วิธีคัดเลือกพันธุ์ข้าวกล้องให้ได้คุณภาพที่ดีสำหรับการเพาะกล้า
สถานการณ์ในปัจจุบัน บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่กำลังเข้ามามีบทบาทในการควบคุมเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของชาวนา ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวกำลังถูกถ่ายโอนไปสู่ธุรกิจภาคเอกชนมากขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกถูกผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ ชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น
นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมักจะไม่เหมาะสมกับระบบการทำนาของชาวนา ทำให้ชาวนาต้องปรับระบบการทำนาของตนไปตามพันธุ์ข้าวที่ตนเองปลูก กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนา ในขณะที่พบว่าความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่ชาวนาลดลง ทำให้การทำนามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดโรคระบาดข้าวได้ง่าย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ของชาวนาให้สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดระบบการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนา
ทำอย่างไรจึงจะได้ข้าวพันธุ์ดี
1. จะต้องมีการเก็บรวบรวมพันธุ์ให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีการปรับตัวได้ดีในพื้นที่นั้นๆ
2. การเก็บรวบรวมจากภายนอกอาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายชาวนาหรือจากธนาคารเชื้อพันธุ์
3. จะต้องมีการปลูกทดสอบพันธุ์เพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ คัดเลือกไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
4. จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการปรับปรุงพันธุ์ ว่าจะทำการปรับปรุงพันธุ์ไปเพื่ออะไร
5. ต้องเข้าใจว่าการผสมพันธุ์เป็นการเติมลักษณะต่างๆ เข้าไป เพื่อสร้างตัวเลือกที่จะเกิดในชั่วลูกชั่วหลานให้มากขึ้น
6. จะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์หลังการผสมเพื่อหาพันธุ์ที่ต้องการ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาพอสมควรในการคัดพันธุ์ข้าว
วิธีการคัดพันธุ์จากข้าวกล้อง
การคัดพันธุ์ข้าวมีหลายวิธี การคัดพันธุ์ข้าวแบบดั้งเดิมที่ชาวนาเคยทำ คือการคัดเลือกข้าวจากแปลงนาที่ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นขึ้นปนและการคัดเลือกเก็บรวงที่สมบูรณ์ไว้สำหรับทำพันธุ์ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าว เช่น ปัญหาท้องไข่ ความมันวาว เมล็ดร้าว เมล็ดบิดเบี้ยว ข้าวปน เป็นต้น จึงมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวกล้องที่จะเรียนรู้เป็นเทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิข้าวขวัญจากการทดลองในพื้นที่ของมูลนิธิฯ และ เครือข่ายชาวนากลุ่มแสงตะวัน จังหวัดพิจิตร พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวและสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว ต่อพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแกะเปลือกด้วยมือโดยแกะจากด้านหางของเมล็ดข้าวเพื่อไม่ให้จมูกข้าวถูกทำลาย
เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์
ขั้นตอนคัดพันธุ์จากข้าวกล้อง
1. การแกะข้าวก้องด้วยมือ
มีขั้นตอนดังนี้
• นำเมล็ดข้าวเปลือกสายพันธุ์ที่ต้องการมาประมาณครึ่งกิโลกรัม ฝัดทำความสะอาดเพื่อให้เมล็ตลีบออกไป แกะเปลือกด้วยมือ โดยแกะจากด้านหางของเมล็ดข้าวเพื่อไม่ให้จมูกข้าวถูกทำลาย
• เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิว ให้ใต้ฐานวนประมาณ 100 เมล็ด และนำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกใช้ ไปเพาะเป็นต้นกล้า
2. การกะเทาะด้วยเครื่องสีข้าว
มีขั้นตอนดังนี้
• นำเอาเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ที่ต้องการมา 1-2 กิโลกรัม จากนั้นทำความสะอาด เพื่อให้เมล็ดลีบออกไป นำข้าวเปลือก ไปสีด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง และนำข้าวกล้องที่สีได้มาฝัด
• เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวให้ได้จำนวนที่ต้องการ
• นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกได้ไปเพาะเป็นต้นกล้า
การกะเทาะด้วยครื่องสีข้าว
ขั้นตอนคัดพันธุ์จากข้าวกล้อง
วิธีการเพาะกล้าข้าวกล้อง
สามามารถทำได้ 3 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การเพาะกล้าในถุงพลาสติก
1. นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดแล้วใส่ในถุงพลาสติกแบบซิปใส่น้ำสะอาดลงไปในอัตรา ส่วน 2 ใน 3
2. เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 2 วัน ประมาณ 3-4 วัน จะสังเกตเห็นรากและข้าวงอกออกมาจากเมล็ดข้าว
3. หลังจากนั้นนำเมล็ดที่งอกไปเพาะในแปลงเพาะต่อไป
นำเมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องที่คัดแล้วใส่ในถุงซิป
เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 2 วัน วันที่ 3-4 จะสังเกตเห็นรากงอกออกมา จากนั้นนำเมล็ดที่งอกไปเพาะในแปลงต่อไป
วิธีที่ 2 การเพาะกล้าในกระถาง
1. นำแกลบดำหรือทรายหยาบใส่ในกระถาง 3 ใน 4 ส่วน เกลี่ยให้เสมอกัน
2. นำเมล็ดข้าวที่คัดไว้มาเพาะโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอนำแกลบหรือทรายหยาบ โรยทับหนา 1-2 เซนติเมตร และ พรมน้ำให้ชื้นพอประมาณ
3. นำกระถางวางลงบนถาดรองใส่น้ำลงไปในถาดรองเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันมดเข้าทำลาย
4. หมั่นตรวจรักษาระดับน้ำในถาดรอง ประมาณ 3 วัน เมล็ดข้าวกล้องจะเริ่มมีรากงอกและเจริญเป็นต้นกล้า หลังนั้นประมาณ 7-10 วัน นำต้นกล้าที่ได้ไปเพาะในแปลงขยายต่อไป
นำแกลบดำหรือทรายหยาบใส่ในกระถาง 3 ใน 4 ส่วน เกลี่ยให้เสมอกัน
โรยเมล็ดข้าวที่คัดไว้ให้สม่ำเสมอ
นำแกลบหรือทรายหยาบโรยเพิ่มอีก 1-2 ซม. และพรมน้ำให้ชื้น
นำกระถาดออกมาวางแล้วใส่น้ำไปในถาดรองเพื่อรักษาความชื้น
วิธีที่ 3 การเพาะกล้าในแปลงนา
1. การเตรียมแปลงเหมือนกับการเตรียมแปลงตกกล้าทั่วไป ปรับเทือกให้เรียบสม่ำเสมอ
2. โรยแกลบดำหรือทรายหยาบ หนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ทั่วทั้งแปลง โรยเมล็ดข้าวกล้องที่คัดแล้วให้ทั่วทั้งแปลง โรยทับด้วยแกลบหรือทรายหยาบอีกครั้ง หนาประมาณ 1 เซนติเมตร วัดน้ำให้ชุ่มทั้งแปลง
3. ทำร่องน้ำรอบๆ แปลงเพาะเพื่อรักษาความชื้น และ ป้องกันมดเข้าทำลาย
4. หลังจากการเพาะประมาณ 25 วัน สามารถถอนกล้าไปปักดำได้ตามปกติ
การเตรียมแปลงเหมือนกับแปลงตกกล้าทั่วไป
โรยแกลบดำหรือทรายหยาบให้ทั่วทั้งแปลงแล้วโรยเมล็ดข้าวกล้อง จากนั้นโรยทับด้วยแกลบดำหรือทรายหยาบอีกครั้ง
ทำร่องน้ำรอบแปลงเพาะ เพื่อรักษาความชื้น