เทคนิคการปลูกผักสวนครัววิธีและขั้นตอนง่ายๆ ปลูกเองกินเองในสวนหลังบ้าน

ความหมายพืชผักสวนครัว

พืชผักสวนครัว คือ ผักที่เราปลูกเองในที่อยู่อาศัย อาจปลูกในกระถาง กระบะ เข่ง หรือพื้นดิน เป็น ผักที่ปลูกง่าย ไม่ซับซ้อน ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย นำมาบริโภคเป็นผักแกล้ม หรือปรุงเป็นอาหารได้สะดวก
ผักสวนครัวที่ปลูกเองในสวนหลังบ้านปลูกง่ายๆ ไม่สับซ้อน
การปลูกผักภายในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะการปลูกผักสามัญที่ใช้เป็นประจำในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ภายในบริเวณบ้านที่กว้างขวาง เพียงแค่มีพื้นที่ 1-5 ตารางเมตร ก็สามารถปลูกผักไว้รับประทานอย่างเพียงพอได้ โดยหากมีพื้นที่กว้างพอก็สามารถปลูกลงในดินโดยตรง แต่ถ้ามีพื้นที่ขนาดเล็กสามารถปลูกในภาชนะและตั้งวางบนพื้นดินหรือแขวนในบริเวณบ้านที่มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวันก็เพียงพอที่จะมีผักสดและปลอดภัยไว้รับประทานเพื่อสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัว และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย

ปัจจัยที่จำเป็นในการปลูกผักสวนครัว

1. พันธุ์ผัก

เป็นสิ่งตั้งต้นที่จะทำให้ได้ผลผลิตผัก ผักส่วนใหญ่ใช้เมล็ดพันธุ์ในการขยายพันธุ์ แต่ก็ยังมีอีกหลายชนิดใช้ส่วนอื่นๆ ในการขยายพันธุ์ ดังนี้
1.1 ผักที่ใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับปลูก พริก มะเขือเทศ มะเขือ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย แคนตาลูป บอน มะระ ฟักทอง ฟักเขียว แฟง ถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักบุ้งจีน กระเจี๊ยบเขียว กะเพรา โหระพา แมงลัก และ ผักชี
1.2 ผักที่ใช้ส่วนต่างๆ ในการปลูก
- ใช้กิ่งปักชำ เช่น ผักหวานบ้าน ชะอม กะเพรา โหระพา แมงลัก และชะพลู เป็นต้น
- ใช้เหง้า หัวและลำต้น เช่น หอมแบ่ง หอมแดง กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ และมันเทศ เป็นต้น

2. ดิน

2.1 การปลูกในพื้นดินโดยตรง
ให้พรวนดินตากแดดไว้ประมาณ 7-15 วัน หลังจากนั้นยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว กว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ส่วนความยาวตามความยาวของพื้นที่หรือความต้องการ การวางแปลงให้พิจารณาให้อยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วแปลงตลอดวัน ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักจำนวน 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างดีก่อนการปลูกผัก
วิธีการปลูกผักสวนครัวในดิน
2.2 การปลูกผักในภาชนะ
ภาชนะเพาะเช่น กระถางต้นไม้ กระบะ ถาดเพาะ เข่ง เป็นต้น ให้ใช้ดินผสมสำหรับการปลูกโดยดินผสมต้องมีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และมีธาตุอาหารจำเป็นที่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของผักได้ ปัจจุบันมีการจำหน่ายส่วนผสมในร้านขายต้นไม้หรือวัสดุอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งสามารถซื้อมาใช้สำหรับการปลูกผักได้ และหากต้องการทำดินผสมสำหรับการปลูกผักใช้เองให้ใช้ส่วนผสม ดิน : ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้า แกลบ ในส่วนผสม 1:1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างดี
ปลูกผักสวนครัวในกระถาง เข่ง หรือ ถาด

3. ภาชนะปลูก

3.1 การเลือกภาชนะปลูกให้เหมาะสมกับชนิดของผัก
ให้พิจารณาจากอายุของผัก ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว หากใช้ระยะเวลานานหรือเป็นผักยืนต้นต้องพิจารณาให้ใช้ภาชนะมีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้มีพื้นที่ในการบรรจุวัสดุปลูกหรือดินผสมที่เพียงพอให้พืชผักหยั่งรากและมีอาหารเพื่อการเจริญเติบโตได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งให้คำนึงถึงความยาวของรากพืชผักด้วย ซึ่งโดยทั่วไปหากเป็นพืชผักอายุสั้นรากผักจะเจริญเติบโตและหาