เทคนิควิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวทุเรียน

การโยงผลทุเรียน

วิธีโยงผลทุเรียนที่ถูกต้องสามารถลดการร่วงของผล และกิ่งหักหรือกิ่งฉีกเนื่องจากแลงลมได้ การโยงผลทุเรียนต้องผูกเชือกโยงกับกิ่งทุเรียนให้เลยตำแหน่งเชื่อมระหว่างขั่วผลกับกิ่งไปทางด้านปลายยอดกิ่ง โดยพยายามสอดดึงเชือกที่โยงเหนือกิ่งทำมุมกว้างในแนวขนานกับกิ่งนั้น แล้วดึงปลายเชือกผูกรั้งกับต้นให้ตึงพอประมาณ สังเกตได้จากกิ่งนั้นยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อย และสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเป็นอิสระ เชือกโยงกิ่งหรือผลทุเรียนต้องเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างสูง ควรใช้เชือกโยงหลายสีในกรณีที่มีผลทุเรียนหลายรุ่นในต้นเดียวกัน โดยแบ่งสีโยงแต่ละรุ่น เมื่อผลทุเรียนอายุประมาณ 5-6 สัปดาห์หลังดอกบาน และทำการตรวจความถูกต้องของรุ่นของผลเพื่อแยกรุ่นให้ถูกต้องยิ่งขึ้นเมื่อทุเรียนขึ้นพูอายุประมาณ 8-9 สัปดาห์หลังดอกบาน จะสามารถช่วยทำให้การเก็บเกี่ยวถูกต้อง สะดวกไม่ต้องใช้ความชำนาญสูง
วิธีโยงผลทุเรียนที่ถูกต้องสามารถลดการร่วงของผล
การโยงผลทุเรียน

การตรวจสอบการสุกแก่ของทุเรียน

หลังจากที่ได้ดำเนินการผลิตทุเรียนจนได้ทุเรียนที่มีคุณภาพแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ การเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนที่แก่จัดซึ่งสามารถพัฒนาเป็นทุเรียนสุกหลังจากเก็บเกี่ยวจากต้นแล้ว และมีคุณภาพการรับประทานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้ การตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียนสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1. การตรวจสอบทางจิตวิสัย (Subjective)

เป็นวิธีตรวจสอบคุณภาพด้วยสายตา หรือ มือสัมผัสหรือการชิม โดยใช้การสังเกต และพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบภายนอกและลักษณะภายในผลทุเรียนร่วมกัน ซึ่งทุเรียนผลแก่จะมีลักษณะที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
• ก้านผล แข็ง สีเข้ม สากมือ ปากปลิงบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
• หนาม ปลายหนามแห้ง สีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย หนามกางออก ร่องหนามห่าง เมื่อบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง
• รอยแตกระหว่างพู ผลทุเรียนแก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้ชัดเจน
• เคาะผล เมื่อเคาะผลทุเรียนแก่ จะได้ยินเสียงโปร่งกว่าเคาะผลทุเรียนอ่อน เนื่องจากผลทุเรียนแก่จะมีช่องว่างระหว่างเปลือกกับเนื้อ
• สีเนื้อ/เมล็ดและกลิ่น พันธุ์กระดุมทองผลดิบ จะมีเนื้อสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาล พันธุ์ชะนีผลดิบ จะมีสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย มันเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาลปนครีม ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลดิบ จะมีเนื้อสีขาวปนเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเล็กน้อย มันน้อย รสหว่านน้อย เมล็ดสีครีมปนน้ำตาล
การตรวจสอบโดยใช้ลักษณะจิตวิสัยนี้ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากต้องอาศัยทักษะความชำนาญ และประสบการณ์เฉพาะด้าน จึงจะสามารถตรวจสอบได้แม่นยำ และเนื่องจากการตัดสินใจต้องใช้การสังเกตและพิจารณาประกอบกัน ดังนั้นเมื่อตรวจสอบผลทุเรียนเป็นปริมาณมาก อาจทำให้ผลการตรวจสอบผิดพลาดได้

2. การตรวจสอบทางวัตถุวิสัย (Objective)

เป็นการวัดคุณภาพโดยอาศัยเกณฑ์ที่วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยใช้เครื่องมือเข้าช่วย เป็นวิธีการตรวจสอบที่มีข้อมูลถูกต้อง มีเหตุผล สามารถตรวจสอบ และสอบทานได้ตลอดเวลา เป็นวิธีที่ความเที่ยงตรงมากขึ้น และมีข้อผิดพลาดน้อย ลักษณะหรือองค์ประกอบของทุเรียนที่สามารถนำมาใช้เป็นวิธีตรวจสอบความแก่ทางวัตถุวิสัย ได้แก่
• อายุผลทุเรียน โดยนับจากจำนวนวันหลังดอกบาน ทั้งนี้อายุผลมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความบริบูรณ์ทางสรีรวิทยา (Physiological maturity) คือ ความบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาจะมากขึ้นตามอายุของผลที่มากขึ้นทั้งนี้จุเริ่มต้นที่ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพของทุเรียนนั้น ทุเรียนต้องมีความบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาอย่างน้อย 75% สำหรับต่างประเทศ และมากกว่าหรือเท่ากับ 85% สำหรับตลาดภายในประเทศ หรือตลาดที่สามารถขนส่งได้ภายใน 1-2 วัน อายุผลที่เก็บเกี่ยวจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี หรือในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูงทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่อุณหภูมิต่ำกว่า เป็นต้น
• เสียงเคาะผลทุเรียน ผลทุเรียนที่เริ่มแก่จะเกิดช่องว่างระหว่างเปลือกกับเนื้อของผล ทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกันเมื่อทำการเคาะ เมื่อนำมาสัมพันธ์กับเทคนิคการตรวจสอบความแก่ของผลไม้ด้วยความถี่ธรรมชาติ สามารถใช้ในการคัดแยกความแก่ของผลทุเรียน
• น้ำหนักแห้งของผลทุเรียน เมื่อนำการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของทุเรียนผลดิบพันธุ์ต่างๆ เช่น ความหวาน ความมัน ความกรอบ ความเหนียว เส้นใย และกลิ่นของเนื้อดิบ เป็นต้น
การตรวจสอบการสุกแก่ของทุเรียน
การตรวจสอบการสุกแก่ของทุเรียน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน

การตัดผลทุเรียน ควรตัดเหนือปลิงของก้านผลด้วยมีดคมและสะอาดและส่งผลทุเรียนลงมาจากต้นเพื่อให้คนที่รอรับอยู่ด่านล่าง ระวังอย่าให้ผลตกกระทบพื้น วิธีที่นิยมใช้ในการเก็บเกี่ยวทุเรียนคือ การใช้เชือกโรยหรือใช้กระสอบป่านตวัดรับผล ห้ามวางผลทุเรียนบนพื้นดินในสวนโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผลเน่าติดไปกับผลทุเรียนและควรทำความสะอาด คัดคุณภาพ คัดขนาดก่อนจำหน่าย

วิธีเก็บเกี่ยวผลทุเรียน

1. สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
2. สังเกตหนาม ปลายแหลมแห้งมีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้นเมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ายืดหยุ่น
3. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ปรากฏไม่ชัด เข่น ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว
4. การชิมปลิง ผลทุเรียนที่แก่จัดเมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวในทุเรียนอ่อนและเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน
5. การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและเนื้อภายใน เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
6. การปล่อยให้ทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้นจะบานไม่พร้อมกันและมีช่วงต่างกันไม่เกิน 10 วัน ดังนั้นเมื่อทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วงเป็นสัญญาณเตือนว่าผลทุเรียนที่เหลือในรุ่นนั้นแก่แล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้
7. การนับอายุ โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบานเช่น
• พันธุ์ชะนี ใช้เวลา 100-105 วัน
• พันธุ์กระดุม ใช้เวลา 90-100 วัน
• พันธุ์ก้านยาว ใช้เวลา 120-135 วัน
• พันธุ์หมอนทอง ใช้เวลา 140-150 วัน เป็นต้น
การนับวันหรืออายุของผลจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปีและในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนค้างสูง ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิต่ำ
วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่ถูกต้อง
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน

การจัดการผลผลิตทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว

คัดแยกผลที่มีตำหนิแยกไว้ต่างหาก ขนย้าย วางเรียง ให้เป็นระเบียบบนพื้นที่สะอากรอการขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่โรงคัดบรรจุ
1. คัดเลือกผลผลิตที่ด้อยคุณภาพด้วยสายตา เช่น ทุเรียนอ่อน มีตำหนิ โรคและแมลง เป็นต้น แยกไว้ต่างหาก
2. คัดขนาดและคัดคุณภาพ ตามมาตรฐานคุณภาพของทุเรียน
3. ทำความสะอาดผลทุเรียนที่คัดคุณภาพแล้ว โดยใช้แรงลมเป่า เพื่อกำจัดเศษวัสดุและแมลงบางชนิดออกจากผิวผล จากนั้นจุ่มผลทุเรียนในสารละลายของสารเคมีเบนโนมิล+กรดฟอสฟอรัส เพื่อป้องกันโรคผลเน่า
4. จุ่มผลทุเรียนในสารละลายเอทธิฟอน 1,000-2,000 พีพีเอ็ม หรือจุ่มเฉพาะส่วนก้านผลในสารละลายเอทธิฟอน 10,000 พีพีเอ็ม ในกรณีที่ต้องขนส่งทุเรียนทางอากาศ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วันก่อนถึงผู้บริโภค เพื่อทำให้ผลทุเรียนสุกเสมอกัน
5. ผึ่งผลให้แห้งบนแท่นรองรับสินค้า เมื่อผลทุเรียนแห้งแล้วจึงติดป้ายชื่อสินค้าที่ขั้วผลทุเรียนแล้วจึงบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูก ขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัมต่อกล่อง หรือบรรจุในเข่งพลาสติก หรือตะกร้าหูเหล็ก แล้วขนย้ายด้วยรถพ่วงสินค้าห้องเย็นไปยังท่าเรือหรือท่าอากาศยาน เพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ หรือ เก็บรักษาอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 85-90% เพื่อรอการขนส่ง ไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศต่อไป
การจัดการผลผลิตทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว
การจัดการผลผลิตทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บรักษาผลผลิตทุเรียน

