แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด ปัญหาที่ชาวนาต้องจัดการ

ตอน  1  2 
การระบาดของแมลงศัตรูข้าวเกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามฤดูการและท้องถิ่น ความรุนแรงจะแตกต่างตามชนิดและปริมาณของแมลงศัตรูข้าวนั้นๆ โดยทั่วไปจากข้อมูลการระบาดของแมลงศัตรูข้าวจะพบแมลงเข้าทำลายข้าวไม่เกิน 20 ชนิด ซึ่งแบ่งตามความถี่และความรุนแรงของการระบาดได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ได้แก่
1. ประเภทที่มีการระบาดทำลายข้าวเป็นประจำทุกฤดูการปลูกข้าว โดยมีการแพร่ระบาดเกือบทุกท้องที่ แต่ไม่ทำความเสียหายมากนัก เช่น หนอนกอข้าว เพลี้ยไฟ หนอนกัดกินใบข้าวชนิดต่างๆ เป็นต้น
2. ประเภทที่ระบาดทำลายอย่างฉับพลันและรุนแรง โดยปกติการแพร่ระบาดไม่บ่อยครั้ง แต่เมื่อเกิดการระบาดมักมีความรุนแรงและกว้างขวาง ทำความเสียหายต่อแปลงข้าวอย่างมากและยากต่อการป้องกันกำจัดเช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงบั่ว หนอนห่อใบข้าว เป็นต้น
3. ประเภทที่ระบาดทำลายเป็นบางครั้งเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและเกิดในบางพื้นที่ การระบาดจะรวดเร็วแต่ไม่รุนแรงถึงระดับที่ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายมากการระบาดมีลักษณะเฉพาะที่ หรือสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังเกิดภัยธรรมชาติ เช่น นำท่วม ฝนแล้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน การระบาดมักเกิดขึ้นเร็วและสิ้นสุด ได้แก่ แมลงหล่า หนอนกระทู้กล้า หรือหนอนกระทู้ควยพระอินทร์ หนอนปลอก และแมลงสิง

เพลี้ยไฟ (rice thrips)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยไฟ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stenchaetothrips biformis (Bagnall)
วงศ์ : Thripidae อันดับ : Thysanoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ Stenchaetothrips biformis (Bagnall) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ขนาดลำตัวยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีสีดำ ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยวางไข่ในเนื้อเยื่อของใบข้าว ตัวอ่อน มี 2 ระยะ ระยะตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัยนานประมาณ 15 วัน

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าวที่ยังอ่อนในระยะกล้า โดยอาศัยอยู่ตามซอกใบ ระบาดในระยะกล้า ใบที่ถูกทำลายปลายใบจะเหี่ยวขอบใบจะม้วนเข้าหาเส้นกลางใบและอาศัยอยู่ในใบที่ม้วนนั้นพบทำลายข้าวในระยะกล้าหรือหลังปักดำ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนตกทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ถ้าระบาดมากๆ ทำให้ต้นข้าวแห้งตายได้ทั้งแปลง
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยไฟ

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

1. ดูแลแปลงข้าวระยะกล้าหรือระยะหลังหว่าน 7 วัน อย่าให้ขาดน้ำ
2. ไขน้ำท่วมยอดข้าวทิ้งไว้ 1-2 วัน เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟตัวเต็มวัย 1-3 ตัว/ต้น ในข้าวอายุ 6-7 วันหลังหว่านและใช้ปุ๋ยยูเรีย 10 กิโลกรัม/ไร่ หว่านเมื่อข้าวอายุ 10 วัน หลังหว่านข้าว เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว
3. ใช้สารฆ่าแมลงศัตรูพืช มาลาไทออน (มาลาไทออน 83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล (เซฟวิน 85% ดับบลิวพี) อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบใบข้าวม้วนมากกว่า 50% ในระยะข้าวอายุ 10-15 วัน หลังหว่านข้าว

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (brown planthopper, BPH)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nilarvata lugens (Stal)
วงศ์ : Delphacidae อันดับ : Homoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvate lugens (Stal) เป็นแมลงจำพวกปากดูดตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracypterous form) ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร ชนิดปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วยตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าวหรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล วางไข่ประมาณ 100 ฟองไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ระยะไข่นาน 7 วัน ตัวอ่อนมีระยะ 5 วัน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย 16-17 วัน เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 รุ่น (generation) ตัวอ่อนอาศัยดูดกินบนต้นข้าวต้นเดิมที่ฟักออกจากไข่

