ระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว มีกี่ระยะ ที่ชาวนาควรรู้ก่อนเริ่มปลูกข้าว

วงจรชีวิตของต้นข้าวเริ่มจากปฏิสนธิ เจริญเติบโตเป็นต้นอ่อน แล้วพัฒนาการเป็นต้นแก่ ออกรวง จนกระทั่งเมล็ดสุกแก่ ในเขตร้อนโดยทั่วไปต้นข้าวจะครบวงจรชีวิตในเวลาประมาณ 100-200 วัน ข้าวมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยระยะการพัฒนาการและเจริญเติบโตที่ต่างกันขึ้นกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

ระยะพัฒนาการและการเจริญเติบโตของข้าว

พัฒนาการและการเจริญเติบโตของข้าวแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative stage)

การเจริญเติบโตทางลำต้นของข้าวมีหน้าที่สำเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและเตรียมอาหารต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างส่วนต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และส่วนหนึ่งอาจนำไปสะสมไว้ในอวัยวะบางส่วน เช่น ลำต้นและราก เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงการเจริญเติบโตด้านการสืบพันธุ์และช่วงการเจริญเติบโตของเมล็ด การเจริญเติบโตในช่วงนี้แบ่งเป็น 4 ระยะคือ

1.1 ระยะงอก (germination)

-ข้าวใช้เวลาการเจริญเติบโตในระยะนี้ประมาณ 4-7 วัน การงอกของเมล็ดเริ่มสังเกตได้โดยเห็นการโผล่ของรากอ่อนหรือยอดอ่อนซึ่งห่อหุ้มด้วยปลอกใบหรือปลอกหุ้มต้นอ่อน โดยเริ่มงอกตรงโคนของเมล็ดด้านที่เป็นจมูกข้าวที่ติดกับก้านดอก ถ้างอกในที่ที่มีออกซิเจนเพียงพอ ปลอกหุ้มรากจะงอกออกมาก่อน ถ้าขาดออกซิเจนหรือมีปริมาณน้อย เช่น งอกใต้น้ำ ปลอกจะงอกออกมาก่อน

1.2 ระยะกล้า (seedling emergence)

หลังจากเมล็ดงอก จะมีรากเจริญออกมาจากแห่งเดียวกับรากอ่อนอีกประมาณ 2 ราก ทั้งสามรากนี้จัดเป็นรากชุดแรก ซึ่งจะมีรากแขนงออกมาภายหลังอีกมาก รากชุดแรกจะทำหน้าที่ดูดน้ำเข้าไปเลี้ยงต้นอ่อนในระยะแรกๆ รากชุดแรกจะตายไปเมื่อมีรากชุดที่สองเกิดขึ้น รากชุดที่สองนี้จะเกิดขึ้นจากข้อตอนล่างๆ ของต้นกล้า เมื่อรากงอกแล้วลำต้นอ่อนจะยืดให้ปลอกใบและใบอ่อนใบแรกโผล่พ้นดิน ใบอ่อนใบแรกนี้แตกต่างกับใบต่อๆ มา คือ มีเพียงเฉพาะกาบใบเท่านั้น ทำหน้าที่หุ้มใบอื่นๆ ที่อยู่ภายใน ใบอ่อนจะยืดออกมาประมาณ 1 ซม. ก็จะหยุดและมีใบต่อๆ มาโผล่ตรงปลาย เมื่อเกิดใบอ่อนใบแรกไม่นานก็มีลำต้นเกิดขึ้นชัดเจนประกอบด้วยข้อและปล้อง ใบที่สอง ที่สามและใบต่อๆ ไปจะเกิดขึ้นที่ข้อ ข้อละใบจนถึงใบที่ 5 ในระยะแรกอาหารของต้นอ่อนได้มาจากอาหารที่สะสมในเมล็ด เมื่อมีใบที่ 3 และใบที่ 4 ต้นกล้าจะเริ่มใช้อาหารซึ่งรากดูดซึมมาจากดิน และใบเริ่มปรุงอาหารได้เองแล้ว

1.3 ระยะแตกกอ (tillering stage)