1. อุณหภูมิและความชื้น

อุณหภูมิและความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญในการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนให้นานขึ้น ในสภาพอุณหภูมิห้องปกติ (28-30 องศาเซลเซียส) ผลทุเรียนแก่จะสุกภายใน 4-7 วัน หลังจากนั้นผลจะเหลืองและแตกเนื้อนิ่มลงและมีความแฉะมากขึ้นจนรับประทานไม่ได้ การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำที่เหมาะสม (14-15 องศาเซลเซียส) ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพและทำให้เก็บรักษาทุเรียนได้นาน 10-16 วัน การเก็บรักษาทุเรียนดิบที่อุณหภูมิต่ำเกินไป ผลทุเรียนอาจแสดงอาการสะท้านหนาว (Chilling injury, CI) ได้ อาการที่พบคือ ทุเรียนไม่สุก เปลือกเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล เมื่อนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องทุเรียนจะแสดงอาการรุนแรงขึ้นคือ เปลือกปริ หนาม ก้านและปลิงเหี่ยว ผิวเปลี่ยนสีน้ำตาลคล้ำและเน่าเสียง่าย ความรุนแรงของอาการขึ้นกับอายุการเก็บเกี่ยว ความสุก อุณหภูมิและระยะเวลาการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม
ความชื้นของอากาศมีผลต่อการสูญเสียน้ำของผลไม้ โดยอัตราการสูญเสียน้ำของผลไม้จะสูงเมื่อเก็บรักษาในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ทุเรียนที่เก็บในอุณหภูมิต่ำที่มีความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 75-85% พบว่าเนื้อส่วนที่ติดขั้วเมล็ดมีการเปลี่ยนแปลงเป็นจุดสีน้ำตาลภายใน 1-2 สัปดาห์ อาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้น และยังมีผลกระทบทำให้ทุเรียนสุกไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาทุเรียนในสภาพที่มีความชื้นสูงประมาณ 90% แต่ก็มักพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือการเน่าเสียของผลทุเรียน

2. การใช้สารเคลือบผิว

คุณสมบัติที่สำคัญของสารเคลือบผิวทุเรียน คือ ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผลิตผล ลดอัตราการหายใจชะลอการสุกของผลไม้โดยลดการเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนระหว่างบรรยากาศกับตัวผลผลิต และลดการผ่านเข้าออกของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ภายนอก ซึ่งการลดระดับออกซิเจนและการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ภายในผลทำให้ผลผลิตมีอัตราการหายใจต่ำลง ส่งผลให้การสร้างและการทำงานของ เอทิลีนเกิดขึ้นได้น้อยเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์จะขัดขวางการทำงานของเอลิลีนจึงสามารถชะลอการสุกได้อีกด้วย
การเคลือบผิวทุเรียนพันธุ์ชะนีด้วย Sta-Fresh # 7055 ความเข้มข้น 20% หรือ Tandam ความเข้มข้น 8% ที่ผสมหรือไม่ผสม GA3 ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม จะช่วยรักษาคุณภาพทุเรียนได้นานขึ้น 2-6 วัน เมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง โดยทุเรียนมีคุณภาพการรับประทานที่ดี แต่การใช้สารเคลือบผิวความเข้มข้นสูงไปอาจมีผลเสียทำให้ทุเรียนสุกไม่สม่ำเสมอหรืออาจไม่สุกได้

3.การเก็บทุเรียนในสภาพควบคุมบรรยากาศ (Controlled atmosphere storage, CA)

ในสภาพบรรยากาศที่มีออกซิเจนต่ำ (2-5%) และ/หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง (3-10%) จะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในผลไม้ เข่นเดียวกับการใช้สารเคลือบผิว แต่การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมสัดส่วนของก๊าซที่แน่นอนและคงที่ช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลได้ดีขึ้นในการทดลองเก็บรักษาทุเรียนพันธุ์หมอนทองในสภาพบรรยากาศที่มีออกซิเจนผสมกับไนโตรเจนให้มีออกซิเจนความเข้มข้น 3-10% เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 90-95% นั้นพบว่าสภาพบรรยากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้น 3-5% ทำให้ทุเรียนสุกไม่สม่ำเสมอ ส่วนสภาพบรรยากาศที่มีออกซิเจนความเข้มข้น 7-10% นั้นพบว่าสามารถบ่มทุเรียนให้สุกได้ภายหลังการเก็บรักษา โดยไม่มีอาการผิดปกติแม้จะเก็บรักษานาน 4 สัปดาห์ แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือการเน่าเสียทั้งที่เกิดจากเชื้อที่แฝงมากับผลทุเรียนและจากการเน่าเสียสู่ผลทางขั้วและก้านผล ดังนั้นการจะเก็บทุเรียนสดทั้งผลให้ได้นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อส่งออกทางเรือไปยังประเทศที่นอกเหนือจากตลาดหลักในปัจจุบันนั้นจะต้องมีวิธีควบคุมโรคระหว่างการเก็บรักษาด้วย

4. การลดอุณหภูมิ (precooling)

การลดอุณหภูมิของผลิตผลหลังเก็บเกี่ยวทุเรียน เป็นการทำให้อุณหภูมิของผลิตผลลดลงหรือเย็นลงจนถึงอุณหภูมิขนส่งและ/หรือเก็บรักษา ก่อนที่จะทำการขนส่งหรือเก็บรักษาที่อุณหภูมิที่ต้องการ การลดอุณหภูมิของผลผลิตช่วยระบายความร้อนและลดอัตราการหายใจของผลิตผลให้ต่ำลง เพราะผลิตผลส่วนใหญ่จะมีอัตราการหายใจสูงขึ้น 2-3 เท่า ทุกๆ 10 องศาเซลเซียส ที่สูงขึ้นจากอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษา การลดอุณหภูมิของผลผลิตจึงช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงทางสรีระและการเสื่อมคุณภาพของผลิตผล นอกจากนี้ยังช่วยลดการสูญเสียความชื้น การผลิตเอทธีลีนและการแพร่กระจายของโรคด้วย
การลดอุณหภูมิควรปฏิบัติตั้งแต่การเก็บเกี่ยว คือ เก็บเกี่ยวผลิตผลในช่วงของวันที่มีอากาศเย็นเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรรวบรวมในที่ร่ม ที่มีการระบายอากาศดี เพื่อลดการสะสมของความร้อนซึ่งจะเร่งการสุกหรือเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น ผลิตผลที่ผ่านขั้นตอนการเตรียมหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุหีบห่อแล้วควรรีบลดอุณหภูมิก่อนการเก็บรักษาหรือการขนส่งในตู้สินค้าปรับอุณหภูมิ ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะตู้สินค้าไม่ได้ออกแบบระบบทำความเย็นมาเพื่อรับภาระความร้อนจากสินค้าที่ไม่มีการลดอุณหภูมิก่อน ดังนั้นการไม่ลดอุณหภูมิของผลิตผลก่อนการเรียงในตู้สินค้าอาจมีผลทำให้การลดอุณหภูมิของผลิตผลภายในตู้สินค้าช้าลงและมีผลต่อเนื่องถึงคุณภาพผลิตผลได้ เช่น สุกหรือเน่า นอกจากนี้อาจทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนักเกินไปและเสียหายได้
การลดอุณหภูมิมีหลายวิธีได้แก่ การเก็บในห้องเย็น (Room cooling) การเก็บในห้องเย็นที่มีระบบลมอัด (Forced air cooling) ซึ่งช่วยให้การหมุนเวียนอากาศเย็นผ่านผลิตผลได้เร็วขึ้น การใช้น้ำเย็นไหลผ่านผลิตผล (Hydrocooling) เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ส่งออกทุเรียนบางราย ทำการลดอุณหภูมิโดยการเก็บในห้องเย็นจนทุเรียนมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิที่จะส่งออก แต่การลดอุณหภูมิทุเรียนนั้นยังไม่เป็นที่นิยมกันมากเพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ประกอบกับตลาดใหญ่ของทุเรียนปัจจุบันคือ ประเทศจีน ใช้เวลาการขนส่งสั้น (โดยเฉลี่ย 5-6วัน) ทำให้ผู้ส่งออกให้ความสนใจการลดอุณหภูมิทุเรียนน้อย ที่สำคัญคือต้องการให้ทุเรียนไปถึงตลาดปลายทางในสภาพที่สุกพร้อมรับประทานประกอบกับตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดสดและขายอย่างรวดเร็ว คือ ขายหมดภายใน 1-2 วัน

มาตรฐานสินค้าเกษตรทุเรียน

การกำหนดมาตรฐานสินค้าการเกษตรของทุเรียนจำเป็นต้องมีการกำหนดคุณภาพขั้นต่ำของทุเรียนเอาไว้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดมาตรฐานทุเรียนไว้ดังนี้

1. ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของทุเรียน

1.1 ผลทุเรียนทุกชั้นคุณภาพต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละชั้นคุณภาพและเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้มีได้ตามที่ระบุไว้
• เป็นทุเรียนทั้งผลที่มีขั้วผล
• ตรงตามพันธุ์
• สด
• สะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้
• ไม่มีรอยแตกที่เปลือก
• ไม่มีแมลงศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อลักษณะภาพในของผลทุเรียน
• ไม่มีร่องรอยความเสียหายเนื่องจากแมลงศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของเนื้อทุเรียน
• ไม่มีความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ และ/หรือ อุณหภูมิสูง
• ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม และ/หรือ รสชาติที่ผิดปกติ
• เมื่อผลทุเรียนสุก ไม่มีความผิดปกติของเนื้อ ได้แก่ แกน เต่าเผา ไส้ซึม ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันต้องไม่เกิน 5% ของส่วนที่บริโภคได้
1.2 ผลทุเรียนต้องแก่ได้ที่ขึ้นกันพันธุ์ ฤดูกาล และแหล่งที่ปลูก มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวการบรรจุและการขนส่งอย่างระมัดระวัง เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ยอมรับได้เมื่อถึงปลายทาง

2. การแบ่งชั้นคุณภาพของทุเรียน

ผลทุเรียนตามมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้แบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ ดังนี้

2.1 ชั้นพิเศษ (Extra Class)

ผลทุเรียนในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพที่ดีที่สุด มีลักษณะสมบูรณ์ ต้องมีจำนวนพูสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 4 พู ไม่มีความผิดปกติด้านรูปทรงและไม่มีตำหนิ ในกรณีที่มีความผิดปกติหรือตำหนิต้องมองเห็นไม่ชัดเจน และไม่มีผลกระทบต่อลักษณะภายนอก คุณภาพเนื้อทุเรียน คุณภาพระหว่างการเก็บรักษาและการจัดเรียนเสนอในภาชนะบรรจุ

2.2 ชั้นหนึ่ง (Class 1)

ผลทุเรียนในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดี อาจมีความผิดปกติหรือตำนิได้เล็กน้อย ดังต่อไปนี้
• ความผลิปกติเล็กน้อยด้านรูปทรง โดยจำนวนพูสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 3 พู และพูไม่สมบูรณ์อีก 2 พู และไม่ทำให้รูปทรงผลทุเรียนเสียไป
• ตำหนิเล็กน้อยเกิดจากกระบวนการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวหรือการขนส่ง เช่น รอบแผลเป็นตื้นๆ และหนามหักหรือช้า โดยขนาดของตำหนิโดยรวมต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวของผลทุเรียน
ความผิดปกติหรือตำหนิจะต้องไม่มีผลกระทบต่อลักษณะภายนอก คุณภาพของเนื้อทุเรียน คุณภาพระหว่างการเก็บรักษา และการจัดเรียงเสนอในภาชนะบรรจุ

2.3 ขั้นสอง (Class 2)

ผลทุเรียนในชั้นนี้รวมผลทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เข้าชั้นที่สูงกว่า แต่มีคุณภาพตามข้อกำหนดขั้นต่ำที่กำหนดในข้อ 1 ผลทุเรียนในชั้นนี้มีความผิดปกติหรือตำหนิได้ดังต่อไปนี้
• ความผิดปกติด้านรูปทรง โดยจำนวนพูสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 2 พู และพูไม่สมบูรณ์อีก 2 พู และไม่ทำให้รูปทรงทุเรียนเสียไป
• ตำหนิเล็กน้อยซึ่งเกิดจากกระบวนการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวหรือการขนส่ง เช่น รอยแผลเป็นตื้นๆ และหนามหักหรือช้า โดยขนาดของตำหนิโดยรวมต้องไม่เกิน 10% ของพื้นผิวของผลทุเรียนความผิดปกติหรือตำหนิจะต้องไม่กระทบต่อลักษณะภายนอกคุณภาพของเนื้อทุเรียนคุณภาพระหว่างการเก็บเกี่ยว และการจัดเรียงเสนอในภาชนะบรรจุ

3. มาตรฐานขนาดทุเรียน

3.1 ผลทุเรียนที่เป็นพันธุ์ทางการค้าทั่วไปต้องมีน้ำหนักต่อผล ดังนี้

3.1.1 พันธุ์ชะนี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม และไม่มากกว่า 4.5 กิโลกรัม
3.1.2 พันธุ์หนมอนทอง น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม และไม่มากกว่า 6 กิโลกรัม
3.1.3 พันธุ์ก้านยาว น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม และไม่มากกว่า 4 กิโลกรัม
3.1.4 พันธุ์กระดุมทอง น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.3 กิโลกรัม และไม่มากกว่า 4 กิโลกรัม
3.1.5 พันธุ์นวลทองจันทร์ น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม และไม่มากกว่า 4.5 กิโลกรัม
3.1.6 พันธุ์พวงมณี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม
3.1.7 พันธุ์ทุเรียนอื่นๆ ที่เป็นพันธุ์ทางการค้า ไม่น้อยกว่า 0.5 กิโลกรัม

3.2 การกำหนดรหัสขนาดของทุเรียนพิจารณาจากน้ำหนักต่อผล ดังตาราง

รหัสขนาด
น้ำหนัก/ผล (กิโลกรัม)
1
> 4
2
> 3-4
3
> 2-3
4
> 1-2
5
0.5-1
ตารางขนาดผลทุเรียน

4. เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของทุเรียน

เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเรื่องคุณภาพและขนาดที่ยอมให้มีได้แต่ละภาชนะบรรจุ/รุ่นที่ส่งมอบสำหรับผลทุเรียนที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพและขนาดที่ระบุไว้ มีดังนี้

4.1 เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเรื่องคุณภาพ

4.1.1 ชั้นพิเศษ (Extra Class)
ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 10% โดยจำนวนหรือน้ำหนักของทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของชั้นพิเศษ (ข้อ 2.2) แต่เป็นไปตามคุณภาพชั้นที่หนึ่ง (ข้อ 2.2) หรือ คุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของคุณภาพชั้นที่หนึ่ง (ข้อ 4.1.2) ทั้งนี้ไม่ให้มีความคลาดเคลื่อนของจำนวนพู
4.1.2 ชั้นหนึ่ง (Class1)
ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 10% โดยจำนวนหรือน้ำหนักของผลทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของชั้นที่หนึ่ง (ข้อ 2.2) แต่เป็นไปตามคุณภาพชั้นที่สอง (ข้อ 2.3) หรือ คุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของคุณภาพชั้นสอง (ข้อ 4.1.3) ทั้งนี้ไม่ให้มีความคลาดเคลื่อนของจำนวนพู
4.1.3 ชั้นสอง (Class 2)
ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 10% โดยจำนวนหรือน้ำหนักของทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดชั้นสอง (ข้อ 2.3) หรือไม่ได้ตามข้อกำหนดขั้นต่ำ (ข้อ 1) แต่ต้องไม่มีผลเน่าเสียหรือมีลักษณะอื่นที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภค

4.2 เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนขนาด

ผลทุเรียนทุกรหัสขนาด มีผลทุเรียนที่ขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าถัดไปหนึ่งขั้นปนมาได้ไม่เกิน 25% โดยจำนวนหรือน้ำหนักของผลทุเรียน

5. การบรรจุทุเรียน

5.1 ภาชนะบรรจุทุเรียน

ภาชนะบรรจุต้องมีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ ไม่มีกลิ่นและสิ่งแปลกปลอม สามารถป้องกันความเสียหายที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของทุเรียนได้ วัสดุที่ใช้ภายในภาชนะบรรจุต้องสะอาด และมีคุณภาพมีการใช้วัสดุโดยเฉพาะกระดาษหรือตราประทับที่มีข้อมูลทางการค้าต้องใช้หมึกพิมพ์หรือกาวที่ไม่เป็นพิษ

5.2 ความสม่ำเสมอ

ผลทุเรียนที่บรรจุในแต่ละภาชนะบรรจุ ต้องมีการจัดเรียงสม่ำเสมอทั้งในเรื่องของพันธุ์ คุณภาพและขนาด กรณีที่มองเห็นผลทุเรียนจากภายนอกภาชนะบรรจุผลทุเรียนส่วนที่มองเห็นต้องเป็นตัวแทนของผลิตผลทั้งหมด

6. ฉลากและเครื่องหมายการค้า

6.1 ผลิตผลทุเรียนที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค

ผลิตผลที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคต้องมีความแสดงรายละเอียดที่ภาชนะบรรจุสิ่งห่อหุ้ม สิ่งผูกมัด ป้ายสินค้าหรือบนผลิตผล โดยต้องมองเห็นง่าย ชัดเจน ไม่เป็นเท็จ หรือ หลอกลวง ดังต่อไปนี้
• ชื้อผลิตผล ให้ระบุข้อความว่า "ทุเรียน" และ "ชื่อพันธุ์ทุเรียน"
• น้ำหนักสุทธิ
• ขั้นคุณภาพ
• รหัสขนาด และ/หรือขนาด
• ข้อมูลผู้ผลิต และ/หรือผู้นำเข้า และ/หรือผู้แทนจำหน่าย
• ให้ระบุชื่อและที่อยู่ของสถานที่ผลิต หรือแบ่งบรรจุ หรือจัดจำหน่าย ทั้งนี้อาจแสดงชื่อและที่อยู่สำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตหรือแบ่งบรรจุก็ได้ กรณีนำเข้า ให้ระบุชื่อที่อยู่ของผู้นำเข้า
• ข้อมูลแหล่งผลิต
• ให้ระบุประเทศผู้ผลิต ยกเว้นกรณีที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
• วันที่ผลิต และ/หรือ บรรจุ
• ภาษา
***กรณีผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้***
***กรณีที่ผลิตส่งออกให้แสดงข้อความเป็นภาษาต่างประเทศได้***

6.2 ผลิตผลทุเรียนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค

ต้องมีข้อความระบุในเอกสารกำกับสินค้า ฉลาก หรือแสดงไว้ที่ภาชนะบรรจุ โดยข้อความต้องมองเห็นได้ง่าย ชัดเจน ไม่หลุดลอก ไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวง ดังนี้
• ชื้อผลิตผล ให้ระบุข้อความว่า "ทุเรียน" และ "ชื่อพันธุ์ทุเรียน"
• น้ำหนักสุทธิ
• ขั้นคุณภาพ
• รหัสขนาด และ/หรือขนาด
• ข้อมูลผู้ผลิต และ/หรือผู้นำเข้า และ/หรือผู้แทนจำหน่าย
• ให้ระบุชื่อและที่อยู่ของสถานที่ผลิต หรือแบ่งบรรจุ หรือจัดจำหน่าย ทั้งนี้อาจแสดงชื่อและที่อยู่สำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตหรือแบ่งบรรจุก็ได้ กรณีนำเข้า ให้ระบุชื่อที่อยู่ของผู้นำเข้า
• ข้อมูลแหล่งผลิต
• ให้ระบุประเทศผู้ผลิต ยกเว้นกรณีที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
• วันที่ผลิต และ/หรือ บรรจุ
• ภาษา

6.3 เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าการเกษตร

การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าการเกษตร ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับสินค้าการเกษตร พ.ศ. 2553 และประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห้งชาติที่เกี่ยวข้อง

การแปรรูปผลผลิตทุเรียน

การแปรรูปทุเรียนเป็นการช่วยป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือผลผลิตตกเกรดไม่ได้ขนาดตามที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ช่วงที่ทุเรียนออกผลและเนื้อสุกกำลังดีรสชาติอร่อยนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นการแปรรูปทุเรียนทำให้สามารถเก็บรักษาให้คงสภาพ หรือรสชาติได้เป็นระยะเวลานานขึ้น โดยมีทั้งวิธีการแปรรูปเนื้อทุเรียนดิบและเนื้อทุเรียนสุกจัดเกินช่วงที่รสชาติอร่อยที่สุดไปแล้ว เป็นขนมหวานและอาหารทานเล่น ตลอดจนการทำให้ทุเรียนสุกที่พอดีสำหรับการส่งออก ทำให้สามารถยกระดับราคาผลผลิตทุเรียนไม่ให้ตกต่ำ และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สามารถขยายตลาดการค้าออกไปสู่ต่างประเทศได้
การแปรรูปทุเรียน สามารถทำได้หลายวิธีหรืออาจใช้โรงงานผลิตอาหารทำแทนก็ได้ก็ได้ การแปรรูปทุเรียนสามารถทำได้ดังนี้

1. ทุเรียนกวน

เป็นการแปรรูปด้วยน้ำตาล นำเนื้อทุเรียนที่สุกจัดแล้วผสมกับน้ำตาล โดยใช้ความร้อนกวนผสมให้กลมกลืนกันโดยมีรสหวาน และให้รสชาติเข้มข้นขึ้น
แปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนกวน
แปรรูปทุเรียนเป็น "ทุเรียนกวน"

2. ทุเรียนเชื่อม

เป็นการแปรรูปด้วยน้ำตาล โดยใช้ทุเรียนเนื้อแข็งหรือทุเรียนดิบมาแปรรูปเป็นขนมหวานที่เก็บได้นานขึ้น เนื้อสัมผัสของทุเรียนเชื่อมแล้ว จะเหนียวนึบคล้ายมันสำปะหลังเชื่อม
แปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนเชื่อม
แปรรูปทุเรียนเป็น "ทุเรียนเชื่อม"

3. ทุเรียนทอด

เป็นวิธีแปรรูปทุเรียนด้วยความร้อนและน้ำมัน โดยเลือกใช้ทุเรียนดิบ ปัจจุบันได้รับความนิยมมากจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เพราะทุเรียนทอดจะไม่มีกลิ่นทุเรียนที่บางคนไม่ชอบ ทำให้แม้คนที่ไม่ชอบกินทุเรียนก็ยังสามารถกินทุเรียนทอดได้
แปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนทอด
แปรรูปทุเรียนเป็น "ทุเรียนทอด"

4. ทุเรียนฟรีชดราย (Freeze Dried Durian)

เป็นการแปรรูปทุเรียนโดยทำแห้งแบบเยือกแข็ง คือ การทำให้น้ำที่อยู่ในเนื้อผลเปลี่ยนสถานะเป็นผลึกน้ำแข็งเล็กๆ ลดความดันสภาพแวดล้อมให้ต่ำกว่าบรรยากาศปกติ ผลึกน้ำแข็งจะระเหิดไปเป็นไอน้ำ โดยจะใช้เนื้อผลสด เนื้อทุเรียนที่ผ่านกระบวนการฟรีชดาย จะคงสภาพกลิ่น รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการไว้ใกล้เคียงผลสด สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน และเป็นที่นิยมส่งออกไปยังประเทศจีน วิธีนี้เหมือนการทำอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง
แปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนฟรีชดราย
แปรรูปทุเรียนเป็น "ทุเรียนฟรีชดราย"

5. ทุเรียนแช่เยือกแข็ง

• เป็นการแปรรูปทุเรียนโดยใช้ความเย็น
การแช่เยือกแข็งด้วยห้องทำความเย็นที่อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นจัดเก็บในอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณภาพของทุเรียนไว้ให้ดีที่สุด
แปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็ง
แปรรูปทุเรียนเป็น "ทุเรียนแช่เยือกแข็ง"
• การแช่ด้วยไนโตรเจนเหลว (Nitrogen Freeze) โดยการใช้คุณสมบัติของไนโตรเจนเหลวเย็ดจัดที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส มาทำความเย็นในตู้ควบคุมอุณหภูมิ ให้แกนกลางของผลทุเรียนมีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ทำได้ทั้งทุเรียนผลสุกทั้งผล และเนื้อทุเรียน ซึ่งสามารถคงรสชาติดั้งเดิมไว้ได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และเก็บรักษาทุเรียนได้ยาวนาน
แปรรูปทุเรียนโดยทุเรียนแช่ไนโตรเจนเหลว
แปรรูปทุเรียนโดย "ทุเรียนแช่ไนโตรเจนเหลว"

การใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียน

เปลือกทุเรียนเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากโรงงานแปรรูปทุเรียน และมีเป็นปริมาณมาก ในอดีตไม่มีการนำเปลือกทุเรียนมาใช้ประโยชน์ในแง่อื่นใด นอกเหนือจากใช้เป็นพลังงาน หรือ เป็นปุ๋ย จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียน พบว่า สามารถแปรรูปเป็นกระดาษได้โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ
1. ล้างเปลือกทุเรียนที่แกะเนื้อออกแล้วด้วยน้ำสะอาด แช่สารละลายด่างทับทิม 30 นาที (ด่างทับทิม 1 กรัม หรือ 1/4 ช้อนชา ผสมน้ำ 20 ลิตร) จากนั้นนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
2. ฉีกเศษกระดาษหรือกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง
3. ชั่งเปลือกทุเรียนและกระดาษตามอัตราส่วน 7:1 (เปลือกทุเรียน 7 ส่วนต่อกระดาษ 1 ส่วน) ในที่นี้จะใช้เปลือกทุเรียน 1.75 กิโลกรัม และกระดาษ 0.25 กิโลกรัม
4. นำเปลือกทุเรียนและกระดาษจากข้อ 3 มาต้ม 1 ชั่วโมง โดยใช้น้ำ 4 ลิตร ทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนนำไปปั่นให้ละเอียด
5. นำเปลือกทุเรียนและกระดาษที่ปั่นแล้วใส่ในถังที่เตรียมไว้ เติมน้ำ 40 ลิตร คนให้เข้ากันใช้ตะแกรงซึ่งผลิตจากไนลอน (เบอร์ 16) ตักเส้นใย พยายามให้ความหนาของเส้นใยสม่ำเสมอกัน นำไปตากแดดประมาณ 5 ชั่วโมง เส้นใยจะแห้งสามารถลอกออกเป็นแผ่นกระดาษได้ นำไปเก็บไว้ในที่แห้งเพื่อใช้ในงานประดิษฐ์ต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้สามารถเพิ่มสีสันได้ โดยการเติมสีย้อมผ้าลงไปในถังก่อนตัก (สีย้อมผ้า 20 กรัมต่อวัตถุดิบ 4 กิโลกรัม) หรือจะเติมลวดลาย โดยวางกลีบดอกไม้หลังจากช้อนเสร็จ ก่อนนำไปตากแดด จะได้กระดาษเนื้อเยื่อเปลือกทุเรียนที่มีสีสันโทนอ่อน นิ่มนวล ถ้าต้องการสีส้มที่เข้มสดใส หรือสีฉูดฉาด ไม่ซีดจางเร็ว ให้ย้อมสีเนื้อเยื่อเปลือกทุเรียนวิธีเดียวกับการย้อมสีผ้า ก่อนการเติมน้ำและตักเส้นใยด้วยตะแกรงดังกล่าว
การดาษเปลือกทุเรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง ทั้งในรูปของใช้เบ็ดเตล็ด ของประดับตกแต่ง และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิต และควรเลือกให้เหมาะสมกับความหนา บาง สี และพื้นผิวของกระดาษ จะทำให้ผลงานที่มีคุณค่าและสวนงาม การผลิตกระดาษจากเปลือกทุเรียนนี้มีความเป็นไปได้สูงมากในการผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าของเปลือกทุเรียนและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
กล่าวสรุปทุเรียนสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบ เช่น ทุเรียนกวนสำเร็จรูป ทุเรียนกวนกิ่งสำเร็จรูป ทุเรียนทอดนิ่ม ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนผง เพื่อนำไปพัฒนาเป็นขนม หรือผสมในอาหารอื่นๆ การแปรรูปเป็นการใช้ประโยชน์ของเนื้อทุเรียนจากผลผลิตที่มีมากเกินความต้องการของตลาดบริโภคสดช่วยทำให้ราคาทุเรียนสดไม่ตกต่ำจนเกินไป และสามารถเก็บผลิตภัณฑ์ไว้จำหน่ายได้เป็นเวลานาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องหลังฤดูการผลิตปกติ การนำเปลือกทุเรียนมาแปรรูปเป็นกระดาษ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147