สารอาหารหรือธาตุอาหารพืชที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต

ธาตุอาหารพืช หมายถึง ธาตุที่พืชต้องการ หรือ สารอาหารที่พืชต้องการ เพื่อดำรงชีพ ธาตุเหล่านี้มีบทบาทในการะบวนการเมตาบอลิซึม อย่างเฉพาะเจาะจงในพืช ไม่มีธาตุอื่นใดทำหน้าที่แทนได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อขาดธาตุใดธาตุหนึ่งจะชะงักการเจริญเติบโต มีอาการผิดปกติที่เป็นลักษณะเฉพาะ และอาจฟื้นตัวได้เมื่อได้รับปุ๋ยซึ่งมีธาตุนั้นๆ จนเพียงพอ

ความต้องการธาตุอาหารพืช

ธาตุที่เป็นสารอาหารพืชมีทั้งหมด 17ธาตุ ซึ่งจะมี 3 ธาตุที่พืชจะได้รับจากอากาศและน้ำคือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช ซึ่งพืชจะได้รับจากดินมี จำนวน 14 ธาตุ แบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
ธาตุหลัก เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากและมักขาดแคลนในดินทั่วไปจึงต้องใส่ลงไปในรูปแบบของปุ๋ย มี 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม

ธาตุอาหารหลักของพืช

ธาตุหลัก เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากและมักขาดแคลนในดินทั่วไปจึงต้องใส่ลงไปในรูปแบบของปุ๋ย มี 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม

ธาตุไนโตรเจน

• ไนโตรเจนมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืชใน การออกดอก การติดผล การเจริญเติบโตของผลและคุณภาพผล
• ไนโตรเจนเป็นธาตุที่เปลี่ยนรูปและสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ดินส่วนใหญ่จึงมีไนโตรเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่มากหรือน้อยไปจะเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต เช่น ถ้าใส่ไนโตรเจนมากเกินไปพืชจะเจริญเติบโตทางใบและกิ่งก้านมากเกินไปทำให้ออกดอกช้า ทำให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่กว่าปกติในบางพืชทำให้เนื้อผลนิ่มช้ำง่าย ผลแก่ช้า
• เนื่องจากไนโตรเจนเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายง่านในพืช เมื่อพืชขาดธาตุไนโตรเจน ไนโตรเจนก็จะเคลื่อนย้ายจากใบล่างๆ ขึ้นไปยังส่วนยอด อาการใบเหลืองเพราะขาดธาตุไนโตรเจนจึงแสดงให้เห็นในใบล่างๆ

ธาตุฟอสฟอรัส

• ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีบทบาทสำคัญมากับพืช แต่พืชต้องการฟอสฟอรัสในปริมาณไม่มากเหมือนกับไนโตรเจนและโพแทสเซียม
• ถ้าพืชมีฟอสฟอรัสสะสมในใบมากเกินไป พืชมักจะแสดงอาการขาดจุลธาตุ ส่วนการที่มีฟอสฟอรัสในดินมากเกินไป ฟอสฟอรัสจะทำปฏิกิริยาตกตะกอนกับจุลธาตุ โดยเฉพาะสังกะสี เหลัก และ แมงกานิส ทำให้พืชไม่สามารถดูดจุลธาตุเหล่านี้ไปใช้ได้ พืชจึงแสดงอาการขาดจุลธาตุ แม้ว่าจะใส่จุลธาตุเพิ่มให้ทางดินก็จะไม่ได้ผลเพราะจะตกตะกอนกับฟอสฟอรัสได้ต่อไปอีก วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ ต้องลดการใช้ฟอสฟอรัสลง
• การประเมินสถานะของฟอสฟอรัสในไม้ผลที่เหมาะสมที่สุดจึงควรมีการวิเคราะห์ดินเพื่อให้ทราบว่ามีฟอสฟอรัสในดินในปริมาณที่เพียงพอแล้วหรือไม่ และจำเป็นต้องวิเคราะห์ใบควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ทราบว่าพืชมีความสามารถดูดฟอสฟอรัสไปใช้มากน้อยอย่างไร ทั้งนี้ถ้าพืชมีระบบรากดี และแผ่ขยายไปหาอาหารได้มากก็จะสามารถดูดธาตุฟอสฟอรัสไปใช้ได้มาก และหากมีการปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสมจะทำให้พืชดูดฟอสฟอรัสไปใช้ได้มากขึ้น ฟอสฟอรัสสูญหายไปจากกินค่อนข้างยาก เมื่อมีการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ทำให้ฟอสฟอรัสมีการสะสมในดินจากผลการศึกษา พบว่าในดินมีการสะสมฟอสฟอรัสสูงเกินความต้องการของพืช พืชจะแสดงอาการขาดสังกะสี เหล็ก และแมงกานิส ทั้งนี้ผลการศึกษาที่พบว่าไม้ผลที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสตลอดทั้งปี ในดินมีการสะสมฟอสฟอรัสสูงสามารถที่จะออกดอกและติดผลได้เท่ากับต้นที่ใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ดังนั้นถ้าใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสลดลงจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะปุ๋ยฟอสฟอรัสมีราคาแพง นอกจากนั้นแล้วการจัดการธาตุฟอสฟอรัสที่เหมาะสม จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีเพราะมีผลให้พืชได้รับจุลธาตุอย่างเพียงพอ