การแตกกอเริ่มจากปรากฏเห็นหน่อแรกจากตาของข้อล่างสุดในการปลูกข้าวจากเมล็ดโดยตรง ต้นข้าวจะแตกกอจากข้อแรกและข้อต่อๆ ไป ซึ่งอาจจะเริ่มเมื่อข้าวมีใบที่ 4 หรือใบที่ 5

1.4 ระยะยืดปล้อง (stem elongation stage)

หลังจากระยะแตกกอหากต้นข้าวยังไม่ก้าวเข้าสู่ระยะกำเนิดช่อดอก เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลา (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง-อายุหนัก) หรือช่วงแสงยังไม่เหมาะสม (ข้าวไวต่อช่วงแสง) ต้นข้าวอาจเริ่มยึดปล้องที่อยู่ทางตอนล่างเพราะยังอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น การยืดปล้องระยะนี้ทำให้ต้นข้าวมีความสูงเพิ่มขึ้นและอาจล้มง่าย แต่ในข้าวพันธุ์อายุสั้นต้นข้าวอาจเข้าสู่ระยะกำเนิดช่อดอกได้โดยไม่มีการยืดปล้องเพราะมีระยะเวลาสั้นหรือมีการยืดปล้องไปพร้อมๆ กับการกำเนิดและพัฒนาการของช่อดอก

2. ระยะการเจริญเติบโตทางสืบพันธุ์ (reproductive stage)

เริ่มตั้งแต่ข้าวเริ่มสร้างช่อดอกถึงดอกบาน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 35 วัน แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

2.1 ระยะกำเนิดช่อดอก (panicle initiation)

ช่อดอกกำเนิดที่จุดเจริญ เริ่มแรกจะมีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ประมาณ 10 วันต่อมาจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะคล้ายขนนกสีขาวยาวประมาณ 2 มม. ซึ่งตามปกติจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 60-65 วันก่อนเก็บเกี่ยว หรือประมาณ 55-60 วันหลังหว่านเมล็ดข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงที่มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ในต้นข้าวกอเดียวกัน ช่อดอกจะเกิดในต้นแม่ก่อนหน่อที่แตกจากต้นแม่ละหน่อที่เกิดรองๆ ลงมา
ในระยะนี้นอกจากจะมีการกำเนิดของดอกข้าวแล้ว ยังมีการยืดปล้องที่อยู่ตอนล่างของลำต้นควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะในข้าวอายุสั้นที่ไม่มีโอกาสยืดปล้องในระยะสุดท้ายของช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้น (ระยะยืดปล้อง)

2.2 ระยะตั้งท้อง (booting)

หลังจากกำเนินช่อดอก รวงอ่อนของข้าวจะเจริญเติบโตและพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของรวง มีการสร้างเปลือกดอกใหญ่ เปลือกดอกเล็ก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ก่อนออกดอกประมาณ 15 วัน รวงข้าวจะมีความยาวประมาณ 1.5 ซ.ม. เป็นระยะเริ่มสร้างเรณูและถุงหุ้มไข่ หลังจากนี้การเจริญจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนออกดอก 12 วัน รวงอ่อนจะยาวประมาณ 8.0 ซ.ม. และเป็นระยะการแบ่งเซลล์สร้างเรณูและไข่ ก่อนออกดอก 8 วัน ความยาวของรวงอ่อนมีขนาดเกือบเต็มที่อาจยาวถึง 18 ซ.ม. ก่อนครบกำหนดออกดอก 6 วัน รวงอ่อนจะมีความยาว 19 ซ.ม. เรณูจะเจริญเต็มที่มีส่วนต่างๆ ครบสมบูรณ์ ก่อนออกดอก 4 วัน รวงอาจยาวถึง 21 ซ.ม. เม็ดเรณูขยายใหญ่ขึ้นจนเห็นได้ชัด แต่ยังบิดๆ เบี้ยวๆ อยู่ เมื่อการเจริญของรวงข้าวครบและสมบูรณ์เต็มที่ถุงหุ้มเมล็ดไม่ขยายตัว เซลล์ไข่จะเลื่อนลงมาชิดกับผนังของถุงหุ้มด้านที่อาจสัมผัสกับเชื้อตัวผู้ได้โดยง่าย และเรณูก็เจริญเต็มที่ในอับเกสร โดยปกติดอกข้าวจะเกิดที่ปลายรวงก่อนและดอกต่อๆ มาเกิดขึ้นภายหลังตามลำดับ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงอาจจะเต็มรวง ดอกที่ปลายรวงจะแข็งแรงกว่าโคนรวง
ในระยะนี้นอกจากจะมีการพัฒนาของรวงข้าวดังที่กล่าวแล้ว ยังมีการยืดปล้องที่อยู่ตอนบนของลำต้นควบคู่ไปด้วยเพื่อที่จะดันให้รวงข้าวออกจากกาบใบธง

