โรคข้าวที่สำคัญสร้างความเสียหายต่อนาและผลผลิตข้าวพร้อมวิธีป้องกันและกำจัด

โรคข้าวที่สำคัญสาเหตุที่เกิดจากเชื้อรา อาการ วิธีการป้องกันกำจัด
สารบัญ
ตอน  1  2  3 
โรคข้าว หมายถึง ความผิดปกติที่พืชแสดงออก สาเหตุของโรคอาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุเดี่ยวๆ หรือเกิดร่วมกันก็ได้ สิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรคเรียกว่า เชื้อโรค เชื้อสาเหตุของโรคข้าวอาจเกิดจาก เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสตมา และไส้เดือนฝอย จุลินทรีย์ เหล่านี้สามารถทำให้ข้าวแสดงอาการผิดปกติได้อย่างชัดเจนที่ใบ ลำต้น กาบใบ รวงและเมล็ด
ลักษณะอาการของโรค อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. ต้นเตี้ยแคระแกรน
2. ใบมีสีผิดปกติ เช่น เหลือง หรือด่างซีด
3. ตายเป็นจุดๆ ตามเนื้อเยื่อ เช่น ใบจุด ใบขีด หรือใบแห้ง
4. อาการเหี่ยวเนื่องจากการอุดตันของท่อน้ำท่ออาหาร
5. ส่วนของพืชผิดปกติ เช่นโรคดอกกระถิน โรครากปม และอื่นๆ
โรคข้าวเกิดขึ้นได้เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต้นพืชอ่อนแอ และเชื้อโรคมีความรุนแรง อาจจำลองความสัมพัน
ธ์ของการเกิดโรคดังนี้
ความเป็นกรด-ด่างของดินกับการละลายตัวของธาตุอาหารในดิน
การแพร่ระบาดหรือการระบาตของโรคเกิดได้เมื่อเชื้อสาเหตุของโรคเพิ่มมากขึ้นในสภาพนิเวศของข้าว นอกจากนี้การเขตกรรมก็เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น การระบาดของโรคไหม้จะรุนแรงในสภาพข้าวไร่มากกว่าข้าวนาสวน และหากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงจะทำให้เป็นโรครุนแรงยิ่งขึ้น การระบาดของโรคอาจมีปัจจัยของสิ่งมีชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การระบาดของโรคใบหงิกจะเพิ่มตามปริมาณแมลงพาหะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยตัวเต็มวัยจะมีความสามารถในการถ่ายทอดโรคได้สูงกว่าตัวอ่อน การแพร่ระบาดมักเป็นไปในทิศทางเดียวกับการอพยพของแมลง
การใช้พันธุ์ต้านทานในการป้องกันกำจัดโรคข้าวเป็นวิธีที่ให้ผลดี แต่มักพบว่าข้าวมีความต้านทานลดลงอย่างรวดเร็วการใช้สารป้องกันกำจัดโรคยังมีความจำเป็น เนื่องจากบางโรคยังไม่มีพันธุ์ข้าวต้านทางโรค เช่น โรคกาบใบแห้ง โรคลำต้นเน่าและการใช้สารป้องกันกำจัดโรคยังคงมีประสิทธิภาพดีในการควบคุมโรคฉะนั้นการป้องกันกำจัดโรคจึงแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อสาเหตุ เช่น การใช้พันธุ์ข้าวต้านทานในการป้องกันกำจัดโรคขอบอบใบแห้งและโรคเขียวเตี้ยดีกว่าโรคไหม้ เนื่องจากโรคไหม้เป็นโรคที่เชื้อสาเหตุ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
บทความนี้เราจะพาไปรู้จักโรคข้าวที่สำคัญว่ามีกี่ชนิดมีโรคอะไรบ้าง แต่ระชนิดเกิดจากเชื้อโรคอะไรลักษณะอาการของโรคเป็นอย่างไรพร้อมวิธีการป้องกันกำจัดโรคข้าว
โรคข้าวที่เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และอื่นๆ ในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ

โรคข้าวที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา

โรคกล้าเน่าในถาดเพาะกล้า (Seedling Rot Disease in Nursery Box)