ธาตุโพแทสเซียม

• โพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นมากสำหรับไม้ผล เพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักจะให้ผลขนาดเล็ก สีผิวไม่สวยรสชาติไม่ดี ทั้งนี้โพแทสเซียมไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการติดผลแต่เกี่ยวข้องโดยอ้อม เนื่องจากพืชที่ขาดโพแทสเซียมจะมีความแข็งแรงสมบูรณ์ลดลง
• ดินที่เป็นกรดจัด มีเนื้อหยาบ และมีฝนตกชุก จึงมีการชะล้างหรือสูญเสียของโพแทสเซียมสูงถ้าไม้ผลขาดธาตุโพแทสเซียม จะชะงักการเจริญเติบโต อาการต่อมา คือ ใบแก่มีสีเหลืองซีดโดยเริ่มจากขอบของใบและปลายใบ พืชบางชนิดจะพบจุดสีน้ำตาลไหม้กระจายทั่วใบหรือพบจุดสีแดงหรือเหลืองระหว่างเส้นใบในใบอ่อน ถ้ามีอาการรุนแรงใบจะแห้งและร่วงก่อนเวลา แต่ถ้ามีโพแทสเซียมในดินหรือในใบพืชมากเกินไป ก็มีผลเสียเช่นกันโดยจะทำให้พืชดูดธาตุแมกนีเซียมและแคลเซียมลดลง เมื่อมีการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมในปริมาณมาก จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยที่มีแมกนีเซียมและแคลเซียมร่วมด้วย

ธาตุอาหารรองของพืช

ธาตุรอง เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากเช่นเดียวกับธาตุหลัก ซึ่งในอดีตมักไม่พบอาการขาดธาตุอาหารในกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยต่างๆ ปริมาณมากขึ้น ดินมีสภาพเป็นกรด จึงมักพบอาการขาดธาตุรอง ซึ่งธาตุรองมี 3 ธาตุ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และ กำมะถัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบอยู่ในปุ๋ยที่ใช้กันทั่วไป

ธาตุแคลเซียม และ ธาตุแมกนีเซียม

• แคลเซียมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของเนื้อเยื่อพืช เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิ การแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเซลล์ ส่วนแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับขบวนการสังเคราะห์แสงและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืช
• โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม มีความสัมพันธ์ ค่อนข้างซับซ้อน ถ้ามีธาตุใดธาตุหนึ่งในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลกระทบต่อธาตุอื่นๆ ได้

ธาตุกำมะถัน

• กำมะถันมีความจำเป็นต่อการสร้างโปรตีนของพืช เป็นองค์ประกอบของวิตามินบางตัว เช่น วิตามินบี1 มีส่วนทางอ้อมต่อการสร้างส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช เพราะกำมะถันจะเป็นองค์ประกอบของโปรตีนพืช ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหายใจและการปรุงอาหาร
ข้อควรระวัง ในการใส่กำมะถันลงดินก็คือหากใส่เกินความจำเป็น เป็นสาเหตุให้ดินเป็นกรดมากเกินไป เนื่องจากกำมะถันมีอำนาจทำให้เกิดกรด
การจำแนกธาตุอาหารพืช
รูปที่ 1 การจำแนกธาตุอาหารพืช

ธาตุเสริม (จุลธาตุ)

ธาตุเสริม (จุลธาตุ) เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเล็กน้อย แต่พืชขาดไม่ได้ มี 8 ธาตุ คือ เหล็ก แมงกานิส สังกะสี ทองแดง โมลิบดีนัม โบรอน คลอรีน และ นิกเกิล ในสวนไม้ผลบางพื้นที่โดยเฉพาะสวนที่มีการสะสมฟอสฟอรัสอาจจะทำให้ไม้ผลได้รับธาตุอาหารเสริมบางธาตุไม่เพียงพอ การนำปุ๋ยจุลธาตุซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยจุลธาตุเกือบทุกชนิดมาละลายน้ำ และพ่นทางใบอาจจะทำให้ไม้ผลมีการแตกใบอ่อนและใบเจริญเติบโตเร็วขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น

