แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด ปัญหาที่ชาวนาต้องจัดการ

ตอน  1  2 

หนอนห่อใบข้าว (rice leaffolder, LF)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนห่อใบข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cnaphalocrocis medinalis (Guenee)
วงศ์ : Pyralidae อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : หนอนม้วนใบข้าว หนอนกินใบข้าว

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนห่อใบข้าว

หนอนห่อใบข้าว Cnaphalocrocis medinalis (Guenee) ตัวเต็มวัยเป็นฝีเสื้อกลางคืนปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีกตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย วางไข่เวลากลางคืนประมาณ 300 ฟอง บนใบข้าว ขนานตามแนวเส้นกลางใบและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไข่มีลักษณะเป็นรูปจานสีขาวขุ่นเป็นกลุ่ม ประมาณ 1-12 ฟอง บางครั้งวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนโตเต็มที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด ระยะหนอนนาน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบข้าวที่ห่อตัวหนอน ระยะดักแด้นาน 4-8 วัน ตัวเต็มวัยจะหลบซ่อนบนต้นข้าวและวัชพืชตระกูลหญ้าในเวลากลางวัน และจะบินหนีเมื่อถูกรบกวน
ลักษณะตัวหนอนห่อใบข้าว
หนอนห่อใบข้าว
ลักษณะผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว
ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว

ลักษณะการทำลายของหนอนห่อใบข้าว

ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนาตั้งแต่ยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว บริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นทางยาวขนานกับเส้นกลางใบ มีผลให้การสังเคราะห์แสงลดลงหนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปาก ดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากัน เพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้หนอนจะทำลายใบข้าวทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว ถ้าหนอนมีปริมาณมากจะใช้ใบข้าวหลายๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน ซึ่งปรกติจะพบตัวหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อผลผลิตข้าวเพราะทำให้เมล็ดข้าวลีบ น้ำหนักลดลง หนอนห่อใบสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก พบระบาดในนาเขตชลประทาน โดยเฉพาะแปลงข้าวที่ใส่ปุ๋ยอัตราสูง
ลักษณะต้นข้าวที่ถูกทำลายของหนอนห่อใบข้าว
ลักษณะการทำลายของหนอนห่อใบข้าว

การป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าว

1. ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำควรปลูกข้าว 2 พันธุ์ขึ้นไป โดยปลูกสลับพันธุ์กัน จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาด
2. กำจัดพืชอาศัย เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าปล้อง หญ้าไซ หญ้าชันกาด และ ข้าวป่า
3. ไม่ควรใช้สารกำจัดฆ่าแมลงชนิดเม็ดและสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ หรือ สารผสมสารไพรีอรอยด์สังเคราะห์ ในระยะหลังหว่าน 40 วัน เพราะศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย ทำให้เกิดการระบาดของหนอนห่อใบข้าวรุนแรงได้ในระยะข้าวตั้งท้อง-ออกรวง
4. เมื่อเริ่มมีการระบาดของหนอนห่อใบข้าวในแปลงข้าว ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน 5 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กิโลกรัม/ไร่ ควรแบ่งใส่ปุ๋ยในช่วงข้าวกำลังเจริญเติบโตและลดปริมาณปุ๋ยที่ใส่โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ใส่ไม่เกิน 30 กิโลกรัม/ไร่
5. เมื่อตรวจพบฝีเสื้อหนอนห่อใบข้าว 4-5 ตัว/ตารางเมตร และพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15% ในข้าวอายุ 15-40 วัน ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น สารเบนซัลแทป (แบนคอล 50% ดับบลิวพี) อัตรา 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5% เอสซี) อัตรา 30-50 มิลลิลิตร/น้ำ 20ลิตร และสาร คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80-110 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เฉพาะพื้นที่ที่มีใบถูกทำลายจนเห็นเป็นรอยขาวๆ