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดดการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก "อาการไหม้ (hopper burn)" โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวงซึ่งตรงกับช่วงอายุชัยที่ 2-3 (generation) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิก (rice raged stunt) มาสู่ต้นข้าวทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปรกติปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

1. ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 60 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 ชัยนาท 2 กข29 และ กข31 ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิด 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอปานกลาง โดยพิจารณาอายุการเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง
2. ในแหล่งที่มีการระบาด และสามารถควบคุมระดับน้ำในแปลงนาได้ หลังปักดำหรือหว่านข้าว 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดิน จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้
3. ไม่ใช้สารฆ่าแมลงศัตรูพืชที่ทำให้เกิดการเพิ่มระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
4. ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและควรฉีดพ่นในเวลาเย็น
4. เมื่อตรวจพบสัดส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยต่อมวนเขียวดูดไข่ระหว่าง 6:1-8:1 หรือตัวอ่อนระยะ 1-2 เมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน จำนวนมากกว่า 10 ตัว/ต้น ให้สารฆ่าแมลงศตรูพืช ตามคำแนะนำ

สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

1.ข้าวระยะกล้าถึงระยะแตกกอ (อายุ 30-45 วัน)

  • บูโพรเฟซิน 25% WP 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • บูโพรเฟซิน 10% WP 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • บูโพรเฟซิน 5% WP+ไอโซโปรคาร์บ 20% WP 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

2. ข้าวระยะแตกกอเต็มที่ 

  • อิโทเฟนพร็อกซ์ 10% EC 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • อิโทเฟนพร็อกซ์ 5% EC 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • คาร์โบซัลเฟน 20% EC 110 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • ฟิโนบูคาร์บ 50% EC 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

3. ข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง

  • ไดโนทีฟูเรน 10% WP 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • ไทอะมิโทแซม 25% WG 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • โคลไทอะนิดิน 16% 6-9 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • อิมิดาโครพริต 10% SL 15 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • อิทิโพรล 10% SC 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
สารเคมีที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว

สารเคมีบางชนิดที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว เนื่องจากทำให้เพลี้ยกระโดด ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นสารกลุ่มไพรีทรอย์สังเคราะห์ ได้แก่ แอลฟาไซเพอร์เทริน 10% EC ชนิดพ่นน้ำ, ไซแฮโลทริน แอล 5% EC ชนิดพ่นน้ำ, ไซเพอร์เมทริน 15% EC 25% EC ชนิดพ่นน้ำ

เพลี้ยกระโดดหลังขาว (whitebacked planthopper, WBPH)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยกระโดดหลังขาวในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sogatella furcifera (Horvath)
วงศ์ : Delphacidae อันดับ : Homoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยกระโดดหลังขาว

เพลี้ยกระโดดหลังขาว Sogatella furcifera (Horvath) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่ตรงส่วนอกด้านหลังระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลถึงสีดำ ลำตัวสีเหลือง มีแถบสีขาวเห็นชัดอยู่ตรงส่วนนอกด้านหลังระหว่างฐานปีกทั้งสองข้าง มีทั้งชนิดปีกสั้นและปีกยาว เพศผู้พบเฉพาะชนิดปีกยาวลำตัวยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เพศเมียยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร วางไข่ในใบและกาบใบข้าวโดยจะวางไข่อยู่เหนือกว่าระดับที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่มีเปลือกหุ้มไข่ยาวกว่า ตัวอ่อนมีจุดดำและขาวที่ส่วนท้องด้านบน ต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ตัวอ่อนมีสำน้ำตาลอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บริเวณกอข้าวเช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ตัวเต็มวัยชอบอาศัยอยู่บริเวณกลางต้นข้าวเหนือระดับที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอยู่

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยกระโดดหลังขาว

เพลี้ยกระโดดหลังขาวตัวเต็มวัยเข้ามาในแปลงข้าวช่วง 30 วัน แรกหลังจากเป็นต้นกล้า โดดจะอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว ใน 1 ฤดูปลูกสามารถเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้น้อยชั่วอายุกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงบนข้าวต้นอ่อน และขยายพันธุ์เป็นพวกปีกยาว จากนั้นจะอพยพออกจากแปลงข้าวก่อนที่ข้าวจะออกดอก กับดักแสงไฟสามารถดักจับตัวเต็มวัยได้เป็นจำนวนมาก เพลี้ยกระโดดหลังขาวพบเป็นแมลงประจำถ้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมากกว่าภาคกลาง
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากโคนกอข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายใบมีสีเหลืองส้ม ซึ่งต่างจากต้นข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำกาลทำลายจะแสดงอาการใบสีน้ำตาลแห้ง เมื่อมีปริมาณแมลงมาก ต้นข้าวอาจจะถูกทำลายจนเหี่ยวและแห้งตายในที่สุดการระบาดค่อนข้างกระจายสม่ำเสมอเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งแตกต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่การระบาดทำลายข้าวจะเป็นหย่อมๆ พบระบาดตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวงยังไม่มีรายงานว่าเป็นแมลงพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นข้าว
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยกระโดดหลังขาวเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยกระโดดหลังขาว

การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาว

1. ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 และ ชุมแพ 60 โดยปลูกสลับกันอย่างน้อย 2 พันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยกระโดดหลังขาวปรับตัวทำลายข้าวพันธุ์ต้านทานได้เร็ว หรือถ้าปลูกข้าวพันธุ์เดียวไม่ควรปลูกติดต่อกันเกิน 4 ฤดูกาลปลูก
2. เมื่อตรวจพบเพลี้ยกระกระโดดหลังขาวมากกว่า 10 ตัว/ต้น ให้ไขน้ำออกจากแปลงนาและปฏิบัติเช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (green rice leafhopper)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียวแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยจักจั่นสีเขียวในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephotettix spp.
วงศ์ : Cicadellidae อันดับ : Homoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus stal ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิด มีสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ขนาดลำตัวยาวไม่แตกต่างกัน ต่างกัน ตรง N. nigropictus มีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ N. virescens ไม่มี ตัวเต็มวัยไม่มีชนิดปีกสั้น เคลื่อนย้ายรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ชอบบินมาเล่นไฟตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน มิถุนายน-ตุลาคม เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว วางไข่เป็นกลุ่ม 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ๆ มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบส้ม (Yellow orange leaf virus) มาสู่ข้าว ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ เมล็ดลีบ โดยปรกติอาศัยอยู่ส่วนบนของต้นข้าวในตอนเช้า และย้ายลงมาด้านล่างของต้นข้าวในตอนบ่ายตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยทั่วไปจึงไม่พบจำนวนประชากรมากถึงระดับทำให้ข้าวแห้งตายได้ ฤดูกาลปลูกข้าวครั้งหนึ่งเพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3-4 ชั่วอายุ ตัวเต็มวัยสามารถดักจับได้จากกับดักแสงไฟ มักพบการระบาดในฤดูฝนที่สภาพต้นข้าวเจริญดีเหมาะแก่การขยายพันธุ์
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

การป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

1. ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลายเมื่อมีการระบาดรุนแรง
2. ปลูกข้าวพร้อมๆ กัน และปล่อยพื้นที่นาว่างไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลง
3. ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 และ พวงไร่
4. หมั่นตรวจดูแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ในระยะกล้าข้าวอายุไม่เกิน 60 วัน ใช้สวิงโฉบถ้าพบเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเฉลี่ย 2 ตัวต่อ 10 โฉบให้ใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นเพื่อทำลายแมลงพาหะ หลังจากข้าวมีอายุ 60 วัน แล้วถ้าพบเพลี้ยจักจั่นสีเขียว 20 ตัวต่อ 10 โฉบ ให้ใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นทำลาย
5. ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ด ประเภทดูดซึม ได้แก่ carbofuran (ฟูราดาน หรือ คูราแทร์) ในอัตรา 5 กก./ไร่ โดยหว่านตามทันทีหลังหว่านข้าวงอก ถ้ายังมีแมลงระบาดอีกก็ให้หว่านเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้หลังจากใช้ครั้งแรกแล้ว 25 วัน เพื่อยับยั้งการดูดกินน้ำเลี้ยง และการถ่ายทอดเชื้อไวรัส
6. พ่นสารฆ่าแมลงชนิดผสมน้ำ ได้แก่  isoprocarb (มิพซิน 50% ดับบลิวพี), MTMC (ซูมาไซด์ 50% ดับบลิวพี), BPMC (บัซซ่า หรือ ฮอปซิน 50% อีซี) โดยใช้อัตรา 40 กรัม หรือ ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก (zigzag leafhopper)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Recilia dorsalis (Motsuchulsky)
วงศ์ : Cicadellidae อันดับ : Homoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยจักจั่นปลีกรายหยัก

เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก Recillia dorsalis (Motsuchulsky) ตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร สีขาว ปีกสองข้างมีลายหยักสีน้ำตาลเป็นทาง เพศเมียวางไข่บริเวณเส้นกลางใบ ประมาณ 100-200 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยนาน 10-14 วัน วางไข่เดี่ยวๆ ระยะไข่นาน 4-5 วัน ตัวอ่อนมีสีขาว ตัวอ่อนมี 5 ระยะ

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยจักจั่นปลีกรายหยัก

เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและกาบใบข้าว ข้าวที่ถูกทำลายปลายใบจะแห้งขอบใบเปลี่ยนเป็นสีส้ม ต่อมาข้าวทั้งใบจะเป็นสีส้มและขอลใบหงิกงอ อาการของโรคจะปรากฏที่ใบแก่ก่อน นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำโรคใบสีส้ม (yellow orange leaf rirus) และ โรคหูด (gall dwart virus) มาสู่ต้นข้าว พบแพร่กระจายทั่วไปในนาข้าว โดยพบมากในฤดูนาปีมากกว่านาปรัง
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก

การป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นปลีกรายหยัก

1. ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลายเมื่อมีการระบาดรุนแรง
2. ปลูกข้าวพร้อมๆ กัน และปล่อยพื้นที่นาว่างไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลง
3. ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 และ พวงไร่
4. ใช้สารฆ่าแมลงตามคำแนะนำ เมื่อมีการระบาดของโรคใบสีส้ม และ โรคหูด โดยวิธีใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศตรูพืชเหมือนกับเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

เพลี้ยแป้ง (rice mealy bug)

วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างเพลี้ยแป้งในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : มี 3 ชนิด Pseudococus saccharaicola Takahashi, Trionymus sp., paraccus sp.
วงศ์ : Coccidae อันดับ : Homoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้ง เพศเมียไม่มีปีก ลำตัวเป็นปล้องค่อนข้างสั้น ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีผงแป้งคลุมอยู่ภายนอกมักพบเป็นกลุ่มระหว่างกาบใบและลำต้นข้าว มักอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว เมื่อฉีกกาบใบดูจะพบแมลงมีสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม และเมื่อเอาส่วนแป้งที่ปกคลุมออกจะพบ แมลงตัวสีชมพู เพศผู้มีปีก เคลื่อนย้ายโดยมดพาไป หรืออาศัยลมพัดพาไป
เพลี้ยแป้ง Pseudococus มีการลอกคราบ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน ระยะเต็มวัย นาน 13 วัน วางไข่ได้ประมาณ 109 ฟอง เพศผู้ลอกคราบ 4 ครั้ง ใช้ระยะเวลานาน 15 วัน

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวง ส่วนใหญ่พบทำลายช่วงระยะข้าวแตกกอ ถ้ามีปริมาณมากทำให้กาบใบและใบข้าวเป็นสีเหลืองถึงน้ำตาล เหี่ยวแห้ง แคระแกร็นและแห้งตายทั้งกอ ต้นที่ไม่แห้งตายก็ไม่สามารถออกรวงได้ตามปรกติ หรือออกรวงได้เมล็ดข้าวที่ลีบ พบระบาดเป็นครั้งคราว มักพบระบาดเป็นหย่อมๆ หรือบางจุด โดยเฉพาะปีที่อากาศแห้งและฝนแล้ง ความเสียหายเกิดขึ้นมากเช่นในภาคเหนือตอนบน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งในข้าว

การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง

1. เมื่อข้าวแตกกอ ถ้าพบต้นข้าวเน่าฟุบตายหรือแห้งตายเป็นหย่อมๆ และพลเพลี้ยแป้งให้ถอนต้นข้าวที่มีเพลี้ยแป้งมาเผาทำลาย
2. ในแหล่งที่พบการทำลายเป็นประจำ อย่าปล่อยพื้นนาแห้ง
3. เมื่อมีการระบาดที่รุนแรง ใช้สารป้องกันกัดจัดศัตรูพืช มาลาไทออน (มาลาไธออน 57% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20ลิตร

แมลงบั่ว (rice gall midge, RGM)

วิธีป้องกันกำจัดแมลงบั่วแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างแมลงบั่วในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orseolia oryzae (Wood-Mason)
วงศ์ : Cecidomyiidae อันดับ : Diptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติแมลงบั่ว

