เทคนิควิธีการปลูกทุเรียนและดูแลรักษาต้นทุเรียนอย่างมืออาชีพ

เทคนิควิธีปลูกทุเรียนให้รอด 100% โตเร็วผลทุเรียนมีคุณภาพได้ผลผลิตระยะยาวเหมาะกับผู้ปลูกทุเรียนทั้งมือใหม่และเกษตรกรที่ปลูกอยู่ เราไปเรียนรู้กันว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน

สภาพดิน ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี มีหน้าดินบึกเพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำท่วมขัง และความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5 หากจำเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จำเป็นต้องนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริมและต้องใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย และควรมีการจัดการเรื่องนำเพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลของทุเรียนด้วย
แหล่งน้ำ ต้องมีแหล่งน้ำจืดให้ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดทั้งปี
อุณหภูมิและความชื้น ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 75-85 เปอร์เซ็นต์ หากปลูกในพื้นที่มีอากาศแห้งแล้งพื้นที่มีอากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด และมีลมแรง จะพบปัญหาใบไหม้หรือใบร่วง ทำให้ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตหรือเติบโตช้าให้ผลผลิตช้า น้อย และไม่คุ้มต่อการลงทุน
สภาพแวดล้อมของ ดิน น้ำ และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน
สภาพแวดล้อมของ ดิน น้ำ และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน

ขั้นตอนการปลูกทุเรียน

การเตรียมพื้นทีผังปลูกและการเลือกพันธุ์ในการปลูกทุเรียน
ขั้นตอนการปลูกทุเรียน

1. การเตรียมพื้นที่ปลูกทุเรียน

จำเป็นต้องมีการปรับพื้นที่ปลูก กำหนดผังปลูกและติดตั้งระบบน้ำ โดยปรับพื้นที่ให้ราบไม่ให้มีแอ่งน้ำท่วมขัง และควรปรับเป็นเนินลูกฟูกเพื่อปลูกทุเรียนบนสันเนิน ระยะปลูก 8x8 เมตร หรือ 9x9 เมตร (16-25 ต้น/ไร่) หากมีการทำสวนขนาดใหญ่ ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้นเพื่อสะดวกต่อการปฎิติงาน การวางแนวปลูกควรขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือกำหนดแถวปลูกในแนวทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก และถ้ามีการจัดวางระบบน้ำจะต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนเพื่อให้มีการจัดการที่ง่ายและสะดอก

2. ปลูกทุเรียนในพื้นที่ดอน

ไถพรวนและปรับพื้นให้เรียบเพื่อสะดวกในการวางระบบน้ำ การจัดการสวน รวมทั้งขุดร่องระบายน้ำภายในสวน ถ้าเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน การเตรียมพื้นที่หลังจากตัดไม้ยืนต้นเดิมออกแล้วอาจทำได้ทั้งการไถพรวนและไม่ไถพรวน ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ยืนต้นที่เคยปลูก ลักษณะโครงสร้างของดินและความเรียบของพื้นที่ ทั้งนี้การไถพรวนมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่ที่มีดินเป็นดินเหนียว โครงสร้างดินเสียและการระบายน้ำไม่ดี สำหรับพื้นที่ที่เป็นดินร่วนระบายน้ำดีก็ไม่จำเป็นต้องทำการไถพรวน

3. ปลูกทุเรียนพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

• พื้นที่มีน้ำท่วมขังไม่มากและระยะเวลาการท่วมขังสั้น นิยมนำดินมาเทกองตามผังปลูกสูงประมาณ 0.75-1.20 เมตร ทิ้งช่วงเวลาไว้ระยะหนึ่งหลังการเทดิน เพื่อให้กองดินคงรูปแล้วปลูกทุเรียนบนสันกลางของกองดิน
• พื้นที่มีน้ำท่วมขังมากและนาน ควรยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้า-ออกเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันน้ำท่วมถึงและสะดวกในการระบายน้ำ

4. การวางผังปลูกทุเรียน

สามารถเลือกระบบการผลิตทุเรียนเป็นลักษณะต่างๆ ได้แด่
• ระบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะปลูก 8-10 เมตร เหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างเรียบ
• ระบบแถวกว้างต้นชิด (Hedge row system) ในการปลูกทุเรียนระบบนี้ระยะระหว่างต้นเป็น 30-50 เปอร์เซ็นต์ ของระยะระหว่างแถวและมีการวางแนวปลูกในแนวเหนือใต้ มีด้านกว้างระหว่างแถวขวางแนวขึ้นลงของพระอาทิตย์ แถวมีความกว้างพอที่จะให้เครื่องจักรผ่านเข้าออกได้สะดวก