หนอนกอข้าว (rice stem borers, SB)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนกอข้าวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนกอข้าวสีครีม
1. หนอนกอข้าวสีครีม (yellow stem borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Scirpophaga incertulas (Walker)
ลักษณะรูปร่างหนอนกอแถบลายเล็ก
2. หนอนกอแถบลายเล็ก (Striped stem borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chilo suppressalis (Walker)
ลักษณะรูปร่างหนอนกอแถบลายสีม่วงหรือหนอนกอหัวดำ
3. หนอนกอแถบลายสีม่วงหรือหนอนกอหัวดำ (dark-headed stem borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Chilo polychrysus (Meyrick)
ลักษณะรูปร่างหนอนกอสีชมพู
4. หนอนกอสีชมพู (pink stem borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Sesamia inferens (Walker)
วงศ์ : Pyralidae อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : ชีปะขาว

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนกอข้าว

หนอนกอข้าวพบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 4 ชนิด คือ หนอนกอสีครีม หนอนกอแถบลาย หนอนกอแถบลายสีม่วง และหนอนกอสีชมพู หนอนกอข้าวเป็นแมลงศัตรูข้าวที่พบทุก สภาพแวดล้อม โดยทั่วไปพบทําลายมากในฤดูนาปรัง มากกว่านาปีตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม และ เดือนตุลาคม-ธันวาคม ส่วนฤดูนาปีพบระบาดในช่วง เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ต้นข้าวที่ถูกหนอนกอ ทําลาย จะพบตัวหนอนติดอยู่และดึงหลุด ได้ง่าย ผีเสื้อหนอนกอข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่แปลงนาเมื่อข้าวอายุระหว่าง 30-50 วัน การระบาดมากน้อย ขึ้นกับสภาพแวดล้อมและฤดูการทํานาของสถานที่ นั้นๆ สามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก
ลักษณะตัวหนอนกอสีครีม
หนอนกอสีครีม
ลักษณะตัวหนอนกอแถบลาย
หนอนกอแถบลาย
ลักษณะตัวหนอนกอแถบลายสีม่วง
หนอนกอแถบลายสีม่วง
ลักษณะตัวหนอนกอสีชมพู
หนอนกอสีชมพู
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกอสีครีม
ผีเสื้อหนอนกอสีครีม
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกอแถบลาย
ผีเสื้อหนอนกอแถบลาย
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกอแถบลายสีม่วง
ผีเสื้อหนอนกอแถบลายสีม่วง
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกอสีชมพู
ผีเสื้อหนอนกอสีชมพู

ลักษณะการทำลายของหนอนกอข้าว

หนอนกอข้าวทั้ง 4 ชนิด ทำลายข้าวลักษณะเดียวกัน คือ หลังจากหนอนฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบข้าวก่อนทำให้กาบใบข้าวมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นรอยช้ำๆ เมื่อฉีกกาบใบข้าวดูจะพบตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ "ยอดเหี่ยว" ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า "ข้าวหัวหงอก" (whitehead)
หนอนกอข้าวเป็นแมลงศัตรูข้าวที่พบระบาดในทุกสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปพบระบาดมากในช่วงปลายฤดูฝนต้นข้าวที่ถูกหนอนกอทำลายมักจะพบมูลของตัวหนอนติดอยู่ที่ต้นข้าวหรือรวงข้าวที่ถูกทำลาย จะดึงออกง่ายด้วยมือฝีเสื้อหนอนกอข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่แปลงนาเมื่อข้าวอายุระหว่าง 30-50 วัน การระบาดมากน้อยขึ้นกับสภาพแวดล้อมและฤดูการทำนาของสถานที่นั้นๆ หนอนกอข้าวสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย/ฤดูปลูก
ข้าวหัวงอกที่เกิดจากการทำลายของหนอนกอข้าว
ข้าวหัวงอกที่เกิดจากการทำลายของหนอนกอข้าว
ต้นข้าวยอดเหี่ยวที่เกิดจากการทำลายของหนอนกอข้าว
ต้นข้าวยอดเหี่ยวที่เกิดจากการทำลายของหนอนกอข้าว

พืชอาหารของหนอนกอข้าว

ข้าว ข้าวป่า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด หญ้าปล้องหิน

การป้องกันกำจัดหนอนกอข้าว

1. ไถตอซังหลังเก็บเกี่ยว ไขน้ำท่วมนาข้าวและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซังหรือตากฟางข้าวให้แห้งหลังจากนวดข้าว
2. ปลูกข้าวพันธุ์เบาเพื่อลดจำนวนประชากรและการทำลาย
3. ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ใบข้าวงามหนอนกอชอบวางไข่
4. ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย
5. ไม่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว สามารถควบคุมประชากรหนอนกอข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. เมื่อพบอาการข้าวยอดเหี่ยวในระยะข้าวอายุ 3-4 สัปดาห์ หลังหว่าน/ปักดำในระดับ 10-15% ให้ใช้สารชนิดพ่น เช่น คอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิคร พ่นให้ทั่วแปลงเพียงครั้งเดียว

หนอนปลอกข้าว (rice caseworm)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนปลอกข้าวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนปลอกข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphula depunctalis Guenee
วงศ์ : Pyralidae อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : หนอนขยอก

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนปลอกข้าว

หนอนปลอกข้าว Nymphula depunctalis Guenee ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีขาวมีแถบสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ 2-3 แถบ ตามของปีก ลำตัวค่อนข้างบอบบาง มีขนาด 6-8 มิลลิเมตร ความยาวของปีกเมื่อกางออกประมาณ 15 มิลลิเมตร เพศผู้ตายหลังจากผสมพันธุ์ เพศเมียตอนกลางวันชอบหลบอยู่ในนาข้าวและวางไข่ตอนกลางคืน เพศเมียวางไข่เป็นแถว 1-2 แถว ติดกันบนผิวใต้ใบข้าวหรือก้านใบเหนือระดับน้ำไข่มีลักษณะกลม ผิวเรียบสีเหลืองอ่อน ระยะไข่นานประมาณ 4 วัน ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่มีสีครีมหัวสีเหลืองอ่อนตัวหนอนที่โตเต็มที่มีสีเขียวอ่อน ตัวหนอนมีชีวิตกึ่งแมลงในน้ำ (semi-aquatic) มีเหลือกจำนวน 6 แถว สำหรับใช้รับอากาศจากน้ำ กินอาหารโดยทำปลอกหุ้มและอาศัยอยู่ในปลอกกัดกินส่วนผิวของใบอ่อนเกิดเป็นรอยขาวเป็นแถบ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะคลานขึ้นไปบนต้นข้าวแล้วยึดปลอกติดกับต้นข้าวอยู่เหนือผิวน้ำ ตัวหนอนจะถักไหมทำรังรอบตัวและเข้าดักแด้อยู่ภายในปลอกและสลัดปลอกทิ้งเมื่อมีการลอกคราบ ตัวหนอนมี 5 ระยะ ระยะดักแด้นานประมาณ 2 สัปดาห์
รุปร่างลักษณะไข่หนอนปลอกข้าว
ไข่หนอนปลอกข้าว
รุปร่างลักษณะตัวหนอนระยะแรกและโตเต็มที่
ตัวหนอนปลอกข้าวระยะแรกและโตเต็มที่
ปฃอกหุ้มตัวหนอนปลอกข้าวใช้ในการเคลื่อนย้ายไปทำลายข้าวต้นอื่น
ปลอกหุ้มตัวหนอนปลอกข้าว
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนปลอกข้าว
ผีเสื้อหนอนปลอกข้าว

ลักษณะการทำลายของหนอนปลอกข้าว

ตัวหนอนเริ่มกัดกินผิวใบอ่อนของข้าวและจะทำปลอกหุ้มลำตัวไว้ภายใน 2 วันต่อมา โดยตัวหนอนจะเคลื่อนย้ายไปยังปลายใบข้าวและกัดใบตรงด้านหนึ่งของเส้นกลางใบและใช้สารที่สกัดจากร่างกายยึดริมขอบใบทั้งสองข้างเข้าหากันเป็นปลอกหุ้ม เห็นเป็นรอยเยื่อสีขาวบางๆ ไว้ ตัวหนอนสามารถเคลื่อนย้ายไปทำลายข้าวต้นอื่น โดยอาศัยปลอกลอยน้ำไปยังข้าวต้นใหม่ และคลานขึ้นไปกัดกินใบข้าวใหม่ต่อไปเรื่อยๆ มักพบการระบาดเฉพาะแปลงข้าวที่มีน้ำขังในนาชลประทานและนาที่ลุ่มอาศัยน้ำฝน ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวจากการทำลายใบในระยะแรกๆ ได้ การมีน้ำขังในแปลงตลอดช่วงข้าวเจริญเติบโตทางใบมีผลทำให้หนอนปลอกระบาดมากขึ้น ถ้าระบาดรุนแรงก็สามารถทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตแคระแกร็น และแห้งตายเป็นหย่อมๆ แต่จะไม่เสียหายในระยะข้าวแตกกอเต็มที่แล้ว
ลักษณะอาการต้นข้าวที่ถูกทำลายของหนอนปลอกข้าว
สภาพนาข้าวทึ่ถูกหนอนปลอกข้าวเข้าทำลาย

การป้องกันกำจัดหนอนปลอกข้าว

1. ระบายน้ำออกจากแปลงนา สามารถลดการทำลายและการแพร่ระบาดในนาข้าวได้

2. ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5% ซีอี) อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่น เฉพาะบริเวณที่ใบข้าวถูกทำลายเห็นเป็นสีขาวเป็นหย่อมๆ ในแปลงที่มีน้ำขังและไม่สามารถระบายน้ำออกได้

 

หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว (rice whorl maggot)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrellia sp.
วงศ์ : Ephydridae อันดับ : Diptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว

หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว Hydrellia spp. ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันชนิดหนึ่งลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีสีเทาอ่อน เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนใบข้าว เฉลี่ย 100ฟอง ในช่วงเวลา 3-7 วัน ไข่มีลักษณะเรียวยาว สีขาว ระยะไข่นาน 2-6 วัน ตัวหนอนหลังฟักจากไข่ใหม่ๆ มีลักษณะใสหรือสีครีมอ่อน เมื่อโตขึ้นมีสีเหลือง ไม่มีขา ระยะหนอนนาน 10-12 วัน ระยะดักแด้นาน 7-10 วัน ตัวเต็มวัยมีความว่องไวในตอนกลางวัน บินเข้าหาแปลงข้าวที่ปลูกใหม่และมีน้ำขังโดยอาศัยแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวน้ำ และจะเกาะพักอยู่ที่ใบข้าวใกล้ผิวน้ำหลังจากที่ใบข้าวแผ่ปกคลุมทั่วแปลงแล้วจะไม่พบตัวเต็มวัย
ลักษณะรูปร่างตัวเต็มวัยหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว
ตัวเต็มวัยหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว

ลักษณะการทำลายของหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว

ตัวหนอนกัดกินภายในใบข้าวที่ยังอ่อน และใบม้วนอยู่ใบที่ถูกทำลายเมื่อมีการเจริญเติบโตจะเห็นเป็นรอยฉีกขาดคล้ายถูกกัด ขอบใบข้าวที่ถูกทำลายมีสีขาวซีด สภาพที่ระบาดรุนแรง ต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น แตกกอน้อยมักพบทำลายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะในสภาพที่มีน้ำขัง
ลักาณะอาการใบข้าวที่ถูกหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว
ใบข้าวที่ถูกหนอนแมลงวันทำลาย

การป้องกันกำจัดหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว

1. กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงก่อนปลูกข้าว เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าแพรก หญ้าไทร ข้าวฟ่าง และข้าวป่า
2. ไขน้ำออกจากแปลงเมื่อเกิดการระบาดของหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว เพื่อลดการวางไข่
3. ไม่แนะนำให้ใช้สารฆ่าแมลง เนื่องจากพืชสามารถสร้างส่วนที่ถูกทำลายขึ้นมาทดแทนใหม่ได้

หนอนกระทู้กล้า (rice armyworm, rice swarming caterpillar, rice cutworm)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนกระทู้กล้าแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนกระทู้กล้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera mauritia (Boisduval)
วงศ์ : Noctuidae อันดับ : Lepidoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนกระทู้กล้า

