หลักการป้องกันกำจัดโรคพืชเบื้องต้นที่ชาวนาชาวสวนต้องรู้

หลักการป้องกันกำจัดโรคพืชที่ชาวสวนชาวนาต้องรู้

หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช

The National Academy of Science (Anon. 1968) ได้วางหลักการป้องกันกำจัดโรคพืชไว้ 6 ข้อ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงพืชไม่ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะต่อการเกิดโรค (Avoidance) ได้แก่ การเลือกปลูกพืชในเวลาหรือในพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อเชื้อสาเหตุโรค เช่น ทำให้เชื้อสาเหตุโรคไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีความสามารถเข้าทำลายพืชได้ หรือ เลือกเวลาและพื้นที่ที่ไม่มีประชากรของเชื้อสาเหตุโรคหรือหายาก
2. การกีดกันหรือป้องกันไม่ให้เชื้อสาเหตุโรคเข้ามาในบริเวณที่ไม่เคยเป็นโรคมาก่อน (Exclusion) ได้แก่ การตรวจหาเชื้อโรคจากส่วนของพืชที่นำมาใช้เป็นส่วนขยายพันธ์ เช่น เมล็ด และ กิ่งพันธุ์ หากพบเชื้อโรคให้กำจัดหรือฆ่าเชื้อโรคก่อนนำไปปลูก
3. การลดปริมาณหรือทำลายประชากรเชื้อโรคในพื้นที่ปลูก (Eradication) เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การกำจัดพืชอาศัยของเชื้อโรค การกำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรค การฆ่าหรือทำลายประชากรเชื้อโรคโดยการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชหรือใช้ความร้อน หรือการเผาพืชที่เป็นโรค
4. การป้องกันส่วนของพืชไม่ให้ถูกเชื้อโรคเข้าทำลาย (Protection) เช่น ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชฉีดพ่นส่วนของพืชเพื่อป้องกันพืชไม่ให้ถูกเชื้อโรคทำลาย โดยสารป้องกันกำจัดโรคพืชจะทำให้เชื้อโรคพืชหมดความสามารถในการเข้าทำลายพืช
5. การปลูกพืชโดยใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรค (Disease resistance) เมื่อเชื้อสาเหตุโรคเช้าทำลายพืชที่มีคุณสมบัติต้านทานโรค จะทำให้เชื้อโรคนั้นลดประสิทธิภาพในการเข้าทำลายพืชได้ อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงขบวนการทางสรีรวิทยาของพืช หรือ พืชมีโครงสร้างธรรมชาติที่สามารถต่อต้านการเข้าทำลายของเชื้อโรคได้
6. การรักษาพืช (Therapy) เพื่อลดความรุนแรงของโรคในพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลายแล้ว