17 ธาตุอาหารพืช บทบาทหน้าที่ ลักษณะอาการขาดธาตุอาหาร

ธาตุอาหาร
บทบาทและหน้าที่
ลักษณะอาการขาดธาตุ
1. คาร์บอน
2. ไฮโดรเจน
3. ออกซิเจน
เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์ต่างๆ ในเซลล์พืช เช่น คาร์โบไฮเดรต เซลลูโลส โปรตีน กรดอะมิโน ลิกนิน ไขมัน
ไม่พบอาการขาดธาตุ เนื่องจากมีพอเพียงในอากาศและน้ำ
4. ไนโตรเจน
สำคัญต่อการเจริญเติบโต การขยายเพิ่มขนาดและปริมาณของเซลล์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงสร้างเซลล์ คลอโรฟิลล์ และมีประมาณ 70% อยู่ในคลอโรพลาสต์
ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งใบ โดยเริ่มจากปลายใบ เกิดที่ใบแก่ก่อน หากขาดธาตุรุนแรงจะเกิดทั้งต้น กิ่งก้านเล็กลีบ ต้นแคระแกร็น
5. ฟอสฟอรัส
ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนและสารอินทรีย์ที่สำคัญในพืชเป็นองค์ประกอบของสารที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดพลังงานในกระบวนการ เช่น การสังเคราะห์แสงและการหายใจ
ใบล่างเริ่มมีสีม่วงตามแผ่นใบ ต่อมาใบเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น ลำต้นแคระแกร็น ไม่ผลิตดอกออกผล
6. โพแทสเซียม
ช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้งและโปรตีนส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของน้ำตาลจากใบไปยังผล ช่วยให้ผลเจริญเติบโตเร็ว พืชแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคบางชนิด
ใบเหลือง ขอบใบไหม้ ใบไหม้ และตาย โดยเริ่มจากขอบใบแผ่นใบ เกิดจุสีน้ำตาลแห้ง ใบเหี่ยวง่าย เกิดที่ใบแก่ก่อน
7. แคลเซียม
เป็นองค์ประกอบในสารที่เชื่อมผนังเซลล์ให้ติดกัน ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกศร การงอกของเมล็ด และช่วยให้เอนไซม์บางชนิดทำงานได้ดี
ใบที่เจริญใหม่จะหงิก ตายอดไม่เจริญอาจมีจุดำที่เส้นใบ รากสั้นผลแตก และมีคุณภาพไม่ดี
8. แมกนีเซียม
เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และ น้ำตาล
แผ่นใบเหลืองแต่เส้นใบเขียว เนื้อเยื่อใบตายเป็นหย่อมๆ เป็นจุดน้ำตาลกระจายทั่วใบแก่ เกิดที่ใบแก่ก่อนและใบร่วงหล่นเร็ว
9. กำมะถัน
เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนและกรดอะมิโนช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษบางชนิดกำมะถันมักกระจายอยู่ทั่วต้นพืช ช่วยเพิ่มกลิ่นรสชาติของพืชให้ดีขึ้น
แผ่นใบสีเหลืองแต่เส้นใบยังเขียว เกิดที่ใบอ่อนก่อน ยอดชะงักการเจริญเติบโต
10. เหล็ก
มีความสำคัญต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมและเป็นตัวพาและกระตุ้นเอ็นไซม์ในกระบวนการสังเคราะห์แสงและการหายใจ
ใบเหลือง เส้นใบเขียว เกิดที่ใบอ่อนก่อน ถ้าอาการรุนแรงใบอ่อนจะมีสีขาวซีดและตาย
11. แมงกานิส
บทบาทในการสังเคราะห์แสงเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของน้ำย่อยในต้นพืช
ใบสีเหลืองๆ ส่วนเส้นใบจะเขียวโดยเฉพาะใบอ่อนอาจเกิดเป็นจุดขาวๆ หรือจุดเหลืองที่ใบ ต้นโตช้า ใบไม่สมบูรณ์เป็นผลให้พุ่มต้นโปร่งกระทบถึงการออกดอกติดผล
12. สังกะสี
เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิเจนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของดอกและผล
ตายอดและคอปล้องไม่ขยาย ทำให้ใบออกมาซ้อนๆกัน เป็นกระจุก
13. ทองแดง
ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจการใช้โปรตีนและแป้งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
ตายอดชะงักการเจริญเติบโต และ กลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง พืชทั้งต้นชะงักการเจริญเติบโต
14. โมลิบดินัม
จำเป็นสำหรับการตรึงธาตุไนโตรเจน ทำให้การทำงานของธาตุไนโตรเจนในพืชสมบูรณ์ขึ้นยังจำเป็นสำหรับขบวนการสร้างสารสีเขียว
ใบที่อยู่ล่างๆ จะด่างๆ ขอบใบหงิกงอ ดอกร่วงและผลแคระแกรนไม่เติบโตเต็มที่
15. โบรอน
ช่วยในการออกดอกและผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผล และการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมนการใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและแบ่งเซลล์
ตายอดตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างจะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้ง และ เปราะ
16. คลอรีน
มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์แสง ส่งเสริมการเปลี่ยนรูปไนเตรทและแอมโมเนียเป็นอินทรีย์สาร
พืชเหี่ยวง่ายใบซีดและบางส่วนแห้งตาย แห้งตายบางจุด ลำต้นแคระแกร็น
17. นิกเกิล
เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ยูรีเอส และ ไฮโดรจีเนส มีบทบาทในการงอกของเมล็ด
การงอกต่ำ
ธาตุอาหารพืชทั้ง 17 ธาตุ มีความจำเป็นและสำคัญต่อพืชทัดเทียมกัน พืชขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละธาตุจะมีหน้าที่เฉพาะเจาะจง และไม่สามารถจะให้ธาตุอื่นทำหน้าที่แทนได้ อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่ของแต่ละธาตุที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนไม่ได้เกิดจากผลของธาตุหนึ่งเท่านั้น โดยธาตุอาหารพืชมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของพืชดังนี้