แมลงบั่ว Orseolia oryzae (Wood-Mason) ตัวเต็มวัยของแมลงบั่ว มีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้น ลำตัวยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หนวดและขามีสีดำ เวลากลางวันตัวเต็มวัยจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าว บริเวณกอข้าวและจะบินไปหาที่มีแสงไฟในเวลากลางคืนเพื่อผสมพันธุ์ เพศผู้มีลำตัวสีน้ำตาลปนเหลือง ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียส่วนท้องมีสีแดงส้ม วางไข่ใต้ใบข้าวเป็นส่วนใหญ่ในตอนกลางคืนโดยวางเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม 3-4 ฟอง เพศเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้หลายร้อยฟองในชั่วอายุ 4 วัน ไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม สีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 0.45 มิลลิเมตร กว้าง 0.09 มิลลิเมตร ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน ไข่ต้องการความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ในการฟักออกเป็นตัวหนอน ตัวหนอนคล้ายหนอนแมลงวันหัวท้ายเรียว หนอนมี 3 ระยะ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะคลานตามบริเวณกาบใบเพื่อแทรกตัวเข้าไปในกาบใบเข้าไปอาศัยกัดกินที่จุดเจริญ (growing point) ของตายอดหรือ ตาช้างที่ข้อ ระยะหนอนนาน 11 วัน ขณะที่หนอนอาศัยกัดกินอยู่ภายในตาที่เจริญเติบโต ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ ทำให้เกิดเป็นช่องกลวง ที่เรียกว่า "หลอดบัว" หรือ "หลอดหอม" หลอดจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นตรงส่วนที่ถูกหนอนบั่วทำลาย มีลักษณะเป็นหลอดยาว มีสีเขียวอ่อน แตกต่างจากหน่อข้าวปรกติ ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายมีอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม สีเขียวเข้ม ไม่ออกรวง ดักแด้มีสีชมพูอ่อนและกลายเป็นสีแดงก่อนออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อดักแด้ใกล้จะฟักออกเป็นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนที่ย้ายมาอยู่ปลายของหลอดข้าว และเจาะออกเป็นตัวเต็มวัยที่ปลายหลอดนั่นเอง พร้อมทั้งทิ้งคราบดักแด้ไว้ที่รอยเปิดนั้น โดยปรกติจะออกเป็นตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน ระยะดักแด้นาน 6 วัน แมลงบั่วจะพักตัวในระยะดักแด้ในช่วงฤดูแล้ง โดยอาศัยอยู่ที่ส่วนตาของพืชอาศัยระบะตัวเต็มวัยนาน 3-4 วัน ฤดูปลูกหนึ่งๆ แมลงบั่วสามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุ อายุที่ 2 3 และ 4 จะเป็นชั่วอายุที่สามารถทำความเสียหายให้ข้าวได้มากที่สุด
ระยะต่างๆในการเจริญเติบโตของแมลงบั่วในข้าว
แมลงบั่วระยะต่างๆ

ลักษณะการทำลายของแมลงบั่ว

แมลงบั่วเป็นแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะที่จังหวัดตาก แพร่ ลำปาง น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย และ เชียงใหม่ ระบาดรุนแรงในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จังหวัด เลย อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม และ สกลนคร เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเพิ่มปริมาณของแมลงบั่ว กล่าวคือ มีความชื้นสูง มีพื้นที่เป็นเขาหรือเชิงเขาล้อมรอบทั้งนี้ความชื้นสัมพันธ์โดยตรงกับการวางไข่จำนวนไข่ การฟัก การอยู่รอดหลังจากฟักจากไข่ของหนอนและการเข้าทำลายยอดข้าวอ่อน
แมลงบั่วจะออกเป็นตัวเต็มวัยเมื่อเริ่มฤดูฝน โดยจะอาศัยและเจริญเติบโตอยู่บนพืชอาศัยพวกข้าวป่าและหญ้าต่างๆ 1-2 ชั่วอายุ จนกระทั่งเริ่มมีการปลูกข้าว ตัวเต็มวัยแมลงบั่วจะเข้าแปลงนาตั้งแต่ระยะกล้า หรือช่วงระยะเวลา 25-30 วัน เพื่อวางไข่ หลังจากฟักออกจากไข่ตัวหนอนจะคลานลงสู่ซอกของใบยอดและกาบใบข้าวเพื่อเข้าทำลายยอดที่กำลังเจริญทำให้เกิดเป็นหลอดลักษณะคล้ายหลอดหอม หลอดจะปรากฏภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากที่ตัวหนอนเข้าไปที่จุดเจริญข้าว ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายจะมีอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้มยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอจะเป็นระยะที่บั่วเข้าทำลายมากเมื่อข้าวเกิดช่อดอก แล้วจะไม่ถูกหนอนบั่วทำลายพบระบาดมากในช่วงฤดูฝน ในสภาพที่มีเมฆมากหรือฝนตก
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกแมลงบั่วเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของแมลงบั่วในข้าว