การป้องกันกำจัดโรคพืชโดยชีววิธี

เนื่องจากมีการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมากในการปลูกพืชของเกษตรกรบางครั้งใช้เกินความจำเป็นทำให้เกิดผลเสียตามมา คือ พบสารพิษตกค้างทั้งในพืชและในสภาพแวดล้อม ได้แก่ ดิน และ น้ำ เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนี้ยังทำให้เชื้อสาเหตุของโรคสามารถปรับตัวต้านทานต่อสารป้องกันกำจัดโรคพืช ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณสารป้องกันกำจัดโรคพืชในการคุมโรคพืชจึงสามารถกำจัดโรคพืชได้ หรืออาจต้องเปลี่ยนชนิดของสารป้องกันกำจัดโรคพืช สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลทำให้นักวิชาการหันมาสนใจวิธีป้องกันกำจัดโรคพืชโดยใช้วิธี (Biological control of plant diseases) เพราะเป็นวิธีที่ให้ผลในระยะยาวปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้ การป้องกันกำจัดโรคพืชโดยชีววิธีเป็นวิธีการลดปริมาณเชื้อสาเหตุ หรือลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดโรคของเชื้อสาเหตุโรคโดยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น 1 ชนิด หรือมากกว่าโดยเกิดตามธรรมชาติหรือมีการจัดการกับพืช สภาพแวดล้อม หรือ จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ร่วมด้วย หรือ นำจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จากที่อื่น 1 ชนิดหรือมากกว่ามาใช้ (Cook and Baker, 1983) โดยสรุปการป้องกันกำจัดโรคพืชโดยชีววิธีเป็นวิธีลดปริมาณ (incidence) หรือความรุนแรง ( severity) ของโรคโดยใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหลักการของการกำจัดโรคโดยชีววิธี อาจเป็นการกำจัดหรือฆ่าเชื้อสาเหตุโรค (eradication) หรือการป้องกัน (protection) ขึ้นอยู่กับความเฉพาะเจาะจงหรือประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์แต่ละชนิด บางชนิดมีความสามารถในการผลิตสารปฏิชีวนะ (antibiotics) เพื่อฆ่าเชื้อสาเหตุโรค หรือบางชนิดอาจมีความสามารถในการเจริญแก่งแย่งสารอาหารและเพิ่มปริมาณยึดครองพื้นที่ใบหรือส่วนต่างๆ ของพืชได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคเป็นการกีดกันไม่ให้เชื้อสาเหตุโรคมาอาศัยบนใบพืชหรือส่วนต่างๆ ของพืชได้ จึงเป็นการป้องกันพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรค
กลไกในการป้องกันกำจัดโรคพืชโดยชีววิธี แบ่งตามพืชอาศัยและจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ มีดังนี้
1. Direct parasitism คือ การที่จุลินทรีย์ปฏิปักษ์เข้าไปอาศัยภายในเซลล์ของเชื้อสาเหตุโรคโดยตรงเพื่อใช้สารอาหารจากเชื้อสาเหตุ
2. Competition คือ การที่จุลินทรีย์ปฏิปักษ์สามารถแข่งขันแก่งแย่งสารอาหารหรือยึดครองพื้นที่ได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคทำให้เชื้อสาเหตุโรคมีชีวิตอยู่ไม่ได้
3. Antibiosis เป็นความสามารถของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการผลิตสารปฏิชีวนะเพื่อไปยับยั้งการเจริญหรือฆ่าเชื้อสาเหตุโรคพืช
4. Cross-protection ตามความหมายเดิมหมายถึง การชักนำให้พืชแสดงความต้านทานต่อเชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืชสายพันธุ์รุนแรง โดยการปลูกเชื้อลงบนพืชก่อนด้วยเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันแต่เป็นสายพันธุ์อ่อน (mild strain) ต่อมากลไกของ cross-protection ได้คลุมถึงการใช้เชื้อสาเหตุโรคอื่นๆ ที่เป็นสายพันธุ์อ่อนหรือใช้จุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ไม่ได้เป็นเหตุโรคมาปลูกเชื้อบนพืชก่อน เพื่อให้พืชต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคสายพันธุ์ที่รุนแรง
5. Disease suppressive soils เป็นลักษณะของดินที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งโรคได้โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราในดินพิจารณาได้จากจำนวนประชากรของเชื้อสาเหตุโรคจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใต้สภาพธรรมชาติในดินชนิดนี้ และถ้าต้องการให้พืชที่ปลูกในดินชนิดนี้เป็นโรคต้องใช้จำนวนประชากรเชื้อโรคในปริมาณสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าการงอกของส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา (chlamydospores, Zoospores, conidia, sclerotia และอื่นๆ) และการเจริญของเส้นใยของเชื้อราในดินยับยั้งโรคจะลดลง การให้ความร้อนหรือสารเคมีแก่ดินยับยั้งโรคนี้จะทำให้คุณสมบัติการยับยั้งโรคหมดไปนอกจากนี้การนำดินยับยั้งโรคแม้เพียงปริมาณน้อยไปผสมในดินที่ชักนำให้เกิดโรค (conductive soil) จะทำให้ดินนี้มีคุณสมบัติการยับยั้งโรคขึ้นมาได้ แสดงว่ากลไกหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งโรคมีลักษณะของความมีชีวิต ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ ปรากฏการณ์ disease decline ของโรค take-all ของข้าวสาลี พบว่าเมื่อปลูกข้าวสาลีในที่ดินเดิมติดต่อหลายๆ ปี ทำให้โรค Take-all ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากมีการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ขึ้นมาจึงทำให้โรคลดลงและยังมีลักษณะ fungistasis รวมทั้ง lytsis พบในดินยับยั้งโรคด้วย
6. Fungistasis เป็นลักษณะหรือปรากฏการณ์ที่อัตราการงอกของส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราและการเจริญของเส้นใยของเชื้อราในดิน (ยับยั้งโรค) ลดลง เนื่องจากถูกแย่งอาการไปหมดหรือเกิดจากพิษของสารเคามีที่ผลิตจากจุลินทรีย์หรือจากของพืช
7. Lysis เป็นลักษณะที่เส้นใยของเชื้อราหรือสปอร์ของเชื้อราในดิน หรือเชื้อสาเหตุโรคอื่นๆ มีลักษณะของการแตกสลายของเซลล์ กลไกของการเกิด lysis ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งในดินยับยั้งโรคและปรากฏการณ์ disease-decline พบว่า การเกิด lysis มักเกิดร่วมกับสภาพที่อาหารในดินหมดไป หรือ สภาพสปอร์ถูกกระตุ้นให้งอกหรือถูกครอบครอง (colonization) โดยแบคทีเรียพวกที่อาศัยเศษซากพืชและสัตว์เป็นอาหาร (saprophytic bacteria)
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147