ขั้นตอนวิธีปลูกข้าวทำนาอย่างถูกวิธีเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ

ขั้นตอนวิธีปลูกข้าวทำนาอย่างถูกวิธีเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ
สารบัญ
สังคมไทยเป็นสังคมกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ปลูกข้าวทำนาเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่โบราณ ดังนั้น "ข้าว" จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒธรรมไทย จึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นบทความ "องค์ความรู้ด้านการปลูกข้าว" ซึ่งข้อมูลทางวิชาการและทางปฏิบัติโดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกิดการสั่งสมประสบการณ์ความรู้จากผู้ปฏิบัติของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้การดำเนินชีวิตและสอดคล้องกับบริบทตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่จนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมเป็นแนวทางให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จ สามารถนำแนวทางในการปฏิบัติในขั้นตอนของการเตรียมการปลูกข้าว การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การปลูกข้าว การดูแลรักษาข้าว รวมถึงการเก็บเกี่ยวและการจัดการผลผลิต จัดจำหน่ายแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อทิ ข้าวหอมมะลิพร้อมทานได้จนประสบความสำเร็จ

1. ประวัติความเป็นมาข้าวในประเทศไทย

"ข้าว" เป็นอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลและถือเป็นชีวิตจิตใจของคนไทยการทำนาจึงเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และถือได้ว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญยิ่งที่นำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ข้าวจึงเป็นสิ่งสำคัญของทุกคนเนื่องจากเป็นเรื่องปากท้องของคน โดยเมล็ดพันธุ์ข้าว เปรียบเสมือนชีวิตของคนปลูกข้าวทำนาเนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต ถ้าหากว่ามีพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาดและมีความต้านทานต่อโรคและแมลงและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นแล้วจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวหรือเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เป็นอย่างดี พันธุ์ข้าวมีหลายชนิดมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว มีทั้งพันธุ์ที่ปลูกเฉพาะนาปีและปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ละสายพันธุ์มีความเหมาะสมในสภาพอากาศที่ต่างกัน โดยมีการพัฒนาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าให้อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไหม้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพผลผลิตของข้าว เนื่องจากการปลูกพันธุ์ต้านทานเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการลดความเสี่ยงจากโรคและแมลง ดังนั้นกว่าจะมาเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกกินหรือปลูกขายได้ จะต้องผ่านกระบวนการเริ่มตั้งแต่คัดเลือกให้ได้เมล็ดพันธุ์คัดที่มีคุณสมบัติที่นักปรับปรุงพันธุ์กำหนดและภายใต้การควบคุมและตรวจพันธุ์อย่างถี่ถ้วย เมล็ดพันธุ์หลักที่ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์คัดภายใต้คำแนะนำและวิธีการเพื่อรักษาความบริสุทธิ์และลักษณะประจำพันธุ์เมล็ดพันธุ์ขยายปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลักโดยเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์จำหน่ายปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ขยายโดยเกษตรกรในแปลงขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้แก่เกษตรคนอื่นๆ

ข้าวเป็นพืชที่เก่าแก่มาก จัดอยู่ในตระกูลหญ้า ปัจจุบันรู้จักในชื่อ Poaceae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวฟ่าง โดยข้าวมีมากมายหลายชนิดและมีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์มาตลอด ซึ่งในปัจจุบันมีสายพันธุ์ข้าวกว่า 100 ชนิด แต่สามารถแบ่งได้ชัดเจน 2 ประเภทหลักคือ
1. พันธุ์ข้าวที่พบมากในเอเซีย คือ Oryza sativa มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดและแพร่หลายไปยังหลายๆ ประเทศทั่้วโลก
2. พันธุ์ข้าวที่พบมากในแอฟริกา คือ Oryza glaberrima มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตะวันตกและพบในบางประเทศเท่านั้น

การทำนา หมายถึง "การปลูกข้าวและการดูแลรักษาต้นข้าวในแปลงนา ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การปลูกข้าวในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปตามสภาพของดินฟ้าอากาศ และสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ"

