คุณสมบัติของดินและการให้ปุ๋ยไม้ผลให้เจริญเติบโตได้ดี

สมบัติดินสำหรับปลูกไม้ผลหรือต้นไม้

“ดิน” คือวัสดุธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ ตลอดจนการสลายตัวของซากพืชและสัตว์ ผสมคลุกเคล้ากัน โดยได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม เช่น สภาพภูมิอากาศ สภาพพื้นที่ และระยะเวลาในการพัฒนาที่แตกต่างกัน เกิดเป็นดินหลากหลายชนิด ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเจริญเติบโตของพืช รวมถึงเป็นแหล่งน้ำและอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในดินและบนดิน
ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นดินที่กระจายโดยทั่วไปในบริเวณสันดอนริมน้ำ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ดินดังกล่าวโดยทั่วไปเหมาะสมต่อการปลูกไม้ผล ยกเว้นในบางพื้นที่ที่เป็นที่ลาดชัน ซึ่งมักเป็นดินตื้น เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของรากพืช อย่างไรก็ตามดินปลูกผลไม้โดยทั่วไปมีสภาพเป็นกรดและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

1. ปฏิกิริยา (pH)

สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่จะมีอิทธิพลทางอ้อม คือ ความเป็นกรด-ด่างของดินเป็นตัวเปลี่ยนสภาพต่างๆ ทางชีวภาพและทางเคมีในดิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน ที่พืชจะดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับ pH ของดินเป็นอย่างมาก ธาตุอาหารจะคงสภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ง่าย และมีปริมาณ ที่ pH ช่วงหนึ่ง ถ้าดินมี pH ที่ต่ำหรือสูงกว่าช่วงนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นรูปที่ยากต่อพืชจะดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างค่า pH กับ การละลายตัวของธาตุอาหารในดิน (ในรูปที่ 2) จะเห็นได้ว่าธาตุอาหารละลายตัวได้ดี และครบถ้วยที่สุดในช่วง pH 6.0-7.0 หรือในสภาวะที่ดินมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ เช่นฟอสฟอรัส (P) จะอยู่ในรูปของสารละลายที่พืชนำไปใช้ได้ง่าย เมื่อดินมี pH 6.0-7.0 ถ้าดินมี pH สูง หรือ ต่ำกว่าช่วงนี้ ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสจะลดลง ปุ๋ยฟอสเฟต ที่ใส่ลงไปในดินจะเป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดเมื่อดินมี pH อยู่ในช่วงดังกล่าว ปุ๋ยฟอสเฟตที่ใส่ลงไปในดินจะไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งหมดแต่จะสูญเสียไปโดยทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน และแปรสภาพเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากมากกว่า 80% ที่เรียกว่า ฟอสเฟตถูกตรึง ปุ๋ยฟอสเฟตจะถูกตรึงได้ง่ายและมากขึ้น ถ้าดินมี pH สูง หรือต่ำกว่าช่วง pH ดังกล่าว ดินที่มีค่า pH 5.5-8.5 จะมีธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมจะลดต่ำลงจนพืชแสดงอาการขาดสารอาหาร ดินปลูกไม้ผลส่วนใหญ่มีสภาพเป็นกรด กล่าวคือ ดินมีค่า pH 4.0-5.5 ซึ่งเป็นลักษณะของดินที่พบทั่วไปในภาคใต้ ดินดังกล่าวมักมีอะลูมินัมละลายออกมาในดินมากจนมีผลต่อการเจริญเติบโตของราก ทำให้ลดการดูดน้ำและธาตุอาหารพืชได้ ดังนั้นหากพบว่าดินมี pH ต่ำกว่า 5.0 ควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปูนเพื่อเพิ่มค่า pH ของดิน ซึ่งจะทำให้อะลูมินัมละลายออกมาได้น้อยลง และเป็นการเพิ่มธาตุแคลเซียมซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเปลือกผลของผลไม้ได้
จุลธาตุ (micronutrients) เช่น สังกะสี เหล็ก แมงกานีส โบรอน จะละลายออกมาในสภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ง่าย และพอเพียงกับความต้องการของพืช เมื่อดินมี pH เป็นกรดอ่อนถึงกรดปานกลาง (6.0-7.0) มากกว่าเมื่อดินมี pH เป็นกลาง หรือเป็นด่าง (มากว่า 7.0) แต่โมลิบตินัมจะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ทีขึ้น ถ้าดินมี pH เป็นกลางถึงด่างอ่อน
ความสำคัญของ pH ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน ปกติสารอินทรีย์ในดินจะเน่าเปื่อยผุพัง โดยมีจุลินทรีย์เข้าย่อยสลาย ขณะที่สารอินทรีย์สลายตัว จะมีการปลดปล่อยธาตุอาหารต่างๆ ออกมาซึ่งรากพืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้ ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อใส่ลงไปในดินทำให้พืชงอกงามดีขึ้น ก็เพราะจุลินทรีย์เข้าย่อยสลายทำให้ปุ๋ยอินทรีย์สลายตัว และปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกทีหนึ่ง การที่ปุ๋ยอินทรีย์มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ช้ากว่าปุ๋ยเคมี ก็เพราะปุ๋ยอินทรีย์ต้องรอให้จุลินทรีย์เข้าย่อยสลายก่อน ต่างกับปุ๋ยเคมีที่เมื่อละลายน้ำแล้วพืชก็สามารถดูดซึมธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีไปใช้ได้ทันที จุลินทรีย์ต่างๆ ที่เข้าย่อยสลายปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ ตลอดจนฮิวมัสในดินนั้นจะทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพ เมื่อ pH ของดินมีค่าอยู่ระหว่าง pH 6.0-7.0 ถ้าดินเป็นกรดแก่จัด ถึงกรดแก่จัดรุนแรง จุลินทรีย์ในดินจะทำงานได้ช้าลง ปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ในดินจะสลายตัว และเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ช้ามาก
ความเป็นกรด-ด่างของดินกับการละลายตัวของธาตุอาหารในดิน
รูปที่ 1 ความเป็นกรด-ด่างของดินกับการละลายตัวของธาตุอาหารในดิน

2. อินทรียวัตถุในดิน (organic matter)

ปริมาณอินทรียวัตถุในดินนอกจากจะช่วยทำให้ดินมีสมบัติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรากแก้วแล้ว ยังเป็นแหล่งเพิ่มธาตุอาหารโดยเฉพาะธาตุอาหารเสริมให้กับดินแต่ดินปลูกไม้ผลโดยทั่วไปมีอินทรียวัตถุต่ำ (น้อยกว่า 2%) ดังนั้นเกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งได้จากการนำปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งธาตุอาหารทั้งธาตุหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมแล้ว ยังช่วยดูดซับน้ำและธาตุอาหารจากปุ๋ย ตลอดจนทำให้ดินร่วนซุยเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต่ของรากพืช

3. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน

แม้ว่าดินปลูกไม้ผลส่วนใหญ่จะมีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำกล่าวคือ ดินมีธาตุอาหารที่พืชต้องการมาก ได้แก่ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมต่ำแต่จากการศึกษาสมบัติของดินปลูกไม้ผล พบว่า ดินในบริเวณใต้ร่มเงาซึ่งมีการใส่ปุ๋ยมีการสะสมของธาตุอาหารสูงกว่าดินนอกร่มเงา โดยเฉพาะฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีค่าสูงมาก (รูปที่2) ทังนี้เพราะเกษตรกรเชื่อว่าการใส่ปุ๋ยผสมที่มีฟอสฟอรัสสูงกับไม้ผลแล้ว จะส่งเสริมให้ไม้ผลออกดอกได้ดี ส่วนโพแทสเซียมพบว่ามีการสะสมเช่นกัน (รูปที่ 3) และถ้าหากในดินมีโพแทสเซียมสูงก็ทำให้พืชดูดแมกนีเซียม และแคลเซียมลดลงได้
การสะสมฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินปลูกไม้ผล
รูปที่ 2 การสะสมฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินปลูกไม้ผล
การสะสมโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ในดินปลูกไม้ผล
รูปที่ 3 การสะสมโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ในดินปลูกไม้ผล

การปรับปรุงดินในสวนไม้ผล

1. การปรับปรุงสมบัติดินทางกายภาพ

สมบัติทางกายภาพของดิน หมายถึง สมบัติของดินที่เป็นสิ่งที่เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยการมองเห็นหรือจับต้องได้ เช่น เนื้อดิน ความโปร่งหรือความแน่นทึบของดิน ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินและสีของดิน เป็นต้น
ปัญหาการเสื่อมลงของดินอันเนื่องมาจากภาคการเกษตรที่ได้ทำการเพาะปลูกพืช และมีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยขาดการดูแล บำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดปัญหาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินและโครงสร้างของดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตมรสุม อากาศร้อน และมีฝนตกชุก เป็นสภาพที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำให้อินทรียวัตถุสลายตัวสูญหายไปจากดินได้อย่างรวดเร็ว และการทำการเกษตรเพาะปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันทุกๆ ปี การไถพรวนดินในขณะที่ดินมีความชื้นไม่เหมาะสม แห้งหรือเปียกเกินไปหรือไถพรวนที่ระดับความลึกเดียวกันตลอด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สมบัติทางกายภาพของดินเสียไป
การปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินด้วยวัสดุอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยรักษาและปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ จากการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยเฉพาะดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ดินทราย เมื่อใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น โดยเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำและปุ๋ยเคมีไว้ให้พืชใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมี ในกรณีของดินเหนียวจัด ที่อนุภาคของดินจับตัวกันแน่นทึบ มีการระบายอากาศและน้ำในดินไม่ดี รากพืชหรือพืชหัวบางชนิดไม่สามารถจะแผ่ขยายและชอนไชลงไปในดินได้ ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยทำให้เนื้อดินมีความร่วนซุย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน โครงสร้างของดินไม่แน่นทึบ มีการถ่ายเทอากาศ ระบายน้ำดีขึ้น น้ำไม่ขังและลดการไหลบ่าหน้าดินของน้ำ
การเพิ่มอินทรียวัตถุ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อให้ดินมีสภาพร่วนซุยและลดพิษของธาตุอลูมินัมที่ละลายออกมากในดินที่เป็นกรด ดังนั้นจึงทำให้ดินมีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรากทำให้รากดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารเนื่องจากการชะล้างได้อีกด้วยสำหรับไม้ผลที่ให้ผลผลิตแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะหลังเก็บเกี่ยวประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี โดยการหว่านภายใต้ร่มเงาของไม้ผล
ดังนั้น ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ส่วนใหญ่สามารถปรับปรุงสมบัติทางกายภาพและชีวภาพของดิน และส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี จึงควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาวะและระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่อพืช

2. การปรับปรุงสมบัติทางเคมีดิน

สมบัติทางเคมีของดินจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีต่างๆ ในดิน ได้แก่ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดิน ปริมาณความต้องการปูน (line requirement) ค่าการนำไฟฟ้าของดิน (electrical conductivity) ความจุแลกเปลี่ยนแคตไอออน (cation exchange capacity) อัตราร้อยละความอิ่มตัวเบส (base saturation percentage) เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นกรด-ด่าง ของดินมีผลต่อการละลายได้และการเปลี่ยนรูปที่เป็นประโยชน์ของแร่ธาตุต่างๆ ในดินต่อพืช รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งจะทำงานได้ดีในช่วง pH ที่เป็นกรด-ด่างเล็กน้อย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงดิน ดังนี้
ดินที่สภาพเป็นกรดมากๆ จะเป็นดินที่มีปัญหาทางการเกษตรในการแก้ไขและปรับปรุงดินต้องใช้สารที่เป็นด่าง หรือทำให้เกิดด่างเมื่อใส่ลงไปในดิน เพื่อลดปริมาณกรดในดิน เรียกว่า ปูน (line)
ปูนทางการเกษตร หมายถึง สารประกอบออกไซด์ ไฮดรอกไซด์ และคาร์บอเนตของแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป ได้แก่ ปูนขาว (แคลเซียมไฮดรอกไซด์) หินปูนบด (แคลเซียมคาร์บอเนต) ใช้ในการแก้ไขดินกรดเมื่อนำปูนใส่ลงดินแล้วสามารถยกระดับ pH ให้เป็นกลาง โดยใส่ตามปริมาณความต้องการปูน (lime requirement) คือ ปริมาณด่างที่พอเหมาะเพื่อใช้ในการแก้ความเป็นกรดของดินที่ รายงานโดยห้องปฏิบัติการ เป็นค่าที่ประเมินว่าต้องใช้ปูนในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนตจำนวนเท่าไร ที่จะปรับค่า pH ของดินให้อยู่ในระดับ 6.5 ที่ระดับชั้นความลึก 0-15 เซนติเมตร ซึ่งพืชอายุสั้นสามารถนำค่านี้มาใช้ได้โดยตรง แต่ถ้าเป็นไม้ยืนต้น เช่น ผลไม้ จะต้องปรับค่าตามพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม โดยใช้ขนาดรัศมีทรงพุ่มเป็นเกณฑ์
การใส่ปูน ในดินที่มี pH ต่ำกว่า 5 ซึ่งถือว่าเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช ดินมีอลูมินัมสูง แต่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำ แม้ว่าไม้ผลยังเจริญเติบโตอยู่ได้แต่ก็ควรใส่ปูนเพื่อปรับ pH ให้อยู่ในช่วง 5-6.5 อย่างไรก็ตามในการปรับ pH ในสภาพแปลงปลูกให้ได้ค่าที่แน่นอนนั้นทำได้ยาก โดยทั่วไปการใส่ปูนโดโลไมท์ต้นละ 3-5 กิโลกรัม ทุกๆ 2-3 ปี แม้ว่าทำให้ค่า pH ของดินไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จะช่วยลดพิษของอลูมินัม และช่วยทำให้เพิ่มแคลเซียมและแมกนีเซียมให้กับดิน
การใส่ยิปซัม เนื่องจากการใส่ปูนจะได้ผลเฉพาะส่วนของดินบนที่สัมผัสกับปูนโดยตรง แต่การใส่ยิปซัมซึ่งเป็นสารประกอบแคลเซียมซัลเฟตนั้น สามารถจะลดพิษของอลูมินัมที่อยู่ในดินชั้นล่างได้ เพราะยิปซัมละลายน้ำได้ดีกว่าปูนจึงถูกชะล้างลงสู่ดินด้านล่างได้ ซึ่งการใส่ยิปซัมทำให้รากพืชเจริญเติบโตในดินล่างได้เพิ่มขึ้นทำให้ดูดน้ำและธาตุอาหารได้มากขึ้น ในปัจจุบันจึงมีการใส่ยิปซัมกับไม้ผลกันมากขึ้น โดยใส่ต้นละประมาณ 2-5 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี การใส่ยิปซัมนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า pH ของดินน้อยมากและหากใส่มากเกินไปก็มีผลกระทบต่อพืชน้อยกว่าการใส่ปูน นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มแคลเซียมและกำมะถันได้ด้วย

ความต้องการธาตุอาหารและแนวทางการจัดการปุ๋ย

การทำสวนไม้ผลเจ้าของสวนต้องการให้ไม้ผลออกดอกติดผลอย่างสม่ำเสมอทุกปี การจัดการธาตุอาหารเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสร้างความสมบูรณ์ของต้นให้พร้อมที่จะออกดอก ตลอดจนมีอาหารสะสมเพื่อบำรุงผลให้ได้ขนาดและคุณภาพดี ในการจัดการธาตุอาหารพืชหรือการใส่ปุ๋ยนั้น ทำได้โดยการใส่ปุ๋ยทางดิน พ่นปุ๋ยทางใบ และให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำ

1. การใส่ปุ๋ยในระยะก่อนให้ผล

การปลูกในปีแรก ควรใส่ปุ๋ยและทำโคน จำนวน 4 ครั้ง (การทำโคน หมายถึง การกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม ถากดินรอบนอกทรงพุ่มมาพูนกลบใต้ทรงพุ่มในลักษณะลาดเอียงจากต้นพันธุ์ออกไปโดยรอบและหลีเลี่ยงการถาดดินบริเวณโคนต้นเพราะระบบรากทุเรียนที่อยู่ค่อนข้างตื้นใกล้ผิวดินจะได้รับอันตรายและชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้โรครากเน่าโคนเน่าเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น) โดยควรใส่ปุ๋ยและทำโคนครั้งที่ 1 หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน และควรใส่ปุ๋ยและทำโคนเดือนเว้นเดือน โดยในแต่ละครั้งควรใส่ปุ๋ยในปริมาณ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ถึง 3 ใส่ปุ๋ยคอก จำนวน 5 กิโลกรัมต่อต้น ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้นร่วนกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 150-200 กรัมต่อต้น สำหรับปีต่อไป ควรใส่ปุ๋ยและทำโคนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและหลังฤดูฝน โดยควรใส่ปุ๋ยในปริมาณดังนี้
ปุ๋ยคอก อัตราเป็นบุ้งกี๋ต่อต้นต่อปี เท่ากับ 2 เท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยคอกปีละ 6 บุ้งกี๋ หรือ 13.5 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง (2.25 กิโลกรัม = 1 บุ้งกี๋)
ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรากิโลกรัมต่อต้นต่อปี เท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 3 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี
การจำแนกของธาตุอาหารของพืช
รูปที่ 4 การจำแนกธาตุอาหารพืช

2. การใส่ปุ๋ยในระยะให้ผลผลิต

ความต้องการธาตุอาหารของไม้ผลขึ้นอยู่กับวงจรการเจริญเติบโตทางสรีรวิทยา ซึ่งประกอบด้วยระยะการเจริญเติบโตที่สำคัญ 3 ระยะในแต่ละลอบปี การใส่ปุ๋ยและธาตุอาหารกับไม้ผล จึงต้องสัมพันธ์กับความต้องการธาตุอาหารในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ดังนี้
1. ระยะการเจริญเติบโตของลำต้น ใบ และกิ่งก้านสาขา ซึ่งมีการแตกใบอ่อนพร้อมกันทั้งต้นประมาณ 2-3 ชุด สำหรับสร้างอาหารสะสมไว้ใช้ในการออกดอกและให้ผลผลิต ระยะนี้ไม้ผลมีความต้องการไนโตรเจนสูง จึงควรเน้นการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและควรแบ่งปุ๋ยออกเป็น 3 ส่วน ใส่เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อลดการชะล้างปุ๋ย
2. ระยะออกดอก เป็นระยะต่อจากปลายฤดูฝนในช่วงต้นฤดูหนาว เป็นช่วงการพักตัวก่อนออกดอก การใส่ปุ๋ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอกควรกระทำก่อนวันออกดอกประมาณ 1 เดือน ระยะนี้ไม้ผลมีความต้องการฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ในสัดส่วนที่สูงกว่าไนโตรเจน เพื่อใช้ในกระบวนการถ่ายเทพลังงานในกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาตาดอกของไม้ผล
3. ระยะติดผลและระยะพัฒนาการของผล เป็นระยะที่ไม้ผลมีความต้องการธาตุโพแทสเซียมมากกว่าไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เพื่อช่วยในการเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรต จากใบ กิ่ง และลำต้น ไปตามท่ออาหารไปเลี้ยงผลอ่อนให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ และปรับปรุงคุณภาพในด้านรสชาติให้ดีขึ้นจึงควรใส่ปุ๋ยครั้งแรกระยะที่เริ่มออกดอกติดผลอ่อน และครั้งที่สองก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 2 เดือน

2.1 การใส่ปุ๋ยทางดิน

วิธีการจัดการปุ๋ยในระยะหลังเก็บเกี่ยว ปริมาณธาตุอาหารที่สะสมในผลผลิตไม้ผลทั้งหมดจะสูญเสียโดยติดไปกับผลผลิต ดังนั้นหากไม่มีการใส่ปุ๋ยก็ทำให้ธาตุอาหารในดินหรือความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงเรื่อยๆ โดยทั่วไปแล้วหากมีการให้ผลผลิตมากเกินไปก็จะทำให้ธาตุอาหารต่างๆ ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม สูญเสียไปกับผลผลิตจนอาจจะเหลือในใบไม่เพียงพอกับพืช ยากที่จะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกดอกในปีถัดไป โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบทั้งสามธาตุนี้อย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ธาตุอาหารเสริมซึ่งปกติมีอยู่น้อยในดินและมักจะไม่มีการใส่เพิ่มเติมในรูปของปุ๋ย ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยวแล้วควรมีการตัดแต่งกิ่ง ควรหว่านปูนโดโลไมท์ 5-10 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อลดความเป็นกรดของดินและเพิ่มธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม โดยก่อนใส่ปุ๋ยประมาณ 20-30 วัน และใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารต่างๆ ครบทุกธาตุ โดยใส่ประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
ในกรณีที่มีการสะสมของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในดินมากอยู่แล้วก็ควรจะใส่เฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย (40-0-0) อัตรา 300-600 กรัมต่อต้น หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 700-1,400 กรัมต่อต้น เมื่อฝนตกมีวัชพืชขึ้นก็ควรตัดหรือฉีดพ่นยา โดยปล่อยให้ซากพืชคลุมดินไว้ และถ้ามีการแตกกิ่งใหม่ในทรงพุ่มก็ต้องตัดออก
วิธีการจัดการปุ๋ยในระยะก่อนออกดอก ในระยะก่อนออกดอก ควรกวาดวัสดุคลุมที่คลุมดินออกจากบริเวณโคนต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความแห้งแล้งและลดการดูดไนโตรเจน ในระยะนี้ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่ให้ไนโตรเจนมาก เพราะจะส่งเสริมการเจริญด้านกิ่งก้านและใบ ในระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส โดยในดินทรายหรือดินร่วนปนทรายจะใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 และในดินเนื้อละเอียดสูตร 12-24-12 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้นแล้วงดการให้น้ำประมาณ 20-30 วัน ในระหว่างนี้ปกติจะมีฝนตกลงมาเป็นครั้งคราว ซึ่งจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้มีการแทงช่อดอก ซึ่งดอกเกิดพร้อมๆ กับการแตกยอดใหม่ หากไม่มีก็ต้องรดน้ำ และหลังจากไม้ผลแทงช่อดอกแล้วก็ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและคลุมดิน อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้ดินมีการสะสมฟอสฟอรัสสูงมาก ดังนั้นหากมีระดับธาตุอาหารในดินสูง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น และยังทำให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุอื่น เช่น สังกะสีลดลงได้จากการศึกษาในทุเรียนและลองกองพบว่า ในสวนผลไม้ที่มีฟอสฟอรัสสูง การใส่และไม่ใส่ปุ๋ยผสมสูตร 8-24-24 ก็ทำให้ทุเรียนและลองกองออกดอกได้ไม่ต่างกัน
วิธีการจัดการปุ๋ยในระยะหลังติดผล หลังจากไม้ผลติดผลแล้ว ต้องได้รับน้ำและธาตุอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์เพื่อที่จะสร้างอาหารให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาผลผลิต หลักการสำคัญคือการจัดการให้ผลอ่อน มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการชะงัก หรือชะลอการพัฒนาอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การส่งธาตุอาหารในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งผลิตในต้นไปเลี้ยงผลอ่อนไม่เพียงพอ การขาดน้ำ หรือสาเหตุอื่นๆ
การใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของผลจะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพได้ในระยะนี้ธาตุโพแทสเซียมมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงเพื่อไปใช้ที่ผล ดังนั้นเมื่อผลมีอายุระหว่าง 5-6 สัปดาห์ หลังดอกบาน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม และใส่ปุ๋ยเมื่อผลมีอายุ 10-11 สัปดาห์ หลังดอกบาน เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพื่อขนาดเนื้อผล ทำให้รสชาติดีและสุกแก่ได้เร็วขึ้นควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น

2.2 การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ

การปลูกไม้ผลในปัจจุบันในบางพื้นที่อาจมีความจำเป็นต้องพ่นปุ๋ยจุลธาตุทางใบเพื่อแก้ไขหรือป้องกันการขาดแคลนของธาตุอาหารบางชนิด เช่น เหล็ก สังกะสี และทองแดง หรืออาจพ่นปุ๋ยยูเรียเพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน หรือการพ่นปุ๋ยที่มีธาตุแคลเซียมและโบรอนเพื่อ ส่งเสริมการติดผลและป้องกันผลร่วง ในการใช้ปุ๋ยทางใบ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ หากใช้ปุ๋ยมากเกินไปจะทำให้ใบไหม้ และอาจรุนแรงทำให้ใบและผลร่วงได้ ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องเป็นคนช่างสังเกตและพิจารณาดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่
ตัวอย่างเช่นต้นทุเรียนที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน ใบจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ แผ่นใบและเส้นกลางใบจะเหลืองซีดทั้งแผ่น โดยทั่วไปใสส่วนอื่นของลำตันจะมีสีเขียวและลักษณะเป็นปกติ ซึ่งเป็นอาการขาดธาตุเหล็กถ้าใบเพสลาด มีอาการเหลืองที่แผ่นใบ แต่เส้นกลางใบจะเขียวลักษณะคล้ายใบหอก คือ แถบกว้างจากขั้วใบแล้วเรียวแหลมไปจนถึงปลายใบ ซึ่งอาการขาดธาตุแมกนีเซียม อาจพลอาการทั้ง 2 ประเภทผสมผสานกันอยู่ในต้นเดียวกัน โดยมากจะพบในต้นทุเรียนที่ปลูกในดินร่วนปนทรายหรือดินทราย ที่มีธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กค่อนข้างต่ำ ต้นทุเรียนที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเหสลาดข้างต้นเกิดจากการจัดการบางอย่างผิดพลาด คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย เร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านสาขาโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยที่มีธาตุรอง หรือธาตุเสริมร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของยอดเกิดขึ้นมาก ธาตุไนโตรเจนที่มีมากเกินไปจะลดอัตราการดูดซึมซับธาตุแมกนีเซียมลง และเมื่อต้นทุเรียนขาดธาตุแมกนีเซียมก็จะมีผลทำให้ธาตุเหล็กมีประโยชน์ลดลงด้วย จึงทำให้ต้นทุเรียนแสดงอาการขาดทั้งธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กไปพร้อมๆ กัน ในกรณีที่เกิดอาการใบเหลืองดังกล่าว อาการใบเหลืองจะสามารถหายได้เองเมื่อใบแก่ขึ้น แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจทำให้เกิดปัญหาในการเตรียมความพร้อมของต้นให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการออกดอกได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กในอัตราสูง อย่างไรก็ตามปัญหาต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาด ควรแก้ปัญหาโดยวิธีป้องกันจะเหมาะสมกว่า กล่าวคือ ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ

2.3 การให้ปุ๋ยทางน้ำ

การให้ปุ๋ยทางน้ำ เป็นการให้ปุ๋ยโดยผสมปุ๋ยที่สามารถละลายได้หมดลงไปในระบบน้ำเมื่อพืชดูดน้ำก็ดูดธาตุอาการพืชเข้าไปพร้อมกับน้ำ ในสวนที่มีการลงทุนระบบน้ำไปแล้วโดยเฉพาะการให้น้ำแบบระบบฉีดฝอยสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้ปุ๋ยในระบบน้ำ เพราะนอกจากจะลดแรงงานในการใส่ปุ๋ยปุ๋ยแล้วยังลดการชะล้างของปุ๋ยในเขตรากพืช ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช การใช้ปุ๋ยในระบบน้ำนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยทุกชนิด อาจให้เพียงบางธาตุก็ได้ เช่น ดินที่มีการสะสมฟอสฟอรัสมากแล้ว ก็ให้ปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมในระบบน้ำ ในปัจจุบันได้มีการทดลองให้ปุ๋ยในระบบน้ำกับไม้ผลบางชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด และมะม่วง ซึ่งพบว่าได้ผลดีเช่นเดียวกับการให้ปุ๋ยทางดิน แต่สามารถจะลดค่าปุ๋ยลงได้ 15-30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามการให้ปุ๋ยแบบนี้เกษตรกรต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบน้ำและความต้องการธาตุอาหารของพืช และ ปุ๋ยเป็นอย่างดี

การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและพืช

วิธีการใส่ปุ๋ยกับไม้ผล โดยเน้นการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงในช่วงบำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงในระยะก่อนออกดอก และเน้นปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงในระยะหลังติดผล แต่เมื่อมีการใส่ปุ่ยดังกล่าวซ้ำๆ กันทุกปีย่อมทำให้มีการสะสมธาตุอาการบางตัวโดยเฉพาะฟอสฟอรัสมาก ซึ่งอาจจะลดความเป็นประโยชน์ของสังกะสีและทองแดง นอกจากนั้นถ้าหามมีการสะสมโพแทสเซียมมากก็จะลดการดูดแมกนีเซียม ดังนั้นการนำผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินและพืช มาพิจารณาเพื่อกำหนดชนิดและอัตราปุ๋ยจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ควรใช้ค่าวิเคราะห์พืชและค่าวิเคราะห์ดินมาเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจในการใส่ปุ๋ยเนื่องจาก ค่าวิเคราะห์พืชบอกให้ทราบถึงความเข้มข้นของธาตุอาหารในใบพืช ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการดูดธาตุอาหารของพืช ส่วนค่าวิเคราะห์ดินบอกให้ทราบว่าดินมีธาตุอาหารพืชอยู่แล้วมากน้อยเพียงใด และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมจะปรับปรุงดินอย่างไรเพื่อให้ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่แล้วในดินรวมทั้งปุ๋ยที่จะต้องใส่เพิ่มให้กับดินอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดแต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างดินและใบ

1. การเก็บตัวอย่างดิน

การเก็บตัวอย่างดินในสวนไม้ผลเพื่อวิเคราะห์สมบัติทางเคมี ควรเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ใต้ร่มเงาที่ความลึก 0-15 เซนติเมตร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการใส่ปุ๋ยเปรียบเทียบกับตัวอย่างดินในบริเวณนอกร่มเงา ซึ่งได้รับอิทธิพลของปุ๋ยน้อย การเก็บตัวอย่างให้เก็บจากต้นที่มีการเจริญเติบโตและมีการดูแลรักษาใกล้เคียงกัน เช่น การใส่ปุ๋ยและให้น้ำเหมือนกัน โดยกวาดเศษพืชปุ๋ยหรือวัสดุอื่น ที่สะสมในจุดที่จะเก็บแล้วใช้จอบหรือเครื่องมือที่สามารถเจาะความลึกที่เก็บ คือ 0-15 เซนติเมตร จากใต้ร่มเงาไม้ผล 10-20 ต้น ต้นละ 1-2 จุด นำดินแต่ละจุดมาผสมกัน แล้วแบ่งใส่ถุงพลาสติกเพื่อส่งวิเคราะห์ประมาณ 1 กิโลกรัม ส่วนดินที่เก็บนอกร่มเงาในแต่ละจุดก็นำมาผสมแบบเดียวกัน บันทึกรายละเอียดตัวอย่าง ได้แก่ ชื่อเจ้าของ ดินใต้ร่มเงาหรือนอกร่มเงา สถานที่ ประวัติการใช้ปุ๋ยและการปรับปรุงดิน เพื่อส่งห้องปฏิบัติวิเคราะห์ดิน
การเก็บตัวอย่างดินในสวนไม้ผลเพื่อนำไปวิเคราะห์
รูปที่ 5 การเก็บตัวอย่างดินในสวนไม้ผลเพื่อนำไปวิเคราะห์
ในดินปลูกไม้ผลจะมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณธาตุอาหารที่สัมพันธ์กับปริมาณการใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องกันทุกๆ ปี ทำให้มีการสะสมอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เช่น ในภาคตะวันออกในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด เมื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินเดิมนอกทรงพุ่มไม้ผล พบว่า มีปริมาณอินทรีย์วัตถุ 1.62% ฟอสฟอรัส 9 มก./กก. และโพแทสเซียม 21 มก./กก. แต่ในดินบริเวณทรงพุ่ม พบว่า มีปริมาณอินทรียวัตถุ 3.55% ฟอสฟอรัส 109มก./กก. และโพแทสเซียม 168 มก./กก. เห็นได้ชัดว่ามีการสะสมอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมมากขึ้น อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม พบว่า pH มีค่าลดต่ำลงจาก pH 4.67 ลดลงเป็น pH 3.86 การใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำปกติที่ประเมินจากอายุของไม้ผลจึงไม่น่าจะถูกต้อง ควรวิเคราะห์ดินประกอบการพิจารณาจัดธาตุอาหารให้เหมาะสมกับสถานะของปริมาณธาตุอาหารในดินที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ควรมีการวิเคราะห์ใบประกอบไปด้วยเป็นครั้งคราว เพื่อให้มีการใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดกับไม้ผล

2. การเก็บตัวอย่างใบ

หลักสำคัญในการเก็บตัวอย่างใบ คือ ต้องเป็นใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วไม่เป็นใบอ่อนหรือแก่เกินไป ในไม้ผลโดยทั่วไปจะเป็นใบที่มีอายุ 4-7 เดือน โดยเก็บใบจาก 20-30 ต้น แล้วนำมารวมกัน เพื่อส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร หรือตามมหาวิทยาลัย ส่วนตำแหน่งใบที่เก็บตัวอย่างนั้นไม้ผลแต่ละชนิดต่างกันออกไป โดยทุเรียนให้เก็บจากใบที่ 2 หรือ 3 เมื่ออายุ 5-7 เดือน หรือช่วงประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม จากกิ่งที่สูงระดับกลางๆ ทรงพุ่ม

3. การแนะนำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและพืช

การนำการวิเคราะห์ดินและพืชมาประกอบการพิจารณาในการใช้ปุ๋ยจะช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ทำให้ทราบชนิดของธาตุหรือปุ๋ยที่จำเป็นต้องใส่ลงไปให้เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นปุ๋ยที่ใช้ได้จากการประเมินตามค่าวิเคราะห์ดินและพืช โดยได้คำนึงว่าธาตุอาหารมีอยู่แล้วในดินมากน้อยเพียงใด หรือมีธาตุใดในพืชที่อยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ การวิเคราะห์ดินทำให้ทราบว่าดินมีสมบัติเหมาะสมและมีการสะสมของธาตุอาหารในดินมากน้อยแค่ไหน ส่วนการวิเคราะห์พืชจะทำให้ทราบว่าระดับธาตุอาหารในพืชนั้นมีอยู่น้อย เพียงพอ หรือมากเกินไป ทำให้ทราบว่าต้องมีการปรับปรุงดินหรือต้องใส่ปุ๋ย หรือธาตุชนิดใดให้กับพืช และถ้าธาตุนั้นๆ สูงกว่าระดับเหมาะสมก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ทำให้ประหยัดค่าปุ๋ย และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืช
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและพืช
รูปที่ 6 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและพืช

สรุป

ดินทีปลูกต้นไม้ผลโดยทั่วไปมีสภาพเป็นกรด มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารต่ำ จึงควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปูนหรือยิปซัม และปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลแต่การใส่ปุ๋ยซ้ำๆ กันทุกปีทำให้เกิดการสะสมของธาตุบางธาตุมากเกินไป โดยเฉพาะฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมซึ่งอาจทำให้ลดความเป็นประโยชน์ของธาตุอื่นได้ ดังนั้น ควรเก็บตัวอย่างดินและใบพืชส่งวิเคราะห์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ผลการวิเคราะห์อาหารในดินและพืชมาพิจารณาว่าควรปรับปรุงดินและใส่ปุ๋ยชนิดใด ปริมาณเท่าไร ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของพืช ทำให้ประหยัดค่าปุ๋ยที่ใช้เกินความจำเป็น และป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืช ที่อาจจะส่งผลต่อความไม่สมบูรณ์ของต้น การออกดอก ตลอดจนการพัฒนาของผล
การจัดการธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมเป็นเรื่องค่อนข้างยากและสลับซับซ้อน การจัดการที่ไม่ถูกต้องจะทำให้สูญเสียเงินซื้อปุ๋ย มีผลเสียต่อการให้ผลผลิตของพืชและมีผลกระทบต่อสมบัติของดิน วิธีการแก้ปัญหาที่ดี คือ ควรมีการวิเคราะห์ดินและใบพืช เพื่อนำไปว่างแผนใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่จะต้องตระหนักอยู่เสมอ คือ ต้นไม้ผลในส่วนจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์และสามารถให้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่ดี ภายใต้การจัดการต้นทุนที่เหมาะสม
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147