หนอนกระทู้กล้า rice armyworm หรือ ผีเสื้อหนอนกระทู้กล้า Spodoptera mauritia (Boisduval) เป็นผีเสี้อกลางคืนปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ความกล้าของปลีกกลางออกประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ปีกคู่หลังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบ หรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืช ในพื้นทีนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่ม ชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามบริเวณคันนา ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร กว้าง 5-6 มิลลิเมตร วงจรชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด
รูปร่างลักษณะหนอนกระทู้กล้า
รูปร่างลักษณะหนอนกระทู้กล้า
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกระทู้กล้า
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกระทู้กล้า

ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้กล้า

โดยทั่วไปหนอนจะทำลายข้าวในเวลากลางคืน หนอนระยะแรกจะกัดกินผิวใบข้าวเมื่อโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบและต้นข้าวเหลือไว้แต่ก้านใบ ตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อมๆ และอาจเสียหายได้ภายใน 1-2 วัน ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ จากการขยายพันธุ์หลายๆ รุ่นบนวัชพืชพวกหญ้าและเคลื่อนที่เข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่ง มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหลังจากผ่านช่วงแล้งที่ยาวนาน แล้วตามด้วยฝนตกหนัก การระบาดจะรุนแรงเป็นบางปี บางพื้นที่
ลักษณะอาการการเข้าทำลายต้นข้าวในนาของหนอนกระทู้กล้า
ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้กล้า

การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้กล้า

1. กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย
2. ใช้สารฆ่าแมลง มาลาไทออน (มาลาไธออน 83 อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนิโตรไทออน (ซูมิไทออน 50 อีซี) อีตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15%

หนอนกระทู้คอรวง (rice ear-cutting caterpillar)

วิธีป้องกันกำจัดหนอนกระทู้คอรวงแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างหนอนกระทู้คอรวงในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mythimna separata (Walker)
วงศ์ : Noctuidae อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : หนอนกระทู้ควายพระอินทร์

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติหนอนกระทู้คอรวง

หนอนกระทู้คอรวง Mythimna separata (Walker) ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อน แทรกสีน้ำตาลแดง ปีกกว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มตามกาบใบและลำต้นหรือฐานของใบที่ม้วน ไข่มีขนปกคลุม วางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 100 ฟอง ระยะไข่นาน 6-8 วัน หนอนที่ฟักออกใหม่กัดกินใบหญ้าอ่อนจนอายุประมาณ 15 วัน จึงเริ่มกัดกินใบและรวงข้าว ระยะหนอนประมาณ 25-30 วัน หนอนมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว้างประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.8 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน หนอนเข้าดักแด้ที่โคนกอข้าวหรือตามรอยแตกของดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลแดง ระยะดักแด้นาน 10-12 วัน
รูปร่างลักษณะตัวหนอนกระทู้คอรวง
รูปร่างลักษณะหนอนกระทู้คอรวง
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกระทู้คอรวง
รูปร่างลักษณะผีเสื้อหนอนกระทู้คอรวง

ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้คอรวง

หนอนกระทู้คอรวงชอบกัดกินส่วนคอรวงหรือระแง้ของรวงข้าวที่กำลังจะสุก (rippening stage) ทำให้คอรวงขาด สามารถทำลายรวงข้าวได้มากถึง 80 % โดยลักษณะการทำลายคล้ายหนอนกระทู้กล้า มักเข้าทำลายต้นข้าวช่วงกลางคืนหรือตอนพลบค่ำถึงเช้าตรู่ กลางวันอาศัยตามใบหรือโคนต้นข้าวหรือวัชพืชตระกูลหญ้า หนอนจะกัดกินต้นข้าวทุกวันจนกระทั่งเข้าดักแด้ พบระบาดมากหลังน้ำท่วมหรือฝนตกหนักหลังผ่านช่วงแล้งที่ยาวนานแล้วตามด้วยฝนตกหนัก การทำลายจะเสียหายรุนแรง จนชาวนาเรียกกันว่า "หนอนกระทู้ควายพระอินทร์"
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกหนอนกระทู้คอรวงเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้คอรวง

การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้คอรวง

1. กำจัดวัชพืชรอบๆ แปลงนา
2. วิธีกล ขุดหลุมกับดักทางด้านใต้ลมของแปลงนา ขนาด 1/2 - 1 เมตร แล้วใช้รำข้าวเป็น เหยื่อล่อ เมื่อหนอนมากินเหยื่อตอนกลางคืน
แล้วเก็บหนอนทำลาย
2. เมื่อมีการระบาดรุนแรง หากตรวจพบใบข้าวถูกทำลายกอหรือจุดละ 5 กอ หรือ 5 รวงจากข้าว 20 กอ หรือจุดสุ่มนับ ให้ใช้สารเคมี มาลาไธออน หรือซูมิไธออน 40 ซีซี. (4 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น

มวนง่าม (stink bug)

วิธีป้องกันกำจัดมวนง่ามแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างมวนง่ามในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetroda denticulifera (Berg)
วงศ์ : Pentatomidae อันดับ : Hemiptera
ชื่อสามัญอื่น : มวนสามง่าม, แมงแครง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติมวนง่าม

มวนง่าม Tetroda denticulifera (Berg) วงจรชีวิตมี 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย รยะไข่นาน 6-8 วัน ระยะก่อนวางไข่นาน 35-43 วัน เพศเมียวางไข่ 8-11 ครั้ง ตามแนวขนานกับเส้นใบข้าวเป็นแถวประมาณ 150-200 ฟอง ไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อน 89-94% ระยะตัวอ่อนนาน 60-66 วัน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้ 90-120 วัน และเพศเมีย 70-125 วัน
ตัวอ่อนระยะแรกมีลักษณะลำตัวกลมป้อม ส่วนบนนูนโค้งคล้ายด้วงเต่า มีลวดลายเป็นจุดสีดำ 4 จุด ลำตัวสีเหลืองอ่อน หนวด ตา และขาสีดำ เมื่อเข้าสู่วัยที่ 4 และ 5 รูปร่างจะเปลี่ยนเป็นแบนราบ ขอบรอบลำตัวมีลักษณะปลายแหลมหยักซิกแซก มีหนามแหลมเป็นง่ามยื่นออกมาที่ส่วนหัว อกปล้องแรก สีของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ตัวเต็มวัยเพศผู้มีลักษณะลำตัวแบนสีเทาดำ ศีรษะยื่นออกไปเป็นง่ามปลายแหลม 2 ง่าม อกปล้องแรกมีง่ามแหลมยื่นออกไปทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ขา หนวดและตาสีดำ แผ่นปิดด้านบนส่วนอก (scutellum) สีเทาดำ ปีกเป็นสีเดียวกับลำตัว ปลายปีกสีขาว ขอบด้านข้างลำตัวส่วนท้องเป็นสีส้ม ลำตัวยาวประมาณ 1.6 เซนติเมตร กว้าง 0.7 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างเหมือนเพศผู้แต่มีขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้าง 0.9 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียระยะแรก ลำตัว และส่วนอกมีสีเหลือง หลังจากนั้นประมาณ 5-10 วัน สีของลำตัวจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา ปีกสีเดียวกับลำตัว ตัวเต็มวัยมีต้อมกลิ่น (scent gland) ทำให้แมลงมีกลิ่นเหม็น
พฤติกรรมของมวนง่าม จะเคลื่อนที่ช้า และชอบเกาะนิ่งอยู่ตามส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำลายข้าวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นและใบ ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการเหลืองเหี่ยวและแห้งตาย เนื่องจากตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่ เมื่อแมลงมีจำนวนมากเกาะตามลำต้นและใบข้าว ทำให้ใบและลำต้นหักพับ เกิดความเสียหายมากในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่ๆ
รูปร่างลักษณะไข่และตัวอ่อนมวนง่าม
รูปร่างลักษณะไข่และตัวอ่อนมวนง่าม
รูปร่างลักษณะตัวอ่อน 2-3 มวนง่าม
รูปร่างลักษณะตัวอ่อน 2-3 มวนง่าม
รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยมวนง่าม
รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยมวนง่าม