พืชอาหารของแมลงบั่ว

ข้าว ข้าวป่า หญ้าไซ หญ้าหวาย หญ้าปล้องเขียว หญ้าป้องหิน หญ้าชันกาด หญ้าตีนติด หญ้าข้าวนก หญ้าแพรก และ นกสีชมพู

การป้องกันกำจัดแมลงบั่ว

1. กำจัดวัชพืชรอบแปลงนาพืชอาหารของแมลงบั่ว ก่อนตกกล้าหรือหว่านข้าวเพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว
2. ภาคเหนือ ควรปลูกข้าวหรือปักดำช่วง กรกฎาคม-สิงหาคม หรือปรับวิธีปลูกโดยการปักดำ 2 ครั้ง เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากการทำลายของแมลงบั่ว ระยะหลังปักดำจนถึงข้าวอายุ 45 วัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรปลูกหรือปักดำระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม
3. ไม่ควรปลูกข้าวโดยวิธีหว่านหรือปักดำถี่ (ระยะปักดำ 10x15 และ 15x15 เซนติเมตร) ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการระบาดของแมลงบั่วเป็นประจำ
4. ทำลายตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นไฟตามบ้านช่วงเวลาตั้งแต่ 19:00-21:00 น.
5. ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงใดๆ ในการป้องกันกำจัดแมลงบั่วเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและยังทำลายศัตรูธรรมชาติ เช่น ไรตัวห้ำทำลายไข่แมลงบั่ว และแตนเบียนหนอน Platygasterid Eupelmid และ Pteromid เป็นต้น

แมลงหล่า (rice black bug หรือ Malayan black bug)

วิธีป้องกันกำจัดแมลงหล่าแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างแมลงหล่าในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scotinophara coarctata (Fabricius)
วงศ์ : Pentatomidae อันดับ : Hemiptera
ชื่อสามัญอื่น : เพลี้ยหล่า กือซืงฆูรอ กูฆอ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติแมลงหล่า

แมลงหล่า Scotinophara coarctata (Fabricius) เป็นมวนชนิดหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายโล่ห์ ด้านหัวและอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำเป็นมันวาว ยาว 7-8 มิลลิเมตร กว้าง 4-5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียชอบอาศัยรวมกลุ่มที่โคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะเคลื่อนย้ายขึ้นบนต้นข้าวเพศเมียวางไข่ประมาณ 200 ฟอง โดยวางไข่เป็นกลุ่ม จำนวน 20-26 ฟอง/กลุ่ม เรียงเป็นแถวขนานกัน วางไข่ที่ใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าวใกล้ระดับผิวน้ำ หรือบางครั้งอาจจะวางบนพื้นดิน ไข่มีสีชมพูแกมเขียว ระยะไข่ 4-6 วัน ตัวอ่อนมี 6 ระยะ ตัวอ่อนมีสีน้ำตาลและสีเหลืองกับจุดสีดำ ระยะตัวอ่อนนาน 20-30 วัน ตัวอ่อนมีพฤติกรรมเหมือนตัวเต็มวัย คือหลบซ่อนอยู่ที่โคนต้นข้าวหรือตามรอยแตกของพื้นดินในตอนกลางวันและหากินในตอนกลางคืน ตัวเต็มวัยมีอายุนานถึง 214 วัน อยู่ข้ามฤดูหนาวหรือฤดูแล้งได้ โดยพักตัวอยู่ในร่องระแหงดินบริเวณที่มีหญ้าขึ้นเมื่อสภาพภูมิอากาศเหมาะสมจึงบินเข้าแปลงนา และขยายพันธุ์หลายรุ่น มีการพักตัวตามตอซัง หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ตัวเต็มวัยสามารถอพยพได้ระยะทางไกล
แมลงหล่าตัวเต็มวัยและตัวอ่อนที่ฟักจากไข่
แมลงหล่าตัวเต็มวัยและตัวอ่อนที่ฟักจากไข่