โรคกล้าเน่าในถาดเพาะกล้าข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Curvularia lunata (Wskk.) Board. Helminthosporium oryzae Breda de haan
พบมาก ในถาดเพาะตกกล้าข้าวที่ใช้กับรถปักดำหรือรถดำนา

อาการโรคกล้าเน่าในถาดเพาะกล้า

เริ่มพบอาการได้ในระยะหลังจากการตกกล้าข้าวในถาดเพาะกล้าโดยจะเริ่มพบเมล็ดข้าวบางส่วนที่เพาะไม่งอกและมีเส้นใยของเชื้อราปกคลุม ส่วนเมล็ดที่งอกต้นกล้าจะมีการเจริญเติบโตช้ากว่าต้นกล้าข้าวปกติ และเมื่อถอนต้นกล้าข้าวขึ้นมาดู ก็จะพบว่าส่วนรากและโคนต้นกล้ามีแผลสีน้ำตาล และแผลที่เกิดบนโคนต้นกล้าจะลุกลามขึ้นไปยังส่วนบนของต้นกล้าทำให้ต้นกล้าเน่าตาย ในขณะเดียวกันเชื้อราสาเหตุของโรคจะขยายจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโรคออกไปบริเวณโดยรอบไปยังต้นกล้าใกล้เคียง
ในกรณีที่ตกกล้าหนาแน่น เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของถาดเพาะกล้าได้อย่างรวดเร็ว ต่อจากนั้นก็จะพบอาการตายของต้นกล้าข้าวเป็นหย่อมๆ กรณีที่เป็นโรคในถาดเพาะกล้ารุนแรงทำให้ไม่สามารถนำต้นกล้านั้นไปใช้ปักดำได้
ลักษณะอาการกล้าในถาดเพาะเน่าตาย
ลักษณะอาการกล้าในถาดเพาะเน่าตาย
ลักษณะอาการกล้าจะเน่าหลังงอก
อาการกล้าเน่าหลังงอก

การแพร่กระบาดโรคกล้าเน่าในถาดเพาะกล้า

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่ติดเมล็ดพันธุ์มาจากแปลง เมล็ดพันธุ์ที่เป็นโรคเมล็ดด่างมาก่อน

การป้องกันกำจัดโรคกล้าเน่าในถาดเพาะกล้า

• ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการระบาดของโรคเมล็ดด่างมาก่อน
• คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ ในอัตรา 3กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
• ล้างทำความสะอาดถาดเพาะกล้าหลังใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อได้แก่ สารคลอรีน
• เผาทำลายต้นกล้าข้าวที่เป็นโรคเน่าตายในถาดเพาะกล้า

โรคไหม้ในข้าว (Rice Blast Disease)

โรคไหม้ในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc.
พบมาก ในนาน้ำฝน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

อาการโรคไหม้ในข้าว

ระยะกล้า ใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ารูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้
ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ
ระยะคอรวง (ระยะออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก
เชื้อราสาเหตุของโรคไหม้ในข้าว
เชื้อราสาเหตุของโรคไหม้ในข้าว
ลักษณะโรคไหม้ใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ารูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล
ลักษณะอาการโรคไหม้ในข้าว

การแพร่ระบาดโรคไหม้ในข้าว

พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน มีน้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี

การป้องกันกำจัดโรคไหม้ในข้าว

• ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
-  ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 ชัยนาท 1 ปราจีนบุรี 1 พลายงาม คลองหลวง 1 พิษณุโลก 1
- ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล 2 เหนียวแพร่ สันปาตอง 1 หางยี 71 กู้เมืองหลวง ขาวโป่งไคร้ น้ำรู
- ภาคใต้ เช่น ดอกพะยอม
• หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการระบายถ่ายเทอากาศดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ถ้าสูงถึง 50 กิโลกรัม/ไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว
• คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาซูกะมัยซิน ไตรไซคลาโซล คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ ตามอัตราที่ระบุ
• ในแหล่งที่เคยมีโรคระบาดและพบแผลโรคไหม้ทั่วไป 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาซูกามัยซิน อีดิเฟนฟอส ไตรไซคลาโซล ไอโซโพรไทโอเลน คาร์เบนดาซิม ตามอัตราที่ระบุ

โรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว (Brown Spot Disease)

โรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Helminthosporium oryzae breda de haan.
พบมาก ทั้งนาน้ำฝน และ นาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคใต้

อาการโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว

แผลที่ใบข้าว พบมากในระยะแตกกอมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 มิลลิเมตร แผลที่มีการพัฒนาเต็มที่ขนาดประมาณ 1-2 x 4-10 มิลลิเมตร บางครั้งพบแผลไม่เป็นวงกลมหรือรูปไข่ แต่จะเป็นรอยเปื้อนคล้ายสนิมกระจัดกระจายทั่วไปบนใบข้าว แผลยังสามารถเกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก (โรคเมล็ดด่าง) บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรกเสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวสาร ข้าวสารจะหักง่าย
ในระยะแตกกอมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง
ลักษณะโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว
เชื้อราสาเหตุของโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว
เชื้อราสาเหตุของโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว

การแพร่ระบาดโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว

เกิดจากสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลมและติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัดโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว

• ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ และ โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคใบสีส้ม เช่น ภาคกลางใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และหางยี 71
• ปรับปรุงดินโดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค
• คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม
• ใส่ปุ๋ยแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยให้ข้าวเป็นโรคน้อยลง
• กำจัดวัชพืชในนา ทำแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม
• ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่องอาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ

โรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว (Narrow Brown Spot Disease)

โรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Cercospora oryzae I. Miyake
พบมาก ทั้งนาน้ำฝนและนาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

อาการโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว

ลักษณะแผลที่ใบมีสีน้ำตาลเป็นขีดๆ ขนาดไปกับเส้นใบข้าว มักพบในระยะข้าวแตกกอ แผลไม่กว้าง ตรงกลางเล็กและไม่มีรอยช้ำที่แผล ต่อมาแผลจะขยายมาติดกัน แผลจะมีมากตามใบล่างและปลายใบ ใบที่เป็นโรคจะแห้งตายจากปลายใบก่อน ต้นข้าวที่เป็นโรครุนแรงจะมีแผลสีน้ำตาลที่ข้อต่อใบได้เช่นกัน เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายคอรวง ทำให้คอรวงเน่าและหักพับได้
แผลที่ใบมีสีน้ำตาลเป็นยขีดๆ ขนาดไปกับเส้นใบข้าว
อาการโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว
แผลจะขยายมาติดกัน แผลจะมีมากตามใบล่างและปลายใบ
ลักษณะโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว

การแพร่ระบาดโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว

สปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลมและยังสามารถติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัดโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว

• ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมเฉพาะท้องที่ เช่น ภาคใต้ ใช้พันธุ์แก่นจันทร์ ดอกพะยอม
• ใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
• กรณีที่เกิดการระบาดของโรครุนแรง อาจใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม

โรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว (Leaf Scald Disease)

โรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Rhynchosporium oryzae Hashioka & Yokogi
พบมาก ในนาชลประทาน เขตภาคกลาง และข้าวไร่เขตภาคเหนือ

อาการโรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว

ระยะกล้า ข้าวจะแสดงอาการไหม้ที่ปลายใบและมีสีน้ำตาลเข้ม ระยะแตกกอ อาการส่วนใหญ่จะเกิดบนใบ แต่มักจะเกิดแผลที่ปลายใบมากกว่าบริเวณอื่นๆ ของใบ แผลที่เกิดบนใบ ในระยะแรกมีลักษณะเป็นรอยช้ำๆ รูปไข่ยาวๆ แผลสีน้ำตาลปนเทา ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นรูปวงรี ติดต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้บริเวณกว้างและเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ในที่สุดแผลจะมีลักษณะเป็นวงซ้อนๆ กันลุกลามเข้ามาที่โคนใบ มีผลทำให้ข้าวแห้งก่อนกำหนด
เป็นรอยช้ำๆ รูปไข่ยาวๆ แผลสีน้ำตาลปนเทา ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นแผลจะขยายใหญ่
ลักษณะอาการโรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว

การแพร่ระบาดโรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว

มีพืชอาศัย เช่น หญ้าชันกาด หญ้าขน

การป้องกันกำจัดโรคใบวงสีน้ำตาลในข้าว

• ใช้พันธุ์ข้าวต้านทาน เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้พันธุ์กำผาย 15 หางยี 71
• กำจัดพืชอาศัยของเชื้อราสาเหตุโรค
• ในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด หรือพบแผลลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น บนใบข้าว จำนวนหนาตาในระยะข้าวแตกกอ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เซอร์โคบิก โปรพิโคนาโซล ตามอัตราที่ระบุ

โรคกาบใบแห้งในข้าว (Sheath blight Disease)

โรคกาบใบแห้งในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani (Thanatephorus cucumeris (Frank) Donk)
พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้

อาการโรคกาบใบแห้งในข้าว

เริ่มพบโรคระยะแตกกอจนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยวยิ่งต้นข้าวมีการแตกกอมากเท่าใด ต้นข้าวก็จะเบียดเสียดกันมากขึ้นโรคก็จะรุนแรง ลักษณะแผลสีเขียวปนเทา ขนาดประมาณ 1-4x2-10 มิลลิเมตร ปรากฏตามกาบใบตรงบริเวณใกล้ระดับน้ำแผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดไม่จำกัดและลุกลามขยายขึ้นถึงใบข้าว ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอ แผลสามารถลุกลามถึงใบธงและกาบหุ้มรวงข้าว ทำให้ใบและกาบใบเหี่ยวแห้งผลผลิตจะลดลงอย่างมาก
เริ่มพบโรคระยะแตกกอจนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยว
อาการโรคกาบใบแห้งในข้าว
แผลสีเขียวปนเทา ขนาดประมาณ 1-4 x 2-10 มิลลิเมตร
ลักษณะโรคกาบใบแห้งในข้าว

การแพร่ระบาดโรคกาบใบแห้งในข้าว

เชื้อราสามารถสร้างเม็ดขยายพันธุ์อยู่ได้นานในตอซังหรือวัชพืชในนา ตามดินนา และมีชีวิตข้ามฤดูหมุนเวียนทำลายข้าวได้ตลอดฤดูกาลทำนา

การป้องกันกำจัดโรคกาบใบแห้งในข้าว

• หลังเก็บเกี่ยวข้าว และเริ่มฤดูกาลใหม่ ควรพลิกไถหน้าดินเพื่อทำลายเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อรา
• กำจัดวัชพืชตามคันนาและแหล่งน้ำ เพื่อลดโอกาสการฟักตัวและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุโรค
ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลลัส ซับทิลิส (เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์) ตามอัตราที่ระบุ
ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น วาลิดามัยซิน โปรพิโคนาโซล เพนไซคูรอน (25 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี) หรือ อีดิเฟนฟอส ตามอัตราที่ระบุ โดยพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรานี้ในบริเวณที่เริ่มพบโรคระบาด ไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลง เพราะโรคกาบใบแห้งจะเกิดเป็นหย่อมๆ

โรคกาบใบเน่าในข้าว (Sheath Rot Disease)

โรคกาบใบเน่าในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Sarocladium oryzae Sawada
พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

อาการโรคกาบใบเน่าในข้าว

ข้าวแสดงอาการในระยะตั้งท้องโดยเกิดแผลสีน้ำตาลดำบนกาบห่อรวง ขนาดแผลประมาณ 2-7x4-18 มิลลิเมตร ตรงกลางแผลมีกลุ่มเส้นใยสีขาวอมชมพู แผลนี้จะขยายติดต่อกันทำให้บริเวณกาบหุ้มรวงมีสีน้ำตาลดำและรวงข้าวส่วนใหญ่โผล่ไม่พ้นกาบหุ้มรวง หรือโผล่ได้บางส่วน ทำให้เมล็ดลีบและมีสีดำ
แผลสีน้ำตาลดำบนกาบห่อรวง ขนาดแผลประมาณ 2-7 x 4-18 มิลลิเมตร
ลักษณะอาการโรคกาบใบเน่าในข้าว

การแพร่ระบาดโรคกาบใบเน่าในข้าว

เชื้อรานี้ติดอยู่บนเมล็ดได้นาน นอกจากนี้พบ ไรขาว ซึ่งอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวในริเวณใบด้านในสามารถเป็นพาหะช่วยทำให้โรคแพร่ระบาดได้รุนแรง และกว้างขวางยิ่งขึ้น