ลักษณะการทำลายของมวนง่าม

มวนง่ามทุกวัยสามารถทำลายข้าวโดยใช้ส่วนปากเจาะลงไปในใบและลำต้นข้าวแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำให้ลำต้นและใบเหี่ยวและแห้งตาย พบการระบาดทำลายในฤดูนาปรังรุนแรงกว่าในฤดูนาปี และความเสียหายจะพบมากในรยะกล้าและหลังปักดำใหม่ เป็นแมลงศัตรูข้าวที่พบเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การป้องกันกำจัดมวนง่าม

1. เก็บกลุ่มไข่ทำลาย
2. ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยไปทำลาย

ด้วงงวงกินรากข้าว (rice root weevil)

วิธีป้องกันกำจัดด้วงงวงกินรากข้าวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างด้วงงวงกินรากข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydronomidius molitor Faust
วงศ์ : Curculionidae อันดับ : Coleoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติด้วงงวงกินรากข้าว

ด้วงวงกินรากข้าว Hydrronomidius molitor Faust ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลดำขนาดลำตัวยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ด้านหัวมีส่วนโค้งยื่นออกมา เพศเมียวางไข่บริเวณรากข้าว ตัวหนอนที่ผักออกมาจะกัดกินบริเวณรากข้าว หนอนมีสีขาว และเข้าดักแด้จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ยังไม่มีการศึกษาวงจรชีวิตในประเทศไทย เนื่องจากเป็นแมลงที่มีการระบาดเป็นครั้งคราว และระบาดบางพื้นที่ ในประเทศไทยพบรายงานการระบาดครั้งแรกที่บ้านดอนดู่ ต.หนองกระเจา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ฤดูนาปี 2522 พื้นที่ระบาด 450 ไร่ ทำลายข้าวโดยตัวหนอนกัดกินรากข้าว ทำให้ต้นข้าวเหี่ยวแห้งตาย เนื่องจากรากข้าวถูกหนอนกัดกินจนหมด

ลักษณะการทำลายของด้วงงวงกินรากข้าว

ลักษณะการทำลายเหมือนด้วงวงน้ำ (rice water weevil, Lissorhoptrus oryzophilus) ในประเทศอินเดียด้วงวงกินรากข้าวสามารถทำลายผลผลิตข้าวได้ 30-50% ในข้าวระยะแตกกอ และพบตัวหนอน 1-2 ตัว/ต้นข้าว สามารถทำให้ผลผลิตเสียหายทางเศรษฐกิจ

การป้องกันกำจัดด้วงงวงกินรากข้าว

1. กำจัดวัชพืชรอบๆ แปลงนาที่เป็นสถานที่อาศัยด้วงงวงกินรากข้าว
2. ไขน้ำออกจากแปลงเมื่อเกิดการระบาดของด้วงงวงกินรากข้าว

ด้วงดำ (black beetle)

วิธีป้องกันกำจัดด้วงดำแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างด้วงดำในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heteronychus lioderes Redtenbacker
วงศ์ : Scarabaeidae อันดับ : Coleoptera
ชื่อสามัญอื่น
: ด้วงซัดดำ, ด้วงซัดดัม

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติด้วงดำ

ด้วยดำเป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของการปลูกข้าวโดยวิธีหว่านข้าวแห้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร และ อุบลราชธานี พบมี 2 ชนิด คือ ด้วงดำขนาดตัวใหญ่ Heterontychus lioderes Redtenbvacher และ ขนาดตัวเล็ก Alissonnotum cribratellum Fairmaire โดยด้วงทั้ง 2 ชนิดชอบบินเล่นแสงไฟตามบ้านเกษตรกรช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และ พฤศจิกายน-ธันวาคม ชนิดที่พบทำลายข้าวในนาส่วนมากเป็นด้วงขนาดตัวใหญ่ เกษตรกรในพื้นที่ระบาดรู้จักกันในชื่อ "ด้วงซัดดัม หรือ ด้วงซัดดำ" มักพบทำลายข้าวที่หว่านเร็วกว่าปกติระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และมีฝนตกทิ้งช่วง 15-45 วันหลังข้าวงอก
รูปร่างลักษณะด้วงดำ
รูปร่างลักษณะด้วงดำ

ลักษณะการทำลายของด้วงดำ

ด้วงดำ H. lioderes ทำลายข้าวโดยการกัดกินส่วนอ่อนที่เป็นสีขาวที่อยู่ใต้ดินเหนือราก ทำให้ต้นข้าวมีอาการเหลืองเหี่ยว และแห้งตาย โดยทั่วไป ต้นข้าวที่ถูกด้วงดำทำลายจะอยู่ในรยะต้นอ่อน อายุตั้งแต่ 15-45 วัน และส่วนใหญ่พบในแปลงนาหว่านข้าวแห้งที่อยู่ในสภาพที่ขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ถ้าความชื้นในดินต่ำและฝนทิ้งช่วงนานการระบาดจะรุนแรง
อาการทำลายคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหารของพืชและการทำลายของเพลี้ยไฟ แต่ลักษณะการทำลายจะเป็นแนวตามยาวเนื่องจากตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายไปกัดกินต้นใหม่โดยการมุดลงดินทำให้เห็นเป็นรอยขุยเป็นแนว ตัวเต็มวัยจะขุดหลุมอยู่ในดิน และกัดกินต้นข้าวเหนือผิวดินและเมื่อขุดตามรอยขุยดินพบตัวเต็มวัยของด้วง H. lioderes โดยมากต้นข้าว 1 ต้น จะพบตัวด้วงเพียง 1 ตัว พบ 2-3 ตัวต่อต้นบ้างแต่พบน้อยมาก ถ้าเป็นต้นข้าวต้นใหญ่อายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ใบข้าวจะเหลืองคล้ายการทำลายของหนอนกอข้าวตัวเต็มวัยจะกัดกินส่วนของต้นอ่อนสีขาวที่อยู่ใต้ดินเหนือรากข้าว โดยกัดกินส่วนเจริญภายในลำต้นแต่ต้นข้าวจะไม่ขาด ตำแหน่งที่พบด้วยดำอยู่ระดับเดียวกับรากข้าว ลึกจากผิวดินประมาณ 5 เซนติเมตร ลักษณะแพร่กระจายไม่แน่นอน
อาการที่ต้นข้าวถูกด้วงดำทำลาย
อาการที่ต้นข้าวถูกด้วงดำทำลาย
ลักษณะนาข้าวที่มีการทำลายจากด้วงดำรุนแรง
ลักษณะนาข้าวที่มีการทำลายจากด้วงดำรุนแรง

พืชอาศัยของด้วงดำ

ข้าว พืชตระกูลหญ้า

การป้องกันกำจัดด้วงดำ

1. ควรหว่านข้าวตามฤดูกาล (สิงหาคม) ไม่ควรหว่านช่วงระหว่างปลายเมษายน-ต้นมิถุนายน เพื่อหลีกเลี่ยงตัวเต็มวัยของด้วงดำที่ฟักออกจากดักแด้ในดินหลังฝนตกแรกของฤดู
2. ล่อและทำลายตัวเต็มวัยของด้วงดำ โดยใช้หลอดไฟชนิดแบล็กไลท์ที่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนอยมใช้ล่อแมลงดานา
3. สำรวจนาข้าวเมื่อพบตัวเต็มวัยด้วงดำในกับดักแสงไฟปริมาณมากกว่าปกติก
4. หากพบระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยสาร เบตาไซฟลูทริน (โฟลิเทค 2.5% อีซี) อัตรา 60 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และแลมบ์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ 2.5% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เฉพาะบริเวณที่ข้าวแสดงอาการแห้ง และในนาข้าวที่มีความชื้น โดยฉีดพ่นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไม่แนะนำให้ใช้สารต่อเนื่องกันนานเพราะจะทำให้ด้วงชนิดนี้ดื้อต่อสารฆ่าแมลงได้เร็ว
ตอน  1  2 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147