2.3 ระยะออกรวง (heading)

เมื่อถึงกำหนดออกรวง รวงข้าวจะโผล่ออกจากกาบใบธง ซึ่งจะยื่นออกไปเรื่อยๆ จนประมาณ 90% ของรวงข้าวโผล่ออกจากกาบใบธง

2.4 ระยะดอกข้าวบาน (flowering หรือ anthesis)

ในสภาวะปกติดอกข้าวจะบานหลังจากออกรวงประมาณ 1 วัน ก้านเกสรตัวผู้จะยืดยาวขึ้นและอับเกสรจะเปิดออก เรณูหรือละอองเกสรตัวผู้จะหล่นลงบนยอดเกสรตัวเมียเกิดการผสมเกสร การบานของดอกปกติอยู่ระหว่าง 7.00 น. ถึง 12.00 น. มีระยะหนึ่งที่ดอกข้าวเป็นจำนวนมากบานได้รวดเร็ว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นระยะพอเหมาะในการบานของดอกที่สุด ซึ่งอาจไม่คงที่เสมอไปสำหรับท้องถิ่นหนึ่งๆ และแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นในบรรยากาศ อุณหภูมิและความเข้มของแสง อุณหภูมิที่พอเหมาะจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ในวันที่อากาศแจ่มใสและอุณหภูมิสูงการบานจะสม่ำเสมอกว่าในวันที่มีฝนตก หรือ ท้องฟ้ามีเมฆมาก และอุณหภูมิต่ำดอกจะบานอยู่หนเดียวและนานประมาณ 2 ชม.

3. ระยะสุกแก่ (ripening stage)

เริ่มหลังจากการผสมเกสรถึงการสุกแก่ของเมล็ด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 25-35 วัน แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

3.1 ระยะเมล็ดน้ำนม (milk grain stage)

เริ่มหลังจากการผสมเกสรจนกระทั่งเมล็ดข้าวเริ่มเต็มเมล็ด แต่อาหารในเมล็ดข้าวยังไม่แข็งตัว มีลักษณะคล้ายน้ำนม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วันนับหลังจากการผสมเกสร

3.2 ระยะแป้งในเมล็ดแข็งตัว (dough grain stage)

จากระยะน้ำนมจนกระทั่งเนื้อแป้งในเมล็ดมีลักษณะแข็ง ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 14-21 วันนับหลังจากการผสมเกสร

3.3 ระยะเมล็ดสุกแก่ (mature grain stage)

เมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดจะนับว่าสุกแก่ได้ต้องมีพัฒนาการเต็มที่ในเรื่องขนาด ความแข็ง ความใส และสีเขียวหมดไป ระยะสุกแก่เริ่มจากระยะที่แป้งในเมล็ดแข็งตัวและสิ้นสุดเมื่อ 90% ของเมล็ดทั้งหมดสุก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 25-35 วันนับหลังจากการผสมเกสร

ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว

ลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว

1. ดิน (soil)

ดิน ข้าวสามารถปลูกเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในดินแทบทุกประเภทตั้งแต่ดินทรายจนถึงดินเหนียว แต่เหมาะที่จะปลูกในดินที่มีความอุ้มน้ำได้ดีและมีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5-7 (ดินนาส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.5-7)

2. ฝน (rainfall)

โดยเฉลี่ยต้นข้าวที่มีอายุประมาณ 120 วัน ต้องการใช้น้ำตลอดฤดูการผลิตประมาณ 1,000-2,000 ม.ม. ต่อไร่