การป้องกันกำจัดโรคกาบใบเน่าในข้าว

• ใช้พันธุ์ข้าวที่ค่อนข้างต้านทานโรคที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่เช่น กข27 สำหรับนาลุ่มมีน้ำขัง ใช้พันธุ์ข้าวที่ลำต้นสูงแตกกอน้อย
• ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนเซท-ดี คาร์เบนดาซิม คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ
• ลดจำนวนไรขาว พาหะแพร่เชื้อในช่วงอากาศแห้งแล้ง ด้วยสารป้องกันกำจัดไร เช่น ไตรไธออน โอไมท์ ตามอัตราที่ระบุ

โรคเมล็ดด่างในข้าว (Dirty Panicle Disease)

โรคเมล็ดด่างในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Curvularia lunata (Wakk) Boed. Cercospora oryzae I. Miyake Helminthosporium oryzae Breda de Haan. Fusarium semitectum Berk & Rav. Trichoconis padwickii Ganguly Sarocladium oryzae Sawada
พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
เชื้อราหลายชนิดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเมล็ดด่างในข้าว
เชื้อราสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเมล็ดด่างในข้าว

อาการโรคเมล็ดด่างในข้าว

ในระยะออกรวง พบแผลเป็นจุสีน้ำตาลหรือดำที่เมล็ดบนรวงข้าว บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาลดำ และบางพวกมีสีเทาปนชมพู ทั้งนี้เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลายและทำให้เกิดอาการต่างกันไป การเข้าทำลายของเชื้อรามักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม และอาการเมล็ดด่าง จะปรากฏเด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว
พบแผลเป็นจุสีน้ำตาลหรือดำที่เมล็ดบนรวงข้าว บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาลดำ
ลักษณะอาการโรคเมล็ดด่างในข้าว

การแพร่ระบาดโรคเมล็ดด่างในข้าว

เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม ติดไปกับเมล็ด และอาจสามารถแพร่กระจายในยุ้งฉางได้

การป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างในข้าว

• ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 และข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1
• เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรคัดเลือกจากแปลงที่ไม่เป็นโรคนี้
• คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ แมนโคเซบในอัตรา 3กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
• ในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวงเมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธง และโรคกาบใบเน่า ถ้ามีฝนตกชุก ควรวางมาตรการป้องกันแต่ต้นๆ โดยพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โปรพิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล หรือ โปรพิโคนาโซล + โพคลอราช หรือ คาร์เบนดาซิม + อีพ็อกซี่โคนาโซล หรือ ฟลูซิลนิล หรือ ทีบูโคนาโซล หรือ โพคลอราช + คาร์เบนดาซิม หรือ เมนโคเซบ + ไทโอฟาเนต เมทิล หรือ คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ

โรคถอดฝักดาบในข้าว (Bakanae Disease)

โรคถอดฝักดาบในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Fusarium fujikuroi Nirenberg (Fusarium moniliforme J. Sheld.)
พบมาก ในนาน้ำฝน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อาการโรคถอดฝักดาบในข้าว

พบโรคในระยะกล้า ต้นกล้าจะแห้งตายหลังจากปลูกได้ไม่เกิน 7 วัน แต่มักพบกับข้าวอายุเกิน 15 วัน เริ่มแตกกอ ข้าวเป็นโรคจะต้นผอมสูงเด่นกว่ากล้าข้าวโดยทั่วๆ ไป ต้นข้าวผอมมีสีเขียวอ่อนซีด มักย่างปล้อง บางกรณีข้าวจะไม่ย่างปล้อง แต่รากจะเน่าช้ำเวลาถอนมักจะขาดตรงบริเวณโคนต้น ถ้าเป็นรุนแรงกล้าข้าวจะตาย หากไม่รุนแรงอาการจะแสดงหลังจากย้ายไปปักดำได้ 15-45 วัน โดยที่ต้นเป็นโรคจะสูงกว่าข้าวปกติใบมีสีเขียวซีด เกิดรากแขนงที่ข้อลำต้นตรงระดับน้ำ บางครั้งพบกลุ่มเส้นใยสีชมพูตรงบริเวณข้อที่ย่างปล้องขึ้นมา ต้นข้าวที่เป็นโรคมักจะตายและมีน้อยมากที่อยู่รอดจนถึงต้นข้าวออกรวง
ต้นผอมสูงเด่นกว่ากล้าข้าวโดยทั่วๆ ไป ต้นข้าวผอมมีสีเขียวอ่อนซีด
ลักษณะอาการโรคถอดฝักดาบในข้าว

การแพร่ระบาดโรคถอดฝักดาบในข้าว

เชื้อราจะติดไปกับเมล็ด สามารถมีชีวิตในซากต้นข้าวและในดินได้เป็นเวลาหลายเดือน พบว่า หญ้าชันกาด เป็นพืชอาศัยของโรค

การป้องกันกำจัดโรคถอดฝักดาบในข้าว

• หลีกเลี่ยงการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เคยเป็นโรคระบาดมาปลูก
• คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัม/เมล็ด 1กิโลกรัม หรือ แช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนหุ้มข้าวให้งอกก่อนปลูก ด้วยสารละลายของสารป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าว อัตรา 30กรัม/น้ำ 20ลิตร หรือ แช่เมล็ดข้าวในสารละลายโซเดียมคลอโรไฮโปคลอไรท์ (คลอร็อกซ์) ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ คลอร็อกซ์ อัตรา1/น้ำ 9ส่วน
• ควรกำจัดต้นข้าวที่เป็นโรคโดยการถอนทิ้งและเผาทำลาย
• เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วควรไขน้ำเข้าที่นาและไถพรวนปล่อยน้ำเข้าที่นาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุของโรคที่ตกค้างในดิน

โรคลำต้นเน่าในข้าว (Stem rot Disease)

โรคลำต้นเน่าในข้าว สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันกำจัด
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Sclerotium oryzae Catt.
พบมาก ภาคกลาง และสามารถพบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

อาการโรคลำต้นเน่าในข้าว

เริ่มพบอาการโรคได้ในระยะต้นข้าวก่อนออกรวงหรือหลังออกรวงแล้ว โดยเฉพาะแผลเป็นจุดสีน้ำตาลดำใกล้ระดับน้ำและแผลจะขยายใหญ่ขึ้นและลงตามกาบใบของต้นข้าว และในขณะเดียวกันในลำต้นก็จะมีแผลที่มีลักษณะเป็นขีดสีน้ำตาลเมื่อต้นข้าวเป็นโรครุนแรง ใบล่างของต้นข้าวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส่วนกาบใบและลำต้นจะเน่า ต้นข้าวล้มง่ายและเมื่อดึงต้นข้าวก็จะหลุดออกจากกอได้ง่าย ต้นข้าวจะตายก่อนออกรวง แต่ถ้ามีการระบาดของโรคไม่รุนแรงหรือโรคเกิดขึ้นในระยะต้นข้าวหลังออกรวงแล้ว จะมีผลทำให้ผลผลิตของข้าวลดลงได้ และเมื่อต้นข้าวเป็นโรคและแห้งตายจะพบเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุของโรคมีสีดำฝังอยู่ในเนื้อเยื่อของกาบใบและตามปล้องของต้นข้าว เม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุของโรคสามารถตกค้างอยู่บนตอซังข้าวและดินได้เป็นระยะเวลานาน
แผลเป็นจุดสีน้ำตาลดำใกล้ระดับน้ำและแผลจะขยายใหญ่ขึ้น
ลักษณะอาการโรคลำต้นเน่าในข้าว

การแพร่ระบาดโรคลำต้นเน่าในข้าว

เนื่องจากเชื้อราสาเหตุของโรคจะสร้างเม็ดขยายพันธุ์ที่ตกค้างอยู่ในตอซังข้าวและดิน ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่บนผิวน้ำและแพร่กระจายไปกับน้ำในนาข้าวได้เช่นกัน

การป้องกันกำจัดโรคลำต้นเน่าในข้าว

• เลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
•ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไปในแปลงข้าวที่เป็นโรค
•หลังเก็บเกี่ยวข้าว และเริ่มฤดูการปลูกใหม่ ควรพลิกไถหน้าดินเพื่อทำลายเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อรา เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรคออกจากแปลง
•หมั่นตรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น พีซีเอ็มบี คาร์บ๊อกซิน วาลิดามัยซิน
ตอน  1  2  3 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147