บทบาทหน้าที่ของธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโต

การเจริญเติบโตของพืชเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากผลรวมของการแบ่งเซลล์ และการขยายขนาดของเซลล์ที่ถูกควบคุมโดยลักษณะทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมภายนอก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น และธาตุอาหาร การเจริญเติบโตจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการสร้างอาหารโดยมีธาตุอาหารพืชเป็นปัจจัยที่สำคัญ หลังจากที่รากพืชดูดธาตุอาหารเข้าไปแล้ว ก็จะเคลื่อนย้ายไปสู่ใบ เพื่อนำไปใช้การสร้างอาหารหรือที่เรียกว่า กระบวนการสังเคราะห์แสง โดยที่ธาตุต่างๆ จะเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว อาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงจะถูกนำไปใช้เพื่อแตกกิ่งก้านการเจริญใบอ่อน การออกดอก และการพัฒนาของผล ดังนั้นหากพืชได้รับธาตุอาหารในปริมาณ และสัดส่วนที่เหมาะสม อีกทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น แสง และ น้ำ อย่างเพียงพอก็ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ดี มีอาหารเพียงพอที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

บทบาทหน้าที่ของธาตุอาหารกับการออกดอก

การออกดอกของพืชเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่สลับซับซ้อน ในปัจจุบันเชื่อว่าการออกดอกของพืชเริ่มจากมีปัจจัยชักนำ ทำให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมนพืชที่จะทำให้กระตุ้นตาเปลี่ยนใบเป็นตาดอก ทำให้เนื้อเยื่อมีการพัฒนาเป็นตาดอกและสร้างส่วนต่างๆ ของดอก โดยช่วงที่มีการออกดอกฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจะลดลงและเอทิลีนเพิ่มขึ้น
บทบาทของธาตุอาหารต่อการออกดอก จะเกี่ยวข้องกับการสร้างอาหารสะสมทำให้ต้นพืชสมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก โดยทั่วไปแล้วการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปทำให้พืชเจริญเติบโตทางด้านกิ่งใบมากเกินไป พืชจะออกดอกช้า มีรายงานว่า เกษตรกรชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ไม่นิยมใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเนื่องจากกลัวว่าทุเรียนจะไม่ออกดอกหรือออกดอกช้า อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่น้อยเกินไปก็ทำให้ทุเรียนต้นโทรมได้ง่าย และถ้าพืชขาดไนโตรเจนก็ทำให้เจริญเติบโตไม่ดี ไม่มีสารอาหารสะสมมากพอที่จะสร้างดอกและผลได้ และเนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่ทำให้พืชแก่เร็วและเกี่ยวข้องกับการสร้างเมล็ดประกอบกับดินปลูกไม้ผลส่วนใหญ่มีฟอสฟอรัสต่ำทำให้ผู้ปลูกไม้ผลของไทยส่วนใหญ่ เชื่อว่าการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสจะช่วยเร่งการออกดอกให้กับพืช อย่างไรก็ตาม หากพืชได้รับฟอสฟอรัสเพียงพออยู่แล้ว การใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงหรือที่เรียกกันว่าปุ๋ยเร่งดอกนั้น ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

บทบาทหน้าที่ของธาตุอาหารกับคุณภาพของผล

ธาตุอาหารพืชมีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพของผลไม้โดยที่ธาตุอาหารต่างๆ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของผลในแง่ต่างๆ กัน
ไม้ผลที่ได้รับไนโตรเจนไม่เพียงพอจะทำให้ผลมีขนาดเล็ก และพัฒนาเป็นผลที่สุกสมบูรณ์เร็วกว่าปกติ แต่ถ้าได้รับไนโตรเจนมากเกินไปก็ทำให้ผลใหญ่ขึ้น สุกช้า รสชาติด้วยลง และมีการสะสมของลิกนินที่ผนังเซลล์ของเปลือกผลน้อย ทำให้เปลือกผลไม่แข็งแรง เก็บไว้ได้นาน เกิดอาการช้ำและโรคเข้าทำลายได้ง่ายส่วนการขาดฟอสฟอรัสมักทำให้ผลพัฒนา และสุกเร็วขึ้น ส่วนไม้ผลที่ขาดโพแทสเซียมก็พบว่าทำให้ผลมีขนาดเล็ก สีผิวไม่สวย ทำให้ปริมาณกรดและปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลลดลง ซึ่งเป็นเหตุให้ผลไม้มีรสชาติไม่ดี
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147