5. การเลือกพันธุ์ทุเรียน

ต้นกล้าทุเรียนที่ควรเลือกใช้ในการปลูกต้องมีความแข็งแรง ตรงตามพันธุ์ ต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมืองทนทานต่อโรคเน่าโคนเน่า ระบบรากไม่ขดหรืองอ มีใบหนาและเขียวเข้ม

ปฏิทินการออกดอกติดผลของทุเรียนในภาคใต้ตอนล่าง

ปฏิทินการออกดอกติดผลของทุเรียนในภาคใต้ตอนล่าง
ปฏิทินการออกดอกติดผลของทุเรียนในภาคใต้ตอนล่าง

วิธีการปลูกทุเรียน

1. การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุมปลูก

วิธีและขั้นตอนการปลูกมีดังนี้ คือ
• ขุดหลุมมีขนาด กว้าง x ยาว x ลึก เป็น 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
• ผสมปุ๋ยคอกเก่าประมาณ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต 0.5 กิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
• เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงทำลาย และมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง
• ใช้มีดกรีดก้นถุงเพาะกล้าออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดรากบริเวณนั้นออกเพื่อให้มีการเจริญของรากใหม่
• วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกหรือนำออกจากกระถางพลาสติกแล้ววางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงต่ำของต้นทุเรียนให้รอยต่อระหว่างรากกับลำต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
• ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน
• ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก
• กลบดินที่เหลือลงไปในหลุมอย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ
• ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก
• กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นเพื่อเป็นการเก็บกักความชื้นให้กับต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่จากนั้นรดน้ำตามให้ชุ่ม
• จัดทำร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่มปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกำหรือตาข่ายพลาสติกพรางแสง เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วควรปลดออกหรืออาจปลูกไม้ผลเพื่อให้ร่มเงาเช่น กล้วยก็จะช่วยเป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด
• แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน

2. การปลูกทุเรียนแบบนั่งแท่นหรือยกโคก

วิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก การระบายน้ำไม่ดี วิธีนี้ทำให้มีการระบายน้ำดีขึ้น ลดปริมาณน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนการจัดทำระบบน้ำให้ดีก่อนปลูก ซึ่งจะทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุมปลูก
การเลือกต้นกล้าควรเลือกใช้ต้นที่มีขนาดเล็ก ระบบรากดีไม่ขดงอ แต่หากจะปลูกด้วยต้นกล้าขนาดใหญ่ควรตัดแต่งรากที่ขดงอทั้งที่ก้นถุงและด้านข้างออกก่อน รวมทั้งควรมีการพรางแสงให้กับต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ด้วยตาข่ายพรางแสงพลาสติกหรือทางมะพร้าว หรือปลูกไม้ที่ให้ร่มเงา เช่นเดียวกับการปลูกทุเรียนแบบขุดหลุมปลูก
ขั้นตอนการปลูกมีดังนี้ คือ
• โรยปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0) อัตรา 500 กรัม หรือประมาณ 1.50 ของกระป๋อง ตรงตำแห่นงที่ต้องการปลูก จากนั้นจึงกลบดินบางๆ
• นำต้นพันธุ์ทุเรียนมาวาง แล้วถากดินข้างๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้าหากเป็นดินร่วนปนทรายดินทราย ดินจะไม่เกาะตัวกัน ควรใช้วิธีขุดหลุมปลูกจะทำให้การเจริญเติบโตและอัตราการรอดสูงกว่า หรืออาจใช้วิธีดัดแปลง ซึ่งหมายถึง การนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมากองตรงตำแหน่งที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ยหินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้ กลบดินบางๆ วางต้นพันธุ์ทุเรียนลงตรงช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ
• การแกะถุงออกต้องระมัดระวังอย่าให้ดินแตกอาจทำได้โดยกรีดก้นถุงออกก่อน แล้วนำไปวางในตำแหน่งที่ปลูก กรดถุงพลาสติกให้ขาดจากล่างขึ้นบน แล้วจึงค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบาๆ
• ระมัดระวังอย่ากลบดินให้สูงถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ
• หาวัสดุคลุมโคน และจัดทำร่มเงาให้กับต้นทุเรียนเหมือนการปลูกโดยวิธีขุดหลุม

3 ฤดูปลูกทุเรียน

หากสวนทุเรียนมีการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลน้ำกับต้นทุเรียนได้อย่างสม่ำเสมอช่วงหลังปลูก ก็จะสามารถปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน แต่ถ้าหากจัดระบบน้ำไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องน้ำได้ ควรจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน

4. การพรางแสงให้ทุเรียน

ไม้ผลหลายชนิดรวมทั้งทุเรียน ต้องมีการให้ร่มเงาหรือการพรางแสงในช่วงแรกของการเจริญเติบโตซึ่งอาจทำได้โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เข่น ทางมะพร้าวปักเป็นกระโจมคร่อมต้นทุเรียน ใช้ตาข่างพรางแสงเย็บเป็นถุงเปิดหัวท้ายครอบลงบนเสาไม้ที่ปักเป็นมุม 4 ด้านรอบต้นทุเรียน เพื่อกันแสงด้านข้างของต้น หรือ อาจปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวต้นทุเรียนให้มีระยะห่างระหว่างต้นของไม้โตเร็วที่สามารถแผ่ทรงพุ่มพรางแสงให้ทุเรียนได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น ต้นกล้วย ต้นทองหลาง เป็นต้น

5. การตัดแต่งควบคุมทรงพุ่มทุเรียน

หลังจากปลูกทุเรียนประมาณ 1.0-1.5 ปี ควรตัดแต่งให้มีลำต้นเดี่ยว โดยยึดหลักว่าต้นทุเรียนต้องมีทรงต้นโปร่งโครงสร้างต้นแข็งแรงสวยงามสม่ำเสมอ โดยในระยะแรกให้กำหนดกิ่งที่จะเป็นกิ่งประธาน 4-6 กิ่งแรกพิจารณาจากความสมบูรณ์และตำแหน่งที่เหมาะสม แต่ละกิ่งควรห่างกัน 10-15 เซนติเมตร แต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออก เช่น กิ่งมุมแคบหรือกว้างเกินไป หลังจากที่ต้นเจริญเติบโตไปอีกระยะหนึ่ง จึงกำหนดกิ่งประธาน กิ่งที่ 7-12 และตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออก เมื่อทุเรียนเริ่มให้ผลผลิตควรมีกิ่งประธาน 12-15 กิ่ง เวียนรอบต้น กิ่งประธานกิ่งแรกอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร กิ่งประธานแต่ละกิ่งมีกิ่งรอง 3-4 กิ่ง และกิ่งรองแต่ละกิ่งจะมีกิ่งแขนงพอประมาณและไม่บังแสงซึ่งกันและกัน กิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งทิ้งอาจใช้เครื่องหั่นย่อยแล้วนำกลับมาเป็นปุ๋ยทุเรียนได้อีก แต่กิ่งและใบที่เป็นโรคควรเผาทำลายนอกแปลงปลูกทุเรียนเพื่อทำลายแหล่งสะสมของเชื้อโรค

6. การป้องกันกำจัดวัชพืช

วัชพืชในสวนทุเรียนมีทั้งวัชพืชฤดูเดียว ได้แก่ หญ้าขจรจบ หญ้าตีนนก และวัชพืชข้ามปี ได้แก่ หญ้าคา หญ้าชันกาด แห้วหมู ซึ่งสามารถป้องกันกำจัดได้โดยใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเสท 48% SL อัตรา 500-600 มล. หรือกลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย 48% อัตรา 1,000-2,000 มล. ผสมน้ำ 60-80 ลิตรต่อไร่ พ่น 1-2 ครั้ง หลังวัชพืชงอกและวัชพืชมีใบมากที่สุดหรือตัดวัชพืชให้สั้นด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่างๆ ทุก 1-2 เดือน

ระยะแตกใบอ่อนออกดอกและติดผลของทุเรียน

ระยะต่างๆ ของใบทุเรียน
ระยะใบทุเรียน
ระยะต่างๆ ของดอกทุเรียน
ระยะดอกทุเรียน
ระยะต่างๆ ของผลทุเรียน
ระยะผลทุเรียน

การจัดการสวนทุเรียนช่วงก่อนให้ผลผลิต

การปฏิบัติดูแลสวนทุเรียนในช่วงก่อนให้ผลผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น โดยมีวิธีการดูดังนี้ คือ
1. ปลูกพืชแซมเสริมรายได้ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิตในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด
2. ปลูกซ่อมแซมเมื่อตรวจพบต้นทุเรียนตายหลังปลูกให้ทำการปลูกซ่อมทันทีเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอกัน
3. การให้น้ำ ช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรทำทางระบายน้ำและตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าเกิดดินยุบตัวเป็นแอ่งและมีน้ำขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ ในปีต่อๆ ไป ควรดูแลรดน้ำให้ต้นทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น
4. การตัดแต่งกิ่ง
• ปีที่ 1-2 ไม่ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ควรปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
• ปีต่อๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรค เลี้ยงกิ่งแขนงที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่งมุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยให้กิ่งล่างสุดอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตร
5. การป้องกันกำจัดโรค และแมลงและวัชพืช
• ช่วงแตกใบอ่อน ควรป้องกันกำจัดโรคที่เกิดกับใบ เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง
• ช่วงฤดูฝน ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า และ ควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดิน และ อาจกำจัดโดยใช้แรงงานขุด ถาก ถอน ตัด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่ละอองสารเคมีอาจจะไปทำลายต้นทุเรียนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือ ตายได้
6. ควรมีการทำร่มเงาในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันต้นทุเรียนใบไหม้
7. การใส่ปุ๋ยควรทำ ดังนี้
• ควรมีการใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่ง
• ควรมีการใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทำโคน คือ ถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม หว่านปุ๋ยและพรวนดินนอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่มให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า และขยายของเนินดินให้กว้างขึ้นตามขนาดของทรงพุ่มหรือจะใส่ปุ๋ยคอก โดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ยใส่และปิดหลุมเป็นระยะให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มวิธีหลังนี้แม้จะเปลืองแรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ยจากการระเหย หรือถูกน้ำชะล้างได้ดี
• การให้ปุ๋ยคอก ควรทำการหว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี
• การให้ปุ๋ยในปีที่ 1
- ใส่ปุ๋ยคอกและทำ โคน 4 ครั้ง (เดือนเว้นเดือน)
- ครั้งที่ 1-3 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปี๊บ)
- ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น
- ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น
• การให้ปุ๋ยในปีต่อๆ ไป
- ใส่ปุ๋ยและทำ โคน 2 ครั้ง (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน)
- ครั้งที่ 1 (ต้นฤดูฝน) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 0.5-3 กิโลกรัมต่อต้น
- ครั้งที่ 2 (ปลายฤดูฝน) ใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปี๊บ)
- ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใส่ในแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม โดยยึดหลักว่า วัดจากโคนต้นมายังชายพุ่มเป็นเมตรได้ เช่น ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม ระยะโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม

การจัดการสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว

การดูแลต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะสามารถทำให้ต้นทุเรียนออกดอกติดผลได้มากขึ้น ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี การเตรียมต้นทุเรียนให้พร้อมที่จะออกดอกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยการทำให้มีใบแก่พร้อมกันทั้งต้น เพื่อให้มีการสร้างอาหารให้กับลำต้นได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีสารสะสมอาหารในลำต้นเพียงพอต่อการออกดอก และเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความชื้นต่ำ อากาศเย็นลงเล็กน้อยมีช่วงแล้งที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นให้เกิดการออกดอกได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที

1. ระยะเตรียมการหลังเก็บเกี่ยวทุเรียน

แนวทางการปฏิบัติ
1 ตัดแต่งกิ่ง
- ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งหัก กิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึงและง่ายต่อการพ่นสารป้องกันและกำจัดโรคและแมลง
- ควบคุมความสูงของต้นทุเรียนให้อยู่ในระดับความสูง 6-8 เมตร
2. เก็บเชือกโยงต้นทุเรียนที่ไม่ใช้แล้ว
3. ตรวจสอบความพร้อมของระบบน้ำในสวนทุเรียนให้พร้อมใช้งานสำหรับฤดูการผลิตทุเรียนต่อไป
4. สำรวจต้นที่เป็นโรค ให้รีบดำเนินการจัดการทันที
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยคอก อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ต้น
- ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
ปริมาณน้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน

2. ระยะสร้างใบของต้นทุเรียน ชุดที่ 1 และ 2

ระยะแตกใบอ่อน >>> ระยะใบเพสลาด
แนวทางการปฏิบัติ

1. ควรตัดหญ้าก่อนหว่านปุ๋ยทางดิน โดยหว่านปุ๋ยเพื่อสร้างใบชุดที่ 1 และ 2 ซึ่งจะแตกใบอ่อนชุดแรกหลังจากให้ปุ๋ยไปแล้วประมาณ 21-28 วัน
2. ควรมีการให้สารป้องกันโรคและแมลงในระยะที่มีการแตกใบอ่อน
3. ควรมีการให้ปุ๋ยทางใบเพิ่มเติมในระยะใบคลี่/ใบเพสลาด
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
ปริมาณน้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
• ระยะแตกใบอ่อน
- สาหร่าย+สารป้องกันกำจัดแมลง+สารป้องกันกำจัดเชื้อรา+ สารจับใบ อัตรา 50 มิลลิลิตร
• ใบคลี่/ใบเพสลาด
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 อัตรา 1 กิโลกรัม
- ธาตุอาหารรอง-เสริม (Ca B) 200 มิลลิลิตร
- ธาตุอาหารรอง-เสริม (Mg Zn) 200 มิลลิลิตร
- สารป้องกันกำจัดแมลง+สารป้องกันกำจัดเชื้อรา+สารจับใบ อัตรา 50 มิลลิลิตร

3. ระยะสร้างใบของต้นทุเรียนชุดที่ 3

ระยะแตกใบอ่อน >>> ระยะใบเพสลาด
แนวทางการปฏิบัติ

1. ควรตัดหญ้าก่อนหว่านปุ๋ยทางดิน
2. หว่านปุ๋ยทางดินเพื่อสร้างใบชุดที่ 3 คือ ใบอ่อนชุดสุดท้ายก่อนออกดอกประมาณ 30-45 วัน
3. ควรมีการให้สารป้องกันโรคและแมลงในระยะที่มีการแตกใบอ่อน
4. ควรมีการให้ปุ๋ยทางใบเพิ่มเติมในระยะใบคลี่/ใบเพสลาด
ข้อแนะนำ
ชุดใบที่3 ควรมีใบที่สมบูรณ์ ใบหนาแต่มีขนาดเล็กกว่าใบที่ 1 และใบที่ 2 เพื่อให้ง่ายต่อการออกดอก และเมื่อได้ใบชุดสุดท้ายแล้วควรมีการพ่นปุ๋ยเพื่อสะสมอาหารอย่างน้อย 3-5 ครั้ง เพื่อสะสมอาหารให้เพียงพอต่อการออกดอก
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 2.3 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
ปริมาณน้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน
การตัดแต่งกิ่ง
ควรตัดกิ่งแขนงบริเวณท้องกิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมต้นก่อนการออกดอก
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
• ระยะแตกใบอ่อน
- สาหร่าย+สารป้องกันกำจัดแมลง+สารป้องกันกำจัดเชื้อรา+ สารจับใบ อัตรา 50 มิลลิลิตร
***ยากันเชื้อราใช้เมื่อฝนตก***
• ใบคลี่/ใบเพสลาด
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-52-7 หรือ 6-32-35 อัตรา 1.0 กิโลกรัม
- ธาตุอาหารเสริม (Ca B) 200 มิลลิลิตร+ ฟอสครอป-K 300 มิลลิลิตร
- สารป้องกันกำจัดเชื้อราสารจับใบ อัตรา 50 มล.
***ยากันเชื้อราใช้เมื่อฝนตกควรฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่าง 5-7 วัน***

4. ระยะชักนำการออกดอกของต้นทุเรียน

แนวทางการปฏิบัติ
1. ควรตัดแต่งกิ่งแขนงภายในทรงพุ่มออกให้หมดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกดอก
2. ควรหยุดให้น้ำเพื่อให้ต้นทุเรียนได้รับการกระทบแล้งต่อเนื่อง 10-14 วัน
3. ควรกำจัดวัชพืช เศษหญ้า เศษใบไม้ใต้ทรงพุ่มเพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศบริเวณทรงพุ่ม
4. เมื่อต้นทุเรียนกระทบแล้งจะเข้าสู่สภาวะเครียด สังเกตจากปลายกิ่งใบตกช่วง 10.00 น. และ 14.30 น. ต้องให้น้ำเพื่อกระตุ้นการออกดอก โดยให้น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง/ครั้ง แล้วงดน้ำต่ออีก 4 วัน สังเกตใต้ท้องกิ่งว่ามีการติดตาดอกหรือไม่ หากมีการแตกตาดอก ให้น้ำครั้งละน้อยๆ แต่ให้อย่างสม่ำเสมอ
การให้น้ำ
งดน้ำ 10-14 วัน เมื่อสังเกตว่าทุเรียนได้รับสภาวะเครียด ให้น้ำ 300-400 ลิตร เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วงดน้ำต่อ 4-5 วัน เพื่อสังเกตการออกดอกใต้ท้องกิ่ง
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 13-0-46 อัตรา 1 กิโลกรัม
- สาหร่าย 300 มิลลิลิตร
- ธาตุอาหารเสริม
- สารจับใบ อัตรา 50 มิลลิลิตร
***ฉีดพ่นบริเวณใต้ท้องกิ่งเมื่อเห็นดอกทุเรียนประมาณ 5%***

5. ระยะดอกทุเรียน

แนวทางการปฏิบัติ
1. หลังจากดอกทุเรียนเข้าสู่ระยะเหยียดตีนหนู ค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นทีละน้อย ถ้าให้น้ำมากจนเกินไป กลุ่มตาดอกอาจจะกลายเป็นกิ่งแขนงได้
2. ระยะกระดุมมะเขือพวงจนถึงดอกบาน ควรฉีดพ่นสารป้องกันโรคและแมลง (เพลี้ยไฟ หนอนเจาะดอก) อย่างน้อย 2 ครั้ง
3. ก่อนดอกบาน 4-7 วัน ควรลดปริมาณการให้น้ำเพื่อทำให้เกสรดอกตัวเมียมีความเหนียวเตรียมพร้อมรับการผสมให้มากขึ้น และยังช่วยให้ดอกทุเรียนไม่บานจนเกินไป
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยแคมีสูตร 16-16-16 อัตรา 1.5 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
• ปริมาณการให้น้ำ
- ระยะเหยียดตีนหนู 100 ลิตร/ต้น/วัน
- ระยะกระดุมมะเขือพวง 150 ลิตร/ต้น/วัน
- ระยะกำไล 100 ลิตร/ต้น/วัน
• เวลา
- ระยะเหยียดตีนหนู 10 นาที
- ระยะกระดุมมะเขือพวง 15 นาที
- ระยะกำไล 10 นาที
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
• ระยะกระดุมมะเขือพวง
- ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-52-7 อัตรา 200 กรัม
- ธาตุอาหารรองเสริม (Ca B) อัตรา 200 กรัม
- อโทนิค อัตรา 50 มล. + สารจับใบ อัตรา 50
มล.
• ระยะหัวกำไล
- ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-52-7 อัตรา 200 กรัม
- ธาตุอาหารรองเสริม (Ca B) อัตรา 200 กรัม
- อโทนิค อัตรา 50 มล. + สารจับใบ อัตรา 50
มล.

6. ระยะดอกทุเรียนบาน

แนวทางการปฏิบัติ
1. ช่วยผสมเกสรด้วยวิธีการปัดดอก ในช่วงเวลา 19.00-21.00 น.
2. จดบันทึกวันดอกบาน เพื่อมากำหนดปฏิทินในการดูแลทุเรียนในแต่ละระยะและวางแผนในการเก็บเกี่ยวทุเรียน
***ห้ามฉีดพ่นสารเคมี/สารชีวภัณฑ์ทุกชนิด***

7. ระยะ 10 วันหลังดอกทุเรียนบาน

ระยะนี้ทุเรียนจะเริ่มเข้าสู่ระยะการติดผล
แนวทางการปฏิบัติ
1. ควรฉีดพ่นสารป้องกันโรคและแมลง (เพลี้ยไฟ) เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทุเรียนหนามจีบ
2. ค่อยๆ เพิ่มปริมาณการให้น้ำ ไม่ควรให้น้ำมากจนเกินไปจะทำให้ผลทุเรียนร่วนได้
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 1.0 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
- ปริมาณการให้น้ำ 100 ลิตร/ตัน/วัน
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
- ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด 10-52-7 อัตรา 200 กรัม+ธาตุอาหารเสริม (CaB) อัตรา 200 กรัม+อโทนิค อัตรา 50 มิลลิลิตร+สารจับใบ อัตรา 50 มิลลิลิตร

8. ระยะ 4-5 สัปดาห์ดอกดอกทุเรียนบาน (ระยะไข่ไก่)

แนวทางการปฏิบัติ
ระยะนี้ทุเรียนกำลังเข้าสู่การพัฒนาเปลือกและเมล็ด ควรมีแนวทางดังนี้
1. ตัดแต่งผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมออก (คงเหลือไว้ 2-3 เท่าของจำนวนที่ต้องการไว้ผล)
2. ใส่ปุ๋ยบำรุงผล อาจจะใส่เพียงครั้งเดียวหรือแบ่งใส่ 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน
3. ฉีดพ่นอาหารเสริมและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง (หนอนเจาะเมล็ด)
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยเคมีสูตร 12-11-18 หรือ 12-12-24 และ 15-15-15 อัตรา 1.5+0.5 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
- ปริมาณการให้น้ำ 200 ลิตร/ต้น/วัน

9. ระยะ 5-8 สัปดาห์หลังดอกทุเรียนบาน (ระยะกระป๋อมนม)

แนวทางการปฏิบัติ
ระยะนี้ทุเรียนสร้างเมล็ดเสร็จสมบูรณ์และกำลังพัฒนาเนื้ออย่างรวดเร็ว ควรมีแนวทางดังนี้
1. ตัดแต่งผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์และในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม (เหลือไว้ตามจำนวนที่ต้องการไว้ผล)
2. ใส่ปุ๋ยบำรุงผล อาจจะใส่เพียงครั้งเดียวหรือแบ่งใส่ 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน
3. ฉีดพ่นอาหารเสริมและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง (หนอนเจาะเมล็ด)
4. ควรโยงกิ่งให้มีความมั่นคง แข็งแรงสามารถรับน้ำหนักผลผลิตต่อกิ่งได้
5. ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยเคมีสูตร 12-11-18 อัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
- ปริมาณการให้น้ำ 250 ลิตร/ต้น/วัน
การตัดแต่งผล
- ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ก้นจีบ เก็บผลที่มีลักษณะหนามสวย ขั้วผลใหญ่
- ผลเดี่ยว ควรให้มีระยะระหว่างผล 30-50 เซนติเมตร
- ผมกลุ่ม กลุ่มละ 2-4 ผล ห่างกันกลุ่มละ 1-2 เมตร
- ควรปลิดผลทุเรียนรุ่นที่มีผลผลิตน้อยกว่าออก
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
- ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยน้ำตาลทางด่วน อัตรา 200 มิลลิลิตร
- ปุ๋ยเกล็ด 12-27-23 อัตรา 200 มิลลิลิตร
- ธาตุอาหารรอง-เสริม (Ca B) อัตรา 200 มิลลิลิตร
***ฉีดพ่นเดือนละ 2 ครั้งจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 20-30 วัน ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มของต้นทุเรียน***

10. ระยะ 8-10 สัปดาห์หลังดอกทุเรียนบาน (ระยะขยายพู)

แนวทางการปฏิบัติ
1. ตัดแต่งผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์และตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม (เหลือไว้ตามจำนวนที่ต้องการไว้ผล)
2. ใส่ปุ๋ยบำรุงผล อาจจะใส่เพียงครั้งเดียวหรือแบ่งใส่ 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน
3. ฉีดพ่นอาหารเสริมและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง (หนอนเจาะเมล็ด)
4. ควรโยงกิ่งให้มีความมั่นคงแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักผลผลิตต่อกิ่งได้
5. ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยเคมีสูตร 12-3-36 หรือ 15-15-15 อัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
- ปริมาณการให้น้ำ 300 ลิตร/ต้น/วัน
การตัดแต่งผล
- ตัดแต่งผลที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ก้นจีบ เก็บผลที่มีลักษณะหนามเขียวสวยขั้วผลใหญ่
การพ่นอาหารเสริม/ป้องกันโรคและแมลง (อัตรา/น้ำ 200 ลิตร)
- ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยน้ำตาลทางด่วน อัตรา 200 มิลลิลิตร
- ปุ๋ยเกล็ด 12-27-23 อัตรา 500 มิลลิลิตร
- ธาตุอาหารรอง-เสริม (Ca B) อัตรา 200 มิลลิลิตร
***ฉีดพ่นเดือนละ 2 ครั้งจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 20-30 วัน ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มของต้นทุเรียน***