ลักษณะการทำลายของแมลงหล่า

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าว ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเหลือง ขอบใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายข้าวเป็นโรคไหม้ ตามข้อของลำต้นข้าวเป็นบริเวณที่แมลงหล่าชอบเพราะเป็นแหล่งที่มีน้ำเลี้ยงมาก การทำลายในระยะข้าวแตกกอทำให้ต้นข้าวที่อยู่บริเวณกลางๆ กอข้าวมีอาการแคระแกร็น มีสีเหลืองแกมน้ำตาล และการแตกกอลดลง ถ้าทำลายหลังระยะข้าวตั้งท้องทำให้รวงข้าวแกร็น ออกรวงไม่สม่ำเสมอและรวงข้าวมีเมล็ดลีบต้นข้าวอาจเหี่ยวตายได้ ถ้ามีแมลงหล่าจำนวนมากจะทำให้ต้นข้าวแห้งไหม้คล้ายถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลาย แมลงหล่าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
แมลงหล่ามักพบระบาดในข้าวนาสวน นาชลประทานพบมากกว่านาน้ำฝน พบในนาหว่านมากกว่านาดำ เนื่องจากความหนาแน่นของต้นข้าวนาหว่านมีมากกว่านาดำซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยทั่วไปแมลงหล่าชอบสภาพที่ร่มเย็น ในฤดูนาปีการระบาดมีมากกว่านาปรัง พบระบาดเป็นครั้งคราวในเฉพาะบางท้องที่ แต่การระบาดแต่ละครั้งมักทำความเสียหายรุนแรง การระบาดไม่สามารถชี้ชัดว่ามาจากสาเหตุใด แต่มีข้อสังเกตว่าพบระบาดในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และ ในข้าวระยะแตกกอเต็มที่จนถึงระยะออกรวงทำให้ต้นข้าวแห้งตาย ผลผลิตเสียหาย คาดว่าแมลงชนิดนี้จะเริ่มมีความสำคัญในข้าวนาสวนมากขึ้น
ลักษณะอาการต้นข้าวในนาที่ถูกแมลงหล่าเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลายของแมลงหล่าในข้าว

การป้องกันกำจัดแมลงหล่า

1. ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลายในช่วงที่มีการระบาดเนื่องจากแมลงหล่าชอบบินมาเล่นไฟเวลากลางคืน
2. ปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อลดการเพิ่มประชากรในนาข้าว
3. กำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าว เพื่อให้นาข้าวโปร่ง แสงแดดส่งถึงโคนต้นข้าว ทำให้สภาพนาข้าวไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของแมลงหล่า
4. หมั่นตรวจนาข้าวสม่ำเสมอหรือทุกสัปดาห์ ถ้าพบแมลงมากกว่า 5 ตัว/กอ หรือกลุ่มข้าว ควรใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (ฟอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ20 ลิตร พ่นเฉพาะจุที่มีการระบาด โดยพ่นบริเวณโคนต้นข้าว

แมลงสิง (rice bug, slender rice bug)

วิธีป้องกันกำจัดแมลงสิงแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างแมลงสิงในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptocorisa oratorius (Fabri-cius)
วงศ์ : Alydidae อันดับ : Hemiptera
ชื่อสามัญอื่น
: แมลงฉง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติแมลงสิง

แมลงสิง Leptocorica oratorius (Fabri-cius) เป็นมวนชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร หนวดยาวใกล้เคียงกับลำตัว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลลำตัวด้านล่างสีเขียว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนี และปล่อยกลลิ่นเหม็นออกจากต่อมส่วนท้อง ตัวเต็มวัยจะออกหากินช่วงบ่ายๆ และช่วงเช้ามือ และเกาะพักที่หญ้าขณะที่มีแสงแดดจัดเพศเมียวางไข่ได้หลายร้อยฟองในช่วงชีวิตประมาณ 2-3 เดือน วางไข่เป็นกลุ่มมี 10-12 ฟอง เรียงเป็นแถวตรงบนผิวใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้มรูปร่างคล้ายจาน ระยะไข่นาน 7 วัน ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวก่อนต่อมาเป็นตัวเต็มไวจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง ตัวอ่อนมี 5 ระยะ
รูปร่างลักษณะแมลงสิงตัวเต็มวัย
แมลงสิงตัวเต็มวัย