3. อุณหภูมิ (temperature)

อุณหภูมิที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวมี 3 อย่าง คือ อุณหภูมิที่เหมาะสม อุณหภูมิต่ำ และ อุณหภูมิสูง อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวอยู่ระหว่าง 20-35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำหรือสูงเกินไปจะทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้ไม่ดี และให้ผลผลิตต่ำ ผลผลิตข้าวอาจเสียหายทั้งหมดหากมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปโดยเฉพาะในระยออกรวงเพราะเมล็ดลีบเนื่องจากไม่มีการผสมเกสร ในช่วงการสร้างเมล็ดอุณหภูมิต่ำกว่าปกติเล็กน้อยมีส่วนช่วยการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวมากกว่าอุณหภูมิสูง อุณหภูมิโดยทั่วไปของประเทศไทยจัดว่าเหมาะสมกับการปลูกข้าว
อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการงอกของเมล็ดข้าวอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส เมล็ดข้าวจะงอกน้อยผิดปกติหากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นกล้าและการแตกกอของต้นข้าวอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ต้นกล้าจะชะงักการแตกกอหากอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเมล็ดในระยะสุกแก่อยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส

4. แสงแดด (solar radiation)

คุณภาพของแสงและความยาวของช่วงวันเป็นสิ่งกำหนดการออกดอก โดยที่ความเข้มของแสงยิ่งมากก็จะทำให้สังเคราะห์แสงดีขึ้น จึงมีอาหารมากพอในการออกดอก ส่วนความยาวช่วงวันนั้นก็สำคัญมากเช่นกัน แสงแดดที่ต้นข้าวใช้ในการสังเคราะห์แสงอย่างมีประสิทธิภาพจัดอยู่ในช่วงคลื่นแสงสั้น คือช่วงแสง 380-270 nm ประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตศูนย์สูตรจึงมีช่วงแสงนานเพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว ยกเว้นในวันที่ฝนตกหรือท้องฟ้ามีเมฆหนา

5. ความยาวนานของวัน (day length หรือ photoperiod)

ประกอบด้วย ช่วง daylight และ ช่วง civil twilight ซึ่งช่วง daylight เป็นช่วงระหว่าง sunrise และ sunset ส่วนช่วง civil twilight เป็นช่วงก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก เมื่อดวงอาทิตย์ทำมุม 6 องศา ต่ำกว่าขอบฟ้า (horizon) ช่วงแสง (photoperiod) มีผลต่อการกำเนิดช่อดอกของข้าวที่ไวต่อแสง เนื่องจากข้าวเป็นพืชวันสั้น ที่ต้องการช่วงแสงสั้นกว่าช่วงแสงวิกฤติในการชักนำให้เกิดช่อดอก การตอบสนองของพันธุ์ข้าวขึ้นกับพันธุ์และสภาพแวดล้อม เช่น ข้าวอินติกามีการกำเนิดช่อดอก ตั้งแต่ 10.5-76.5 วันหลังปลูกและมีการทดลองข้าว 8 พันธุ์ พบว่า มีรูปแบบการพัฒนาปลายยอดคล้ายคลึงกัน แต่มีระยะเวลาการพัฒนาปลายยอดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอิทธิพลของพันธุ์ ความยาวนานของวัน และวันปลูก สำหรับข้าวดอกมะลิ 105 จะออกดอกเมื่อช่วงแสงตั้งแต่ 11 ชม. 52 นาที

6. ลม (wind)

การแสลมอ่อนอาจมีส่วนช่วยตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการสังเคราะห์แสงและลดอุณหภูมิซึ่งช่วยอัตราการหายใจของต้นข้าวได้ กระแสลมที่แรงเกินไปทำให้ต้นข้าวหักโค่นเสียหาย เมล็ดลีบและผลผลิตเสียหายได้

7. ความชื้นในอากาศ (%RH)

ความชื้นในอากาศไม่มีความสำคัญต่อผลผลิตข้าวโดยตรง แต่ทำให้เกิดน้ำค้างบนใบพืชเป็นระยะเวลานานเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคใบไหม้ (blast) ในข้าว
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147