11. ระยะ 10-12 สัปดาห์หลังดอกทุเรียนบาน (ระยะเริ่มสุขแก่)

แนวทางการปฏิบัติ
***ควรงดน้ำก่อนเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างน้อย 3-4 วัน***
1. ควรตัดทุเรียนที่มีความแก่ประมาณ 75% หรือวัดแป้งได้ 32%
2. ก่อนเก็บเกี่ยวทุเรียน 3-4 วันต้องตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ความแก่ของทุเรียน
3. ขณะเก็บเกี่ยวห้ามวางทุเรียนกับพื้นดินโดยเด็ดขาด (อาจใส่ผลทุเรียนใน เข่งพลาสติก หรือ ตะกร้าหูเหล็ก
การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยเคมีสูตร 12-3-36 หรือ 15-15-15 อัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัม/ต้น
การให้น้ำ
- ปริมาณการให้น้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน
***ห้ามฉีดพ่นสารเคมี/สารชีวภัณฑ์ทุกชนิด***
การช่วยผสมเกสรทุเรียน
ปัญหาการติดผลน้อยของทุเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นปัญหาที่สำคัญ การช่วยผสมเกสรโดยใช้ละอองเกสรจากทุเรียนต่างพันธุ์ จึงเป็นการช่วยทำให้กระบวนการถ่ายละอองเกสรประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิสนธิ ปริมาณติดผลจึงเพิ่มขึ้น ผลทุเรียนที่เกิดจากการช่วยผสมเกสรจะมีการเจริญเติบโตเร็ว รูปทรงดี พูเต็ม คุณภาพเนื้อดี สีเนื้อและรสชาติของทุเรียนไม่แตกต่างจากพันธุ์แม่ ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้ต่อผลเพิ่มมากขึ้น โดยทำการฉีดพ่นด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต เพื่อช่วยในการผสมเกสรแต่ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและแรงงานในการปฏิบัติงานดังกล่าว ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นเกษตรกรรายใหญ่จะนิยมช่วยการผสมเกสรมากกว่าเกษตรกรรายย่อยในกรณีเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนตั้งแต่ 3-15 ไร่ ก็อาจจะใช้วิธีช่วยผสมเกสรทุเรียนได้เช่นกัน
การควบคุมไม่ให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน
การป้องกันไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนในระหว่างพัฒนาการของผลอ่อนเป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากมีการแตกใบอ่อนในช่วงนี้ ผลอ่อนจะไม่สามารถแข่งขันแย่งอาหารสะสมกับใบอ่อนได้ ผลอ่อนที่กำลังพัฒนาก็จะหยุดชะงัก และเกิดผลกระทบในด้านคุณภาพของผลทุเรียน โดยมีการจัดการ ดังนี้
• การชะลอการแตกใบอ่อน ด้วยการพ่นสารชะลอการเจริญเติบโต เข่น สารมีพิควอทคลไรด์ ความเข้มข้น 37.5 พีพีเอ็ม ให้ทั่วต้นทุเรียน
• การปลิดใบอ่อน ถ้าพบว่าทุเรียนจะแตกใบอ่อน โดยสังเกตเห็นเยื่อหุ้มตาเริ่มเจริญหรือเรียกระยะหางปลา ให้ยับยั้งด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท สูตร 13-0-45 อัตรา 150-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และถ้ายังพบว่ายอดทุเรียนยังพัฒนาต่อ ควรฉีดพ่นซ้ำอีกครั้งหลังจากครั้งแรก 1-2 สัปดาห์
• การลดความเสียหายถ้าพบทุเรียนแตกใบอ่อนในขณะที่ผลโตแล้ว ควรมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ (อาหารเสริม) เพื่อช่วยให้ผลทุเรียนมีการพัฒนาที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยการพ่นปุ๋ยสูตรทางด่วน (คาร์โบไฮเดรตสำเร็จรูป อัตรา 20 ซีซี + ปุ๋ยเกล็ด 15-30-15 ที่มีธาตุรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม + กรดฮิวมิค อัตรา 20 ซีซี ผสมรวมในน้ำ 20 ลิตร) ร่วมกับสาร  มีพิควอทคลอไรด์ ความเข้มข้น 37.5 ให้ทั่วต้นทุเรียน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147