ลักษณะการทำลายของแมลงสิง

แมลงสิงเริ่มพบในต้นฤดูฝน และเจริญเติบโตขยายพันธุ์ 1-2 รุ่น บนพืชอาศัยพวกวัชพืชตระกูลหญ้า ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแปลงนาข้าวช่วงระยะข้าวออกดอก แมลงสิงพบได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่พบมากในนาน้ำฝนและข้าวไร่ สภาพที่เหมาะต่อการระบาดคือ นาข้าวที่อยู่ใกล้ชายป่า มีวัชพืชมากมายใกล้นาข้าว และมีการปลูกข้าวเหลื่อมเวลากัน
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากดูดแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว ระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง โดยตัวเต็มวัยจะทำความเสียหายมากกว่า เพราะดูดกินเป็นเวลานานกว่า ทำให้เมล็ดลีบหรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ และผลผลิตข้าวลดลง การดูดกินของแมลงสิงไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดเหมือนมวนชนิดอื่น โดยปากจะเจาะผ่านช่องว่างระหว่างเปลือกเล็กและเปลือกใหญ่ของเมล็ดข้าว ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้คุณภาพข้าวเสียมากกว่าทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง โดยเมล็ดที่ถูกแมลงสิงทำลาย เมื่อนำไปสีจะแตกหักง่าย ข้อสังเกต ถ้ามีแมลงสิงระบาดในนาข้าวจะได้กลิ่นเหม็นฉุน
ลักษณะการทำลายของแมลงสิงในข้าว แทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว
ลักษณะการทำลายของแมลงสิง

การป้องกันกำจัดแมลงสิง

1. กำจัดวัชพืชในนาข้าว ตามคันนาและรอบๆ แปลงนา
2. ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในนาข้าวที่พบการระบาดและนำมาทำลาย
3. ตัวเต็มวัยชอบกินเนื้อเน่า นำเนื้อเน่าแขวนไว้ตามนาข้าว และจับมาทำลาย
4. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์
5. ใช้สารฆ่าแมลงศัตรูพืช คาร์โบซับลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบแมลงสิงมากกว่า 4 ตัว/ตารางเมตร ในระยะข้าวเป็นน้ำนม

แมลงดำหนาม (rice hispa)

วิธีป้องกันกำจัดแมลงดำหนามแมลงศัตรูข้าว
ลักษณะรูปร่างแมลงดำหนามในข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicladispa armigera (Olivier)
วงศ์ : Chrysomelidae อันดับ : Coleoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติแมลงดำหนาม

แมลงดำหนาม Dicladispa armigera (Olivier) เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งมีหนามแข็งแหลมปกคลุม ตัวเต็มวัยมีสีดำขนาดลำตัวยาว 5-6 มิลลิเมตร เพศเมียวางไข่ฟองเดี่ยวๆ ประมาณ 50 ฟอง ในชั่วอายุขัย 1-2 เดือน วางไข่ปลายใบอ่อน ระยะไข่นาน 4-5 วัน ตัวหนอนลักษณะลำตัวแบนสีขาว ตัวหนอนกินเนื้อเยื่อภายในผิวใบข้าว เจริญเติบโตและเข้าดักแด้อยู่ภายในใบข้าวระยะหนอนนานประมาณ 1 สัปดาห์ ดักแด้มีสีน้ำตาลตัวเต็มวัยจะกัดกินเฉพาะส่วนปลายของใบ ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
รูปร่างลักษณะแมลงดำหนามตัวเต็มวัย
แมลงดำหนามตัวเต็มวัย

ลักษณะการทำลายของแมลงดำหนาม

ตัวเต็มวัยและตัวหนอนกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวภายในใบข้าว คล้ายการทำลายของหนอนห่อใบทำลายข้าวระยะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวเต็มวัยกัดกินและแทะผิวใบข้าวด้านบน ทำให้เห็นเป็นรอยขูดเป็นทางสีขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ ส่วนตัวหนอนจะชอนใบข้าวเห็นเป็นรอยแผ่นสีขุ่นมัวขนานกับเส้นใบ นาข้าวที่ถูกทำลายรุนแรงใบข้าวจะแห้งและกลายเป็นสีน้ำตาลเหมือนถูกไฟไหม้ พบระบาดเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะพื้นที่นาที่กลุ่มมีน้ำท่วม
ลักษณะใบข้าวที่ถูกหนอนแมลงดำหนามทำลาย
ลักษณะใบข้าวที่ถูกหนอนแมลงดำหนามทำลาย
ลักษณะใบข้าวที่ถูกแมลงดำหนามตัวเต็มวัยทำลาย
ลักษณะใบข้าวที่ถูกแมลงดำหนามตัวเต็มวัยทำลาย

การป้องกันกำจัดแมลงดำหนาม

1. ปลูกข้าวถี่ให้มีใบข้าวหนาแน่น สามารถทนต่อการทำลายของแมลงได้
2. ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง
ตอน  1  2 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147