่ในระยะออกดอก ติดผลอ่อน การพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงควรพ่น 3 ครั้ง คือ ระยะก่อนดอกบาน 7 วัน ขณะดอกบาน และหลังบานแล้ว 7 วัน หากเป็นการระบาดนอกฤดูการออกดอกติดผล ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ยเกิน 1 ตัวต่อยอด

สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ ฟิโรนิล 5% เอสซี อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี และ ไซเพอร์เทริร/โฟซาโลน 6.25%/22.50% อัตรา 10,10,50 และ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ และไม่ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้งเพราะจะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานต่อสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และอาจเกิดแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นระบาดขึ้นมาได้

ตัวอ่อนเพลี้ยไฟพริก
ลักษณะรูปร่างตัวอ่อนเพลี้ยไฟ
ตัวเต็มไวเพลี้้ยไฟพริก
เพลี้ยไฟพริก ลำตัวสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ

เพลี้ยแป้ง

สาเหตุ

Pseudococcus cryptus Hempel (เพลี้ยแป้งมังคุด)

รูปร่างลักษณะเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งพริกเพศเมีย รูปร่างค่อนข้างเป็นรูปไข่ ความยาวเฉลี่ย 3.69 ฑ 0.43 มิลลิเมตร และกว้างเฉลี่ย 2.22 ฑ 0.23 ผนังลำตัวสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลืองปกคลุมด้วยไขแป้งสีขาว โดยเฉพาะคู่ท้ายสุดของลำตัวจะยาวที่สุดลักษณะคล้ายหาง หนวดมี 8 ปล้อง ขาเจริญดี เพลี้ยแป้งเพศเมียที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะเริ่มสร้างไข่ โดยตอนแรกพบว่า เพลี้ยแป้งที่พร้อมวางไข่ จะมีการสร้างเส้นใยไหมสีขาวฟูใต้ลำตัวและเริ่มวางไข่ในเส้นไหมที่สร้างใต้ลำตัวนั้นโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ เฉลี่ย 374.70 ฑ 72.59 ฟอง และมีชีวิตอยู่ได้นาน 10.95 ฑ 1.46 วัน รวมตลอดอายุขัย เพลี้ยแป้งเพศเมียตั้งแต่ระยะไข่ถึงสิ้นอายุของตัวเต็มวัยใช้เวลาเฉลี่ย  27.60 ฑ 2.04 วัน
เพลี้ยแป้งเพศผู้ มีลักษณะผอมคล้ายยุง ความยาวเฉลี่ย 0.86 ฑ
0.01 มิลลิเมตร และ กว้างเฉลี่ย 0.20 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลืองอมชมพู มีปีกบางใส 1 คู่ เห็นหนวดชัดเจนและมีเส้นแป้งสีขาวที่ส่วนปายของส่วนท้อง ลักษณะคล้ายหาง 1 คู่ ตัวเต็มวัยเพศผู้อายุขัยเฉลี่ย 3.75 ฑ 1.59 วัน รวมตลอดอายุขัยเพลี้ยแป้งมังคุดเพศผู้ เมื่อเลี้ยงบนฟักทอง จากระยะไข่ จนสิ้นสุดอายุขัยของตัวเต็มวัยใช้เวลาเฉลี่ย 26.20 ฑ 3.67 วัน  

ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงศัตรูสำคัญชนิดหนึ่งของมังคุดโดยปัจจุบันเกษตรกรนิยมผลิตมังคุดผิวมัน ซึ่งจะมีราคาสูง จึงเน้นการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลมังคุดมีผิวขรุขระ (ผิวขี้กลาก) คุณภาพต่ำ โดยมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพียงชนิดเดียวซ้ำๆ กันนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาการต้านทานสารเคมีของเพลี้ยไฟแล้ว ยังทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งด้วย ในมังคุดพลเพลี้ยแป้งเริ่มระบาดเมื่อผลมังคุดอายุประมาณ 2 เดือนจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลมังคุดยังเล็กอยู่เพลี้ยแป้งจะฝังตัวดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ด้านใต้ของผล เมื่อผลโตใกล้เก็บเกี่ยวเพลี้ยแป้งจะไปฝังตัวดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้กลีบเลี้ยง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมสำหรับการขยายพันธุ์จึงเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีปริมาณมาก มูลหวานที่เพลี้ยแป้งขับถ่ายออกมาจะดึงดูดให้เกิดราดำขึ้นเป็นคราบเกาะติดผิวมังคุดทั่วทั้งผล ทำให้ผลมังคุดมีคุณภาพต่ำ การปนเปื้อนของเพลี้ยแป้งและราดำเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับมังคุดส่งออก ผู้ส่งออกบางรายแก้ปัญหาโดยการตัดกลีบเลี้ยงทิ้ง และขั้วผลมังคุดทิ้ง ทำให้มังคุดสูญเสียรูปลักษณ์ที่สวยงาม พบการระบาดทั้งในแปล่งปลูกมังคุดภาคตะวันออกและภาคใต้

ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาดของเพลี้ยแป้ง

ระยะผลอ่อน และผลแก่

พืชอาหารของเพลี้ยแป้ง

ใบมะพร้าว ใบมะม่วง ฝักมะขาม และผลมังคุด

ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง

ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งที่พบได้แก่ แมลงช้างปีกใส Mallada basalis Wslker ด้วงเต่าลาย Nephus ryuguun (H.Kamiya) และ แตนเบียนในวงศ์ Eulophidae

วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง

1. ถ้าพบระบาดไม่มาก อยู่เป็นกลุ่มเฉพาะผลใดผลหนึ่งให้เก็บผลนั้นเผาทำลาย

2. ควรมีการสำรวจตั้งแต่มังคุดเริ่มติดผล การระบาดในมังคุดผลเล็ก ซึ่งเพลี้ยแป้งฝังตัวอยู่ด้านใต้ผล สามารถพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าการป้องกันกำจัดเมื่อเพลี้ยแป้งระบาดในผลโต ซึ่งจะฝังตัวใต้กลีบเลี้ยง เมื่อพบเพลี้ยแป้งระบาดมากกว่าร้อยละ 10 ของผลสำรวจ พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อิมิดาโคลพริด 10%  เอสแอลหรือคาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 50 : 10 มิลลิลิตร และ 60 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร ตามลำดับ

3. การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมักมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปปล่อยยังจุดต่างๆ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งที่ระบาดขณะผลเล็กแล้วให้ป้องกันมดซึ่งเป็นพาหะคาบเพลี้ยแป้งกลับมาระบาดซ้ำโดยใช้เศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบโคนต้นมังคุด

ลักษณะเพลี้ยแป้ง
ลักษณะรูปร่างของเพลี้ยแป้ง
ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง
ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งซ้อนตัวที่กลีบเลี้ยงมังคุด

หนอนชอนใบ

สาเหตุ

Acrocercops sp. และ Phyllocnistis sp.

ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนชอนใบ

Acrocercops sp. ชอบทำลายใบอ่อนที่มีอายุมาก โดยตัวหนอนที่ฟักจากไข่ชอนไชกัดกินและขับถ่ายอยู่ในระหว่างผิวใบมังคุด รอยทำลายเป็นลักษณะแผ่กว้างเป็นแผ่นสีดำ เนื่องจากเนื้อเยื่อระหว่างผิวใบตรงส่วนนั้นถูกทำลายไป พบการทำลายไม่มากนัก
Phyllocnistis sp. ชอนไชทำลายใบอ่อนมังคุดที่มีอายุน้อยกว่า พบการระบาดรุนแรงมาก ขณะมังคุดแตกใบอ่อน โดยเฉพาะในระยะต้นกล้ามังคุด ตัวหนอนที่ฟักจากไข่ ชอนไชเป็นทางยาวหรือสร้างเป็นอุโมงค์กัดกินและขับถ่ายอยู่ภายใน รอยทำลายของหนอนชอนใบชนิดนี้มีความยาวโดยเฉลี่ย 17.50 ซม.
ใบมังคุดที่ถูกทำลายจะแสดงลักษณะแคระแกรน บิดเบี้ยว เนื่องจากเซลล์และเนื้อเยื่อบางส่วนของใบถูกทำลายตั้งแต่ใบอ่อนยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ถ้ามีการระบาดรุนแรง อาจพบหนอนชอนใบมากกว่า 1 ตัวต่อใบ ทำให้มังคุดมีใบไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะระยะต้นกล้า ชะงักการเจริญเติบโต สำหรับต้นมังคุดที่โตแล้วการถูกทำลายรุ่นแรง ทำให้มังคุดแตกใบอ่อนบ่อยครั้งเพื่อชดเชยใบที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งใบอ่อนเป็นตัวดึงดูดแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ เข้ามาทำลายมังคุดเพิ่มขึ้น
พบการระบาดของนอนชอนใบทั้งสองชนิด รุนแรงในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนที่มีการแตกใบอ่อนของต้นมังคุดในช่วงนี้พบหนอนชอนใบ Phyllocnistis sp. เข้าทำลายร้อยละ 36.3 และหนอนชอนใบ Acrocercops sp. ทำลายเพียงร้อยละ 0.3

รูปร่างลักษณะหนอนชอนใบ

ตัวเต็มวัยของหนอนชอนใบทั้งสองชนิดเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 3.0 และ 2.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ ผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ด้านหลังใบติดกับเส้นกลางใบ ระยะไข่ 3-5 วัน ระยะหนอน 15-16 วัน จึงเข้าดักแด้ใกล้ๆ ขอบใบ ระยะดักแด้ 4-8 วัน

พืชอาหาร

นอกจากมังคุดแล้วยังไม่มีรายงานว่าแมลงชนิดนี้ทำลายพืชชนิดอื่น

ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาดของหนอนชอนใบ

ระยะใบอ่อน

ศัตรูธรรมชาติของหนอนชอนใบ

พบแตนเบียนของหนอนชอนใบมังคุด 10 ชนิด จำแนกได้ 8 ชนิด คือ Ageniaspis citricola Longvinoskaya, Sympiesis stritipes (Ashmead), Cirrospilus ingenuus Gahan, Citrostichus phyllocnistoider (Narayanan), Kratoysma sp., Elasmus sp., Eurytoma sp. และ Quadrastichus sp. ในเดือนธันวาคม พบหนอนชอนใบมังคุดถูกแตนเบียนทำลายสูงสุดร้อยละ 80.6 และต่ำสุดร้อยละ 16.3 ในเดือนพฤษจิกายน

วิธีการป้องกันกำจัดหนอนชอนใบ

แตนเบียนพบมากที่สุด คือ A. citricola ถ้าพบหนอนชอนใบระบาดรุนแรง (ใบอ่อนถูกทำลายมากกว่าร้อยละ 30)
และไม่พบแตนเบียนให้พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนชอนใบชอนไชอยู่ใต้ผิวใบมังคุด
หนอนชอนใบอยู่ในระหว่างผิวใบมังคุด
ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนชอนใบ
ลักษณะการเข้าทำลายใบมังคุดของหนอนชอนใบ

หนอนกินใบอ่อน (Leaf eating caterpillar)

สาเหตุ

Stictoptera columba (Walker) และ Stictoptera cucullioides Guenee และ Stictoptera signifer (Walker)

ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนกินใบอ่อน

หนอนกินใบอ่อนทำลายกัดกินใบอ่อนมังคุดจนเหลือเฉพาะก้านใบ หรือบางครั้งหมดทั้งใบเนื่องจากเป็นแมลงในวงศ์ Noctuidae ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนในตอนกลางวันจึงไม่ค่อยพบตัวหนอน แต่พบรอยทำลายที่ทิ้งไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ตัวหนอนกัดกินทำลายใบอ่อนของมังคุดในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันหลบลงดิน หรือหลบอาศัยตามเศษซากใบไม้ หรือระหว่างใบในทรงพุ่มต้นมังคุดที่มีความมืด หนอนวัยแรกๆ มีลำตัวเขียวใส เมื่อโตขึ้นลักษณะสีสันและลวดลายแตกต่างกันไป แต่มีการทำลายเหมือนกัน หากระบาดรุนแรงใบอ่อนถูกกินจนหมด ทำให้มังคุดแตกใบอ่อนใหม่เพื่อชดเชยความสมบูรณ์ ถ้าหนอนกินใบอ่อนระบาดขณะมังคุดแตกใบอ่อนในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นใบอ่อนชุดสุดท้ายก่อนการออกดอกถ้าใบอ่อนชุดสุดท้ายก่อนการออกดอกถูกทำลาย จะมีผลกระทบต่อการเกิดตาดอกและติดผล จากการศึกษาโดยการตัดใบอ่อนชุดสุดท้ายแทนการทำลายของหนอนกินใบอ่อนมังคุด พบต้นที่ใบอ่อนถูกทำลายมากๆจะมีการให้ดอกและติดผลลดลง
พบการแพร่ระบาดของหนอนกินใบอ่อนทุกแหล่งปลูกมังคุด ในขณะที่มีการแตกใบอ่อนโดยเฉพาะ S. cuculliodes พบระบาดรุนแรงมากกับมังคุดที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

รูปร่างลักษณะหนอนกินใบอ่อน

S. columbo ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดสีดำประปรายทั้งลำตัวที่สังเกตได้คือ หนอนชนิดนี้มีส่วนหัวและอกขยายใหญ่กว่าส่วนท้อง ลำตัวยาว 3.-3.5 ซม. ผีเสื้อเมื่อกางปีกกว้าง 3.0-3.5 ซม. ลำตัวยาว 1.5-2.0 ซม. ปีกคู่หน้าสีเขียวปนน้ำตาลเข้มขึ้นไปทางปลายปีก ลำตัวส่วนนอกและปล้องท้องสีน้ำตาล มีขนเหลือบสีเขียวตามแนวสันหลังจากอกลงไปตามปล้องท้อง หนอนกินใบอ่อนชนิดนี้พบเพียงร้อยละ 1.2 ของหนอนกินใบอ่อนทั้งหมด
S. cuculliodes ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม มีแถบสีขาวพาดตามความยาวลำตัว ลำตัวยาว 2.5-3.3 ซม. ผีเสื้อเมื่อกลางปีกกว้าง 3.5-4.5 ซม. ลำตัวยาว 1.8-2.0 ซม. ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้มเป็นส่วนใหญ่ มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดผ่านกลางปีก และมีรอยหยักบริเวณของปีกเห็นได้ชัดเจน ปีกคู่หลังโคนปีกสีน้ำตาลอ่อนปนม่วง ปลายปีกสีน้ำตาลเข้ม ตลอดลำตัวตั้งแต่ส่วนหัวถึงปล้องท้องสีน้ำตาล ลักษณะผีเสื้อมีลักษณะสีสันและลวดลายแตกต่างกัน หลายแบบและเป็นหนอนกินใบอ่อนมังคุดที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 93.9
S. sihnifera ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีเขียวสลับเหลืองเห็นเป็นปล้องๆ ลำตัวยาวเฉลี่ย 2.2-2.9 ซม. ผีเสื้อเมื่อกลางปีกกว้างประมาณ 3.0 ซม. ลำตัวยาว 1.2-1.5 ซม. ปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีลายสี้น้ำตาลอ่อนสลับเล็กน้อยบริเวณโคนขอบปีกด้านบนและกลางแผ่นปีก ปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน ส่วนปลายปีกสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวสีน้ำตาลตลอดหัวจรดปลายปล้องท้อง พบเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.9

พืชอาหารหนอนกินใบอ่อน

นอกจากมังคุดแล้วยังไม่มีรายงานว่าแมลงชนิดนี้ทำลายพืชชนิดอื่น

ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาดของหนอนกินใบอ่อน

ระยะใบอ่อน

ศัตรูธรรมชาติของหนอนกินใบอ่อน

พบหนอนกินใบอ่อนมังคุดถูกแตนเบียนทำลายเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้จำแนกชนิดของแตนเบียนเหล่านั้น

วิธีการป้องกันกำจัดหนอนกินใบอ่อน

เนื่องจากหนอนกัดกินทำลายใบอ่อนมังคุดในเวลากลางคืน และทิ้งร่องรอยการทำลายให้เห็นหากสำรวจพบใบอ่อนมังคุดถูกทำลายเกินร้อยละ 20 ให้พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ลักษณะการทำลายของหนอนกินใบอ่อน
หนอนกินใบอ่อนทำลายกัดกินใบอ่อนมังคุด
หนอนกินใบอ่อน Stictoptera cucullioides Guenee
ลักษณะหนอนกินใบอ่อน

ไรขาวพริก (broad mite)

สาเหตุ

Polyphogotarsonemus latus Banks

ลักษณะการเข้าทำลายของไรขาวพริก

ไรขาวพริก (broad mite หรือ yellow tea mite) พบทั่วไปในเขตร้อนและในโรงเรือนปลูกพืชในเขตอบอุ่น มีพืชอาหารหลายชนิดซึ่งสังเกตจากชื่อวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคือ Polypharsonemus latus Banks โดยพบว่ามีพืชอาหารมากกว่า 60 วงศ์ และส่วนใหญ่จะเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ธัญพืช รวมถึงไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งที่ปลูกในแปลงและในโรงเรือน ส่วนมากจะพบไรขาวพริกเข้าทำลายบริเวณใบอ่อนหรือยอดอ่อนของพืชเนื่องจากอวัยวะซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นส่วนของปากไม่แข็งแรงมากนัก จึงไม่สามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชที่มีลักษณะหนาหรือแข็งได้ และเชื่อกันว่าการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของพืชเกิดอาการผิดปกติได้ ซึ่งลักษณะอาการผิดปกติของพืชจะมีอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช โดยทั่วไปเมื่อพืชถูกไรขาวพริกเข้าทำลาย ส่วนของใบอ่อนจะม้วนลง แข็งกระด้าง หงิกงอผิดรูป และแคระแกรน หรือทำให้สีของใบอ่อนซีด หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วงหลุดไปในที่สุด ถ้าทำลายที่ดอกจะทำให้ดอกแคระแกรน รูปร่างของดอกบิดเบี้ยวไป และไม่ติดผล ถ้าเข้าทำลายที่ผลอ่อน จะทำให้ผลอ่อนมีผิวหยาบกร้าน ไม่เป็นมัน และสูญเสียคุณภาพได้
ลักษณะการทำลายบนผลมังคุด เข้าทำลายมังคุดในระยะผลอ่อน โดดดูดกินน้ำเลี้ยงผลอ่อนที่เริ่มติดผล โดยหลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้กลีบเลี้ยงที่บริเวณขั้วผล พบมากับผลที่อยู่ในทรงพุ่ม ผิวของผลอ่อนที่ถูกทำลายจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีจะเข้มขึ้นเมื่อการทำลายรุนแรงมากขึ้น ผิวจะด้านสาก ไม่เขียวเป็นมันเหมือนผลอ่อนปกติ เมื่อเป็นผลแก่ ผิวผลจะด้านไม่เป็นมัน ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและไม่เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกมังคุด

รูปร่างลักษณะไรขาวพริก

ไรขาวพริกมีวงจรชีวิตสั้น ระยะเวลาของวงจรชีวิตขึ้นกับ ชนิดของพืชอาหารในเขตอากาศอบอุ่นในสภาพโรงเรือน ช่วงของพัฒนาการลดลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นแต่ก็มีระยะสั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในพริกระยะเวลาจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยเฉลี่ยที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เท่ากับ 4.1 วัน ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย เพศผู้มีอายุอยู่ได้นาน 15 วัน ส่วนเพศเมียมีอายุอยู่ได้นาน 11 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ได้ 25 ฟอง อัตราส่วนเพศเท่ากับ 2.8 : 1 ในห้องปฏิบัติการ และเท่ากับ 2.3 : 1 ในสภาพที่เลี้ยงบนต้นกล้าพริกในโรงเรือนกระจก โดยมีอัตราการขยายพันธุ์สุทธิในชั่วอายุเท่ากับ 41.0 โดยมีค่าเฉลี่ยของอายุขัยในแต่ละรุ่นเท่ากับ 10.34 วัน

พืชอาหารไรขาวพริก

มันฝรั่ง โหระพา กระเพรา ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วลันเตา ไผ่ ปอกระเจา เยอบีร่า หม่อน ชาเบญจมาศ องุ่น มะม่วง มังคุด ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ฝ้าย กุหลาบ ลำโพงส้ม แตงกวา

ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาดของหนอนกินใบอ่อน

ระยะผลอ่อน

ศัตรูธรรมชาติของไรขาวพริก

ศัตรูธรรมชาติของไรขาวพริกที่พบ ได้แก่ ไรตัวห้ำ Amblyseius cinctus Corpus and Rimando

วิธีการป้องกันกำจัดไรขาวพริก

ในการป้องกันกำจัดไรขาวพริกนี้ มีวิธีหลายวิธีแต่ที่นิยมและใช้เป็นประจำคือ การป้องกันกำจัดโดยสารเคมี ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็ว และเห็นผลได้ชัดเจน มีสารเคมีป้องกันกำจัดไรหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดไรขาวพริก ได้แก่ อามีทราช 20% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้กำมะถันผงอัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน และพ่นซ้ำหากพบการระบาดอีก สามารถใช้ควบคุมไรขาวพริกได้ดี
ไรขาวพริก (broad mite)
ลักษณะไรขาวพริก
ลักษณะการทำลายของไรขาวพริกที่ผลมังคุด
ไรขาวพริกจะเข้าทำลายผลอ่อนมังคุด
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147