ปัจจุบันการปลูกข้าวนาสวน และข้าวไร่ในฤดูฝนหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วในช่วงฤดูแล้งการปลูกข้าวมี 2 วิธีด้วยกันคือ 1) การปลูกแบบนาสวน เป็นการปลูกข้าวแบบตกกล้าปักดำเป็นแถวในสภาพที่มีจ้ำขัง 2) การปลูกข้าวนาปีและการปลูกข้าวไร่ เป็นการปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ถ้าเป็นที่ดอนจะเรียกว่าการปลูกข้าวไร่ กล่าวคือเป็นช่วงของการปลูกแบบใช้เมล็ดหยอดในหลุมให้เป็นแถวเป็นแนวบนที่ดอนในสภาพที่ไม่มีน้ำขัง หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และพันธุ์ข้าวที่ปลูกมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าเป็นข้าวพันธุ์ดีส่งเสริมให้ปลูกในแหล่งต่างๆ

2. พันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกในประเทศไทย


1. พันธุ์ข้าวนาไม่ไวต่อช่วงแสง
จำนวน 32 ชนิด คือ
กข1 กข14 กข14 กข21 กข29 กข31 กข33 กข37 กข39 กข41 กข43 กข47 กข49 กข53 กข55 กข57 กข61 กข63 กข-แม่โจ้ ก.วก.1 ก.วก.2 ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ชัยนาท1 ทับทิม ชุมแพ ปทุมธานี1 พิษณุโลก2 แพร่1 สกลนคร สังข์หยดพัทลุง สันป่าตอง1 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3

2. พันธุ์ข้าวนาไวต่อช่วงแสง จำนวน 28 ชนิด คือ
กข6 กข12(หนองคาย) กข15 กข18 กข20 กข27 กข35 กข51 กข59 กข35(รังสิต) ขาวดอกมะลิ ขาวตาแห้ง เขี้ยวงู8974 ไข่มดริ้ง3 ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก1 เจ๊กเชย1 เฉี้ยงพัทลุง ช่อลุง97 พิษณุโลก3 พิษณุโลก80 เล็บนกปัตตานี หางยี71 เหนียวดำหมอ37 เหนียวดำช่อไม้ไผ่49 เหนียวสันป่าตอง เหนียวอุบล เหลืองประทิว123 หอมกระดังงา59

3. พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ จำนวน 2ชนิด คือ
ขาวบ้านนา432 พลายงามปราจีนบุรี

4. พันธุ์ข้าวทนน้ำลึก จำนวน 4ชนิด คือ
กข45 ปราจีนบุรี1 ปราจีนบุรี2 อยุธยา1

5. พันธุ์ข้าวไร่ จำนวน 7 ชนิด คือ
ขาวโป่งไคร้ เจ้าขาวเชียงใหม่ เจ้าสีซอสันป่าตอง เจ้าฮ่อ ชิวแม่จัน ดอกพะยอม ลืมผัว

6. พันธุ์ข้าวผสม จำนวน 1 ชนิด คือ กข3
กข3

3. รู้จักลักษณะต้นข้าว

ส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ประกอบด้วย

ลำต้น
มีลักษณะตรง ข้างในกลวง มีความสูงตั้งแต่ 50-200 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว โดยข้าวบางชนิดมีความยาวถึง 5 เมตร

ใบข้าว มีลักษณะยาวแหลม มีความยาว 5-15 มิลลิเมตร ส่วนของใบหุ้มติดอยู่กับลำต้น

ดอกข้าว มีลักษณะเป็นรวง แต่ละดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 6 ชุด

เมล็ดข้าว มีปลายแหลม เมล็ดเดี่ยว แห้ง มีความยาว 5.50-7.51 มิลลิเมตร ดูดซับน้ำได้ถึง 25 ส่วนของน้ำหนักเมล็ด ภายในเซลล์เมล็ดข้าวประกอบด้วยเยื่อรำหุ้มและไข่ขาวคัพภะ (ต้นอ่อนของพืช) ทำหน้าที่ผลิตแป้งที่ทำให้เมล็ดข้าวมีสีขาว ลักษณะเงาวาว
การเจริญเติบโตทางลำต้นข้าว
การเจริญเติบโตทางลำต้นข้าว
ส่วนประกอบของรวงข้าว
ส่วนประกอบของรวงข้าว
ส่วนประกอบของข้าวเปลือก
ส่วนประกอบของข้าวเปลือก

4. วิธีและขั้นตอนการปลูกข้าว

การเตรียมการปลูกข้าว

• การเลือกพื้นที่ปลูกข้าว
ข้าวเป็นพืชเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ ทั้งสภาพพื้นที่ลาดเอียงตามไหล่เขาที่มีน้ำขัง และในที่ราบลุ่ม นำลึก พื้นที่เหมาะสมในการผลิตข้าวให้ได้ผลดีต้องมีระดับน้ำไม่ลึกเกิน 50 เซนติเมตร โดยระดับและความสม่ำเสมอของพื้นที่และชนิดของดินเป็นปัจจัยที่บ่งบอกความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกข้าว

ระดับความสม่ำเสมอของพื้นที่ มีความสำคัญต่อการผลิตข้าวที่สัมพันธ์กับความชื้นและระดับน้ำในแปลง การระบายน้ำเข้าและออกในแปลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยและการป้องกันกำจัดวัชพืชการจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้

ชนิดของดิน ดินที่เหมาะสมในการปลูกข้าว ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) 5.5-6.5 ชนิดของดินนอกจากจะมีผลเกี่ยวข้องกับแหล่งอาหารพืชแล้วยังมีผลต่อการควบคุมระดับความชื้นหรือระดับน้ำในแปลงด้วย พื้นที่ลุ่มควรเลือกใช้พันธุ์ที่ไวต่อแสงที่มีอายุหนัก (ระยะเวลาปลูกยาว) และตอบสนองปุ๋ยต่ำ พื้นที่ดินเป็นที่ดอนและอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว ควรปลูกข้าวไวต่อแสงที่มีอายะเบา (ระยะเวลาปลูกสั้น)
• การเตรียมดินปลูกข้าว
การเตรียมดินก่อนปลูกข้าวเพื่อให้เหมาะสมกับการงอก การเจริญเติบโตและกำจัดวัชพืช โรคพืช และแมลงศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ที่ตอซัง (ตอข้าวที่เกี่ยวรวงแล้ว) และในดิน การเตรียมดินยังมีผลทำให้ฟางข้าว ตอซังข้าว และวัชพืชถูกไถกลบลงในดินเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินนอกจากนี้ยังทำให้ธาตุอาหารพืชที่สะสมไว้ในดินชั้นล่างกลับขึ้นมาอยู่ในส่วนบนของผิวดิน โดยมีวิธีการดังนี้

(1) การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีปักดำ เริ่มจากการไถดะ (การไถครั้งแรกเพื่อทำลายวัชพืชในนา) ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พลิกดินพึ่งแดดเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ สูบน้ำเข้านา และจึงไถแปร (การไถแปรเพื่อตัดกับรอยไถดะ ทำให้รอยไถดะแตกออกเป็นก้อนเล็กๆ จนวัชพืชหลุดออกจากดิน) อีก 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่ แล้วย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นจึงคราดนำเศษวัชพืชออกปล่อยน้ำให้ท่วมขึงดินไว้เพื่อรอปักดำ หากทิ้งไว้นานและน้ำใส แสงแดดส่องผิวถึงผิวดินได้จะทำให้วัชพืชบางชนิดงอกขึ้นมา จึงให้คราด (การเอาวัชพืชออกจากผืนนา และปรับพื้นที่นาให้ได้ระดับเป็นที่ราบเสมอกัน เพื่อต้นข้าวจะได้รับน้ำเท่าๆ กัน) อีกครั้ง ก่อนการปักดำการเตรียมดินโดยใช้ลูกทุบ (เครื่องไถพรวนจอบหมุน) ย่ำฟางแทนการไถแปร เพื่อหมักให้เศษซากพืชย่อยสลายเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ โดยหลังจากทำเทือก (ทำให้ท้องนามีระดับเรียบเสมอกันจะช่วยให้ควบคุมน้ำและหญ้าได้ง่าย) แล้ว จึงควรปักดำภายใน 1-2 วัน เนื่องจากดินจะตกตะกอนจับตัวกันแน่นทำให้ปักดำยากขึ้น

(2) การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีหว่านน้ำตม ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินสำหรับปักดำ แต่ในขั้นตอนการคราดต้องปรับระดับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำได้สะดวก การงอกของเมล็ดข้าวจะสม่ำเสมอ เมื่อปรับดินสม่ำเสมอแล้วจึงแบ่งเป็นแปลงย่อยกว้างประมาณ 3-5 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแปลงนาเพื่อทำร่องน้ำโดยใช้ไหกระเทียมผูกเชือกลากหรือใช้รถไถเดินตาม การทำเทือกเตรียมแปลงนี้ควรทำไว้ไม่เกิน 1 วัน ก่อนหว่านข้าว

(3) การเตรียมดินสำหรับทำนาด้วยวิธีหว่าน เป็นการเตรียมดินขณะที่ไม่มีน้ำขังในแปลงนาในช่วงฤดูฝนขณะที่ดินมีความชื้นแล้วจึงไถดะลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พลิกกลับดินทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ดินชั้นล่างได้รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศและเป็นการกำจัดวัชพืช โรคพืชและตัวอ่อนของแมลง แล้วไถแปรอีก 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืชและย่อยสลายดิน หว่านเมล็ดข้าวแห้งหรือยอดเมล็ดเสร็จแล้วคราดกลบ
การเตรียมแปลงนาก่อนปลูกข้าวสำหรับทำนาด้วยวิธีหว่าน
การเตรียมแปลงนาข้าว
การเตรียมแปลงนาข้าวสำหรับทำนาด้วยวิธีปักดำ
การเตรียมแปลงนาข้าว
ในขั้นตอนของการเตรียมดิน จากการถอดองค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้กลุ่มส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านไทรใหญ่เพื่อปลูกข้าว มีการเตรียมดินโดยตีดินด้วยรถปั่นเพื่อให้ตอซังหรือหญ้าต่างๆไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อีก หลังจากการตีดินแล้วขังน้ำไว้ในแปลงนาประมาณ 20 วัน เพื่อให้ตอซังหรือหญ้าเน่าเปื่อยก่อนทำการหว่านข้าว จากนั้นทำการคราดดินและตีเทือก (เกลี่ยดิน) ในแปลงนาให้หน้าดินเรียบเสมอกันและลากทางน้ำ (ระยะห่างระหว่างร่องน้ำประมาณ 5 เมตร) ข้อควรระวัง คือ การหมักตอซังหรือหญ้าต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดโรคของข้าวในแปลงนาได้ แต่สำหรับศูนย์เรียนรู้นายวง เขียวนิล ใช้วิธีสูบน้ำเข้าแปลงนาแช่ไว้ประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นนำรถปั่นนามาตีดินเพื่อให้ตอซังหรือหญ้าต่างๆ ไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่อีกเมื่อตีดินเสร็จแล้วขังน้ำไว้ในแปลงนาอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ตอซังหรือหญ้าเน่าเปื่อยก่อนทำการหว่านข้าว จากนั้นทำการคราดดินและเป๊ (เกลี่ยดิน) ในแปลงนาให้หน้าดินเรียบเสมอกันและลากทางน้ำ (ระยะห่างร่องน้ำประมาณ 5 เมตร) เสร็จแล้วสูบน้ำออกจากแปลงนาแต่ต้องไม่ทำให้ดินแห้งจนเกินไป
• การเตรียมน้ำปลูกข้าว
เนื่องจากพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้กลุ่มส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านไทรใหญ่อยู่ในเขตชลประทานจึงอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน ซึ่งอยู่ด้านหน้าของแปลงนา โดยสูบน้ำเข้าแปลงนา จำนวน 2 ครั้ง/ฤดูกาล สำหรับศูนย์เรียนรู้นายยวง มีการเตรียมน้ำตั้งแต่ช่วงฝนเริ่มตกโดยขังน้ำไว้ในแปลงนาประมาณ 1 เดือน ก่อนทำการตีดิน เวลาผ่านไปน้ำที่ขังไว้ในแปลงนาลดลง จากนั้นสูบน้ำจากในสวนที่เก็บไว้ช่วงฤดูฝนเข้าแปลงนาอีกครั้ง ส่วนใหญ่น้ำที่ใช้เติมลงในแปลงนามาจากการบริหารจัดการน้ำจากสระน้ำขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับเกษตรทฤษฏีใหม่และปลูกข้าวโดยไม่ได้พึ่งพาน้้ำจากระบบชลประทาน
• การคัดเลือกและเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
ในขั้นตอนเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) ความบริสุทธิ์ของเมล็ดที่ดี ไม่มีพันธุ์อื่นผสม ไม่มีเมล็ดวัชพืช และไม่มีโรคแมลงเจือปน
(2) ทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์เสียก่อน เมล็ดพันธุ์ที่ดีควรงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
(3) คัดเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และสม่ำเสมอ โดยการฝัดแยกเมล็ดลีบและสิ่งเจือปนออกทิ้งด้วยด้้วยมือหรือเครื่องคัดเมล็ด อีกวิธีหนึ่งคือการทดสอบในน้ำเกลือ โดยการใช้น้ำสะอาด 10 ลิตร ละลายเกลือกแกงอัตรา 1.7 กิโลกรัม ทดสอบความเข้มข้นโดยใช้ไข่สดลอยในน้ำเกลือ หากมีความเข้มข้นเหมาะสม ไข่จะลอยขึ้นมีขนาดเท่าเหรียญ 5 บาท (มีความถ่วงจำเพาะ 1.08) จากนั้นนำเมล็ดข้าวลงแช่ ถ้าเมล็ดข้าวลอยขึ้นผิวน้ำเกลือแสดงว่าข้าวลีบหรือเมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ ถ้าเมล็ดข้าวจมน้ำแสดงว่าเมล็ดข้าวสมบูรณ์ หลังจากนั้นให้ล้างน้ำเกลือด้วยน้ำสะอาดแล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไป
(4) ในกรณีที่คาดว่ามีโรคบางชนิดติดมากับเมล็ด เช่น โรคถอดฝักดาบ ควรคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคเสียก่อน
การคัดเลือกและเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
การคัดเลือกและเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
• การเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับหว่านข้าวงอก
ให้นำเมล็ดที่คัดได้ใส่ลงถึงผ้าดิบที่น้ำและอากาศสามารถซึมผ่านได้ แช่ในน้ำสะอาดประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วใช้กระสอบป่านหรือผ้าอุ้มน้ำหุ้มคลุมเมล็ดไว้โดยวางในที่ระบายอากาศได้ดี เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมงและหมั่นรดน้ำให้ชุ่มขึ้้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นให้นำไปหว่านลงบนแปลงกล้าที่ได้เตรียมไว้ ก่อนหว่านเมล็ดข้าวงอกลงในแปลงกล้า ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแปลงเพาะกล้าเสียก่อน และใช้ไม้กระดานเกลี่ยแปลงเพื่อกลบปุ๋ยลงไปในดิน ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 50-80 กิโลกรัม/เนื้อที่แปลงเพาะกล้า 1 ไร่ เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ 25-30 วัน นับจากวันหว่าน เมล็ดต้้นกล้าจะมีขนาดโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในการทำนาดำในประเทศไทย หรืออีกวิธีที่สะดวกสะบายในการเพาะและการนำไปปักดำ คือ วิธีเพาะกล้าในถาดเพาะกล้า โดยการเพาะกล้าแผ่นใน ถาดเพาะกล้า แล้วนำกล้าแผ่นไปปักดำโดยรถดำนา
• การเพาะกล้าในดินแห้ง
ในกรณีที่ชาวนาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการตกกล้าในดินเปียก ชาวนาอาจทำการตกกล้าบนที่ดอนซึ่งไม่มีน้ำขัง โดยเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ซึ่งยังไม่ได้เพาะให้งอกไปโรยไว้ในแถวที่เปิดเป็นร่องเล็กๆ ขนาดยาวประมาณ 1 เมตร จำนวนหลายแถว แล้วกลบดินเพื่อป้องกันนกและหนู หลังจากนั้นรดน้ำด้วยบัวรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เมล็ดจะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้าเหมือนกับการตกกล้าในดินเปียก ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 7-10 กรัม/แถวที่มีความยาว 1 เมตรและแถวห่างประมาร 10 เซนติเมตร หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินแล้ว ควรหว่านปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในอัตราต่ำลงไปด้วย
การเพาะกล้าในดินแห้ง
การเพาะกล้าในดินแห้ง
ระยะการเพาะกล้า
ระยะการเพาะกล้า
• การปักดำ
เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน จากการตกกล้าดินเปียกหรือการตกกล้าในดินแห้ง จะโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ ขั้นแรกให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆ ตัดปลายใบทิ้ง ถ้าต้นกล้าเล็กมากไม่ต้องตัดปลายใบทิ้ง สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการเพาะกล้าในดินเปียกต้องล้างเอาดินที่รากออกแล้วจึงเอาไปปักดำในพื้นที่นาที่ได้เตรียมไว้ พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพราะต้นข้าวอาจจะถูกลมพัดจนพับลงได้ ถ้าระดับน้ำในนานั้นลึกมาก ต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และทำให้ต้นข้าวต้องยืดต้นมากกว่าปกติจนมีผลให้แตกกอน้อย การปักดำที่ได้ผลผลิตสูงจะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอและระหว่างแถวประมาณ 25 เซนติเมตร โดยการปักดำมักใช้ต้นกล้าจำนวน 3-5 ต้นต่อกอ
การปลูกข้าวโดยการปักดำนา
การปักดำนา

5. ประเภทการปลูกข้าว

การปลูกข้าวหรือการทำนา สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี ดังนี้

• การปลูกข้าวไร่

การปลูกข้าวไร่ หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอนไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูกเรียกว่า "ข้าวไร่" พื้นที่ดอนส่วนมาก เช่น ภูเขา มักจะไม่มีระดับคือ สูงๆ ต่ำๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดินและปรับระดับดินได้ง่ายๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักปลูกข้าวแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก แล้วจึงทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ลึก 3 เซนติเมตร ปากหลุมกว้าง 1 นิ้ว มีระยะห่าง 25 เซนติเมตร หยอดพันธุ์ข้าวทันทีหลังจากที่เจาะหลุม และหลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วกลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกหรือเมื่อเมล็ดได้รับความชื้นจากดินเมล็ดจะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวเนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขังและไม่มีการชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นหน้าฝน ดังนั้นการปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝนและเก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม พื้นที่ที่ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและปลูกมากในภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางปลูกข้าไร่น้อยมาก

• การปลูกข้าวนาดำ

การปลูกข้าวนาดำ หรือเรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งเป็นสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็กหรือเพาะกล้าในถาดเพาะกล้า และขั้นตอนที่สองได้แก่ การถอนต้นกล้านำไปปักดินในนาผืนใหญ่หรือนำกล้าแผ่นที่ได้จากการเพาะนำไปปักดำโดยรถดำนา โดยการปลูกแบบนี้จำเป็นต้องเตรียมดินที่ดีกว่าการปลูกข้าวไร่ ซึ่งต้องมีการไถดะ ไถแปร และคราด โดยพื้นที่นาดำมีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็กๆ ขนาดแปลงละ 1 ไร่ หรือเล็กกว่า คันนามีไว้เพื่อกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำจึงมีการบังคับน้ำในนาไว้ได้บ้างพอสมควร
วิธีปลูกข้าวนาดำหรือการปักดำ
การปลูกข้าวนาดำ
การปลูกข้าวนาดำโดยรถดำนา
การปลูกข้าวนาดำโดยรถดำนา

• การปลูกข้าวนาหว่าน

การปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในแปลงนาโดยตรงซึ่งได้มีการไถเตรียมดินเอาไว้แล้ว โดยการเตรียมดินก็แบบเดียวกับการปลูกข้าวนาดำ การหว่านแบบนี้นิยมใช้ในพื้นที่มีคันนากั้นเป็นแปลงและมีน้ำขังประมาณ 3-5 เซนติเมตร และพื้นที่นาเป็นผืนใหญ่ขนาดประมาณ 1-2 ไร่ การเตรียมดินทำเหมือนกับการเตรียมดินสำหรับนาดำ ซึ่งมีการไถดะ ไถแปร และคราดเพื่อเก็บวัชพืชออกจากพื้นนาแล้วจึงทิ้งให้ดินตกตะกอนจนเห็นว่าน้ำใส จึงนำเมล็ดพันู์ที่เพาะให้งอกแล้วหว่านลงนาและปล่อยน้ำออก เมล็ดจะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว ซึ่งการหว่านแบบนี้นิยมทำกันเพื่อใช้ปลูกข้าวนาปรัง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านไทรใหญ่เริ่มปลูกข้าวโดยการเตรียมดิน และหลังจากนั้นประมาณ 3 วัน จึงทำการหว่านข้าวที่เตรียมไว้ เช่นเดียวกับศูนย์เรียนรู้นายวง โดยนายวง ฉีดยาคุมหญ้าเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืชด้วยเมื่อหว่านข้าวเสร็จ
วิธีปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวด้วยการหว่านเมล็ด
การปลูกข้าวนาหว่าน

6. การเลือกวันปลูกข้าว

ศูนย์เรียนรู้กลุ่มส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านไทรใหญ่เลือกวันหว่านข้าวในช่วงข้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล โดยเลือกวันที่ดีที่สุดจากตำราฤกษ์ปลูกข้าว (ตามตำราฤกษ์ปลูกข้าว) หากหว่านข้าวในช่วงข้างขึ้นจะทำให้ได้ผลผลิตดี) แต่ศูนย์เรียนรู้นายวง เลือกวันปลูกข้าวโดยพิจารณาจากฤดูกาลของการทำนาข้าวและเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับฤดูกาลนั้นๆ โดยสามารถคำนวณวันเก็บเกี่ยวข้าวได้จากระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เลือก และควรเลือกวันปลูกข้าวโดยคำนวณช่วงข้าวตั้งท้องไม่ให้เผชิญกับภาวะร้อนจัดหรือหนาวจัดซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตน้อย

7. การดูแลรักษาข้าว

การเจริญงอกงามของต้นข้าว แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ได้แก่
ระยะกล้า เริ่มตั้งแต่ข้าวเริ่มงอกจากเมล็ด จนกระทั่งเริ่มแตกกอ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน การดูแลในระยะนี้ หากบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ดีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทำแต่เพียงคอยดูระดับน้ำไม่ให้สูงเกิน และระวังโรคแมลง สัตว์เลี้ยงมากัดทำลายและเหยียบย่ำ
ดูแลระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ
ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ
ระยะแตกกอ เริ่มจากแตกกอไปจนกระทั่งเริ่มสร้างดอก ระยะนี้ใช้เวลาเท่าใดขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ใช้ระยะเวลา 40-60 วัน การดูแลรักษาในระยะนี้ ถ้าบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ดีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทำแค่เพียงคอยดูระดับน้ำไม่ให้สูงเกิน และระวังโรคแมลง แต่ถ้าฉีดพ่นฮอร์โมนน้ำหมักแม่ (น้ำหมักที่ช่วยเร่งดอก บำรุงผล ทำให้โตงาม ได้ผลเร็ว) ด้วย จะช่วยให้แตกกอได้ดี
ระยะแตกกอของข้าว
ระยะแตกกอ
ระยะเริ่มสร้างช่อดอกของข้าว
ระยะเริ่มสร้างช่อดอก
ระยะที่ 2 การเจริญเติบโตทางสืบพันธุ์ เริ่มจากเริ่มสร้างดอก ตั้งท้องออกดอก จนถึงการผสมพันธุ์ ระยะนี้จะใช้เวลาเท่าใดขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ใช้ระยะเวลา 20-30 วัน การดูแลรักษาในระยะนี้ ถ้าบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ให้คอยดูระดับน้ำไม่ให้สูงเกิน และระวังโรคแมลง ถ้ามีการฉีดพ่นฮอร์โมนน้ำด้วยจะช่วยให้ข้าวออกรวงโต
ระยะออกดอกของข้าว
ระยะออกดอก
ระยะน้ำนมและข้าวสุก
ระยะน้ำนมและข้าวสุก
ระยะที่ 3 การเจริญเติบโตทางเมล็ด หลังจากการผสมพันธุ์ของดอกข้าว เมล็ดข้าวจะเริ่มเป็นน้ำนม เป็นแป้ง จนกระทั่งเมล็ดสุก โดยใช้เวลา 25-30 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ข้าว การดูแลรักษาในระยะนี้ควรตัดพันธุ์ข้าวปนออกจากแปลงเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ที่ต้องการอย่างบริสุทธิ์ ให้คอยดูระดับน้ำตอนเมล็ดข้าวกำลังจะสุก เพื่อเพิ่มความหอมให้แก่ข้าวหอมมะลิ 105

• การใส่ปุ๋ย

ศูนย์เรียนรู้กลุ่มส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านใหญ่ และศูนย์เรียนรู้นายวง เริ่มใส่ปุ๋ยเป็นครั้งแรกหลังจากหว่านเมล็ดข้าวประมาณ 15-20 วัน โดยศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านไทรใหญ่ใส่ปุ๋ยอีกครั้งพร้อมกับฉีดยากำจัดแมลงและยาป้องกันโรคของข้าวเมื่ออายุประมาณ 35 วัน แต่ศูนย์เรียนรู้นายวง เริ่มใส่ปุ๋ยหลังจากหว่านเมล็ดข้าวประมาณ 15-20 วัน เนื่องจากเมล็ดข้าวได้ใช้อาหารจากเมล็ดหมดแล้ว และฉีดปุ๋ยน้ำทุกสัปดาห์จนกระทั่งข้าวอายุประมาณ 60-70 วัน

• การจัดการน้ำในนาข้าว

ชุนชนบ้านไทรใหญ่มีการจัดการน้ำในนาข้าวโดยเริ่มปล่อยน้ำเข้าแปลงนาครั้งแรกหลังจากวันที่หว่านข้าวประมาณ 18-20 วัน (หลังจากที่ใส่ปุ๋ยแล้ว) และปล่อยน้ำขังไว้ 7 วัน เพื่อให้ปุ๋ยที่ใส่ไว้ละลายจากนั้นจะปล่อยน้ำเข้าแปลงนาครั้งที่ 2 หลังจากปล่อยน้ำครั้งแรกประมาณ 15-17 วัน และปล่อยน้ำเข้าแปลงนาครั้งสุดท้ายเมื่อข้าวมีอายุประมาณ 45 วัน ซึ่งในครั้งนี้ระดับน้ำต้องมีระดับที่สม่ำเสมอกันและสูงจากพื้นดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยเกษตรกรต้องตรวจสอบระดับน้ำให้คงที่ตลอดเวลาจนกระทั่งข้าวออกรวง

• การป้องกันกำจัดศัตรูพืชและโรคของข้าว

เนื่องจากแปลงนาของชุมชนบ้านไทรใหญ่จะเผชิญกับโรคพืชต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ โรคเชื้อรา โรคกาบใบแห้ง แมลงสิง และเพลี้ยจักจั่นที่คอยดูดน้ำเลี้ยงของข้าวจนต้นข้าวไหม้ตายในช่วงข้าวออกรวงมักประสบปัญหาแมลงเต่าดำกัดคอข้าว ส่งผลให้เมล็ดข้าเป็นสีขาวและลีบ วิธีป้องกันคือหมั่นเดินสำรวจแปลงนาทุกวัน หากพบปัญหาจากแมลงให้ฉีดยากำจัดแมลงทันที แต่แปลงนาของนายวงมักพบโรคข้าวโดยช่วงระยะใบแรกของข้าวมักเจอกับเพลี้ยไฟ ซึ่งสามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น 1) สูบน้ำเข้าแปลงนาให้ท่วมต้นข้าว 2) ฉีดยาสมุนไพรที่สกัดจากใบสะเดาหรือน้ำส้มควันไม้ 3) ปล่อยทิ้งไว้จนพ้นระยะใบแรกของข้าว

8 การเก็บเกี่ยวและจัดการผลผลิตข้าว

การเก็บเกี่ยวและจัดการผลผลิตข้าว
เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว
การเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ในช่วงหลังจากข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน หรือ เมื่อต้นข้าวอายุประมาณ 90 วัน โดยสังเกตจากเมล็ดในวงข้าวส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสีฟาง ชุมชนบ้านไทรใหญ่เก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวโยใช้เครื่องเกี่ยวนวด ซึ่งประหยัดเวลาในการเก็บเกี่ยว แต่เมล็ดข้าวจะมีความชื้นสูงประมาณ 25-30% ซึ่งเกินระดับความชื้นมาตรฐาน เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำเมล็ดข้าวที่ได้ไปตากแดดที่ลานตาก โดยให้ผ่านการตากแดดประมาณ 3 แดด พร้อมกับวัดความชื้นให้อยู่ในระดับมาตรฐานไม่เกิน 10% แล้วนำมาเก็บไว้ในโรงเก็บเป็นเวลา 15-20 วัน หลังจากนั้นเป็นการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์โดยแยกสิ่งปนเปื้อนและบรรจุภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป

การเก็บเกี่ยวและจัดการผลผลิตของนายวง เริ่มตั้งแต่ช่วงข้าวอายุ 60 วัน ซึ่งข้าวจะเริ่มแต่งตัว ใบจะมีลักษณะกลม ต่อมาช่วงข้าวอายุประมาณ 70 วัน ข้าวเริ่มตั้งท้อง ใบจะมีลักษณะเหมือนหางปลาทู ต่อมาข้าวแทงช่อดอกเรียงเสมอกันหมดทั้งแปลงนา หลังจากนั้นข้าวเริ่มก้ม (โค้ง) และเมล็ดข้าวเริ่มแห้งจากปลายถึงโคนต้น หลังจากนั้นอีกประมาณ 20 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ เนื่องจากนายวงไม่ได้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำข้าวไปจำหน่ายให้กับโรงสีข้าวโดยทันที
ลดความชื้นด้วยการพึ่งแดด
ลดความชื้นด้วยการพึ่งแดด
เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเพื่อนำข้าวไปจำหน่าย
นำข้าวไปจำหน่าย
ดังนั้น การปลูกข้าวควรให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยการปลูกข้าวในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างไปตามสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงลักษณะสภาพพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำและคัดพันธุ์ข้าวที่ปลูกให้สอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่และฤดูกาลเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปสีเป็นข้าวสารและนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อทิ ข้าวหอมมะลิพร้อมทาน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147