วิธีการจัดการตามแผนปลูกมังคุดคุณภาพ
1. การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก
1.1 วิธีการจัดการปุ๋ยเพื่อชักนำการแตกใบอ่อน
(2 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- ประเมินความสมบูรณ์ต้น น้อยกว่าหรือเท่ากับ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยประเมินจากจำนวนใบ ขนาดและสีใบ และร่องรอยการเข้าทำลายของโรคและแมลง
- ประเมินปริมาณการให้ผลผลิตมังคุดในปีที่ผ่านมา โดยประเมินจำนวนผลต่อต้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนยอดทั้งหมด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- หว่านปุ๋ยคอกใต้ทรงพุ่มในอัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นเท่ากับ 4 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม แล้วคลุมโคนด้วยเศษซากพืช เพื่อลดปริมาณการไหลบ่าของน้ำผิวดิน ช่วยป้องกันการสูญเสียปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1/3 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มโดยวิธีหว่านใต้ทรงพุ่มให้ทั่ว แล้วคลุมด้วยเศษซากพืช
1.2 วิธีการตัดแต่งกิ่งมังคุดเพื่อควบคุมทรงพุ่ม
(3-4 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- ประเมินขนาดทรงพุ่ม ต้นที่มีชายพุ่มชิดกันหรือประสานกัน และ/หรือความสูงมากกว่า หรือเท่ากับ 8 เมตร หรือ สูงเกินความสามารถของเครื่องพ่นสารพ่นถึง และประเมินกิ่งแห้ง กิ่งหักและกิ่งที่ถูกทำลายโดยศัตรูพืช
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านข้างของทรงพุ่มที่ประสานกันออก ให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่มโดยรอบกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-75 เซนติเมตร เนื่องจากต้นมังคุดต้องการแสงแดดเพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์ ของแสงแดดในฤดูร้อนที่ไม่มีเมฆบัง
- ตัดยอดในส่วนที่สูงเกินต้องการออก เนื่องจากกิ่งที่อยู่ในทรงพุ่มสามารถให้ผลผลิตได้ และมีโอกาสเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่ากิ่งที่อยู่ชายทรงพุ่ม
- ตัดกิ่งประธาน หรือกิ่งรองออกด้านละ 1-5 กิ่ง เพื่อทำเป็นช่องปิดแสงส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่ม ในกรณีต้นมังคุดที่ให้ผลผลิตแล้ว เมื่อแสงส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่มทำให้มีกิ่งแขนงเกิดจำนวนมาก ให้เลี้ยงกิ่งแขนงที่อยู่ในทรงพุ่มไว้ เนื่องจากการตัดแต่งกิ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้แตกใบอ่อนได้
1.3 วิธีการจัดการเพื่อชักนำให้มังคุดแตกใบอ่อน
(6 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- หลังจากจัดการปุ๋ยและตัดแต่งกิ่งแล้ว สำรวจพบว่าต้นมังคุดยังไม่มีการแตกใบอ่อน หรือมีการแตกใบอ่อนน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนยอดทั้งหมด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- ชักนำให้แตกใบอ่อนโดยการพ่นปุ๋ยยูเรีย อัตรา 100-200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทั้งต้น
1.4 วิธีการป้องกันกำจัดแมลง และไรศัตรูทำลายใบอ่อนต้นมังคุด
(8-10 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- สำรวจและประเมินความเสียหายจากแมลง และไรศัตรูทำลายใบอ่อน ได้แก่
• เพลี้ยไฟ เมื่อพบ 1 ตัว ต่อยอด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- พ่นด้วยสารเคมีเมื่อความเสียหายเกินระดับเศรษฐกิจดังนี้
เพลี้ยไฟ พ่นอิมิดาโคลพริด 10 เปอร์เซ็นต์ เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 20 ลิตร หรือฟิโปรนิล 5 เปอร์เซ็นต์ เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซเพอร์เมทริน/โฟซา-โลน 6.25 เปอร์เซ็นต์/22.5 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อ น้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
ให้สำรวจเพลี้ยไฟหลังพ่นสารเคมีครั้งแรก 1 สัปดาห์ หากยังพบปริมาณเพลี้ยไฟเกิน 1 ตัวต่อยอด ต้องพ่นสารเคมีซ้ำอีกครั้งและควรสลับการใช้สารเคมีชนิดอื่นเพื่อป้องกันแมลงสร้างความต้านทาน
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
• หนอนกินใบอ่อน ทำลายใบอ่อนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของยอด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- หนอนกินใบอ่อน พ่นคาร์บาริล 85 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
• หนอนชอนใบ ทำลายใบอ่อนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของยอด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- หนอนชอนใบ พ่นสารเคมี 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน โดยใช้ คาร์บาริล 85 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
• ไรแดง ทำลายใบมากกว่าหรือเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนใบทั้งหมด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- ไรแดง พ่นด้วยโพรพาร์ไกด์ 30 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฮกซีไทอะซอกซ์ 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
1.5 วิธีการป้องกันกำจัดโรคทำลายใบอ่อน
(8-10 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- สำรวจและประเมินการเข้าทำลายของโรคใบจุด และโรคจุดสนิม
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- โรคใบจุด พ่นคาร์เบนดาซิม 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- โรคจุดสนิม พ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
1.6 วิธีการกำจัดวัชพืช
(ตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- ประเมินจำนวนวัชพืช คือ เมื่อมีต้นวัชพืชขึ้นคลุมพื้นที่สวนมังคุดมากกว่า หรือเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่สวนมังคุดทั้งหมด และมีความสูงเฉลี่ยไม่เกิน หรือเท่ากับ 30 เซนติเมตร จำแนกชนิดวัชพืชที่พบ
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
• วัชพืชฤดูเดียว เช่น หญ้าขจรจบ หญ้าตีนนก เป็นต้น
- ตัดวัชพืชให้สั้นทุกๆ 2-3 เดือน ด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่างๆ หรือใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น พาราควอท 27.6 เปอร์เซ็นต์ เอสแอล อัตรา 75-150 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วพื้นที่ 1/4 ไร่ หลังวัชพืชงอก เมื่อวัชพืชกำลังเจริญเติบโตและมีใบมาก และควรพ่นก่อนวัชพืชออกดอก ขณะพ่นควรมีแดดจัด ลมสงบ ระวังละอองสารสัมผัสใบและต้นมังคุด
• วัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา หญ้าชันกาด แห้วหมู เป็นต้น
- ตัดวัชพืชให้สั้นทุกๆ 1-2 เดือน ด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่างๆ หรืใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสท 48 เปอร์เซ็นต์ เอสแอล อัตรา 150-200 มิลลิลิตร หรือกลูโฟชิเนตแอมโมเนีย 15 เปอร์เซ็นต์เอสแอล อัตรา 250-500 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในพื้นที่ 1/4 ไร่ วิธีพ่นและข้อควรระวังเช่นเดียวกับการใช้ในวัชพืชฤดูเดียว
1.7 วิธีการจัดการปุ๋ยเพื่อส่งเสริมความสมบูรณ์ของต้นมังคุด
(11-12 สัปดาห์ หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- ประเมินความสมบูรณ์ของใบอ่อนมังคุดชุดใหม่ ขนาดใบเล็กกว่าชุดเดิม สีไม่สดใส
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- พ่นด้วยปุ๋ยเคมีทางใบสูตร 15-30-15 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุรอง และธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม ร่วมกับกรดฮิวมิค อัตรา 20 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่ม
1.8 วิธีการจัดการปุ๋ยเพื่อเตรียมความพร้อมต้นมังคุด สำหรับการออกดอก
(14-16 สัปดาห์ หลังเก็บเกี่ยว)
ตัวบ่งชี้ช่วยตัดสินใจ
- ประเมินความพัฒนาการของใบเป็นใบแก่ทั่วทั้งต้นมังคุด
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
- หว่านปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 หรือ 13-13-21 ให้ทั่วทรงพุ่มอัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นเท่ากับ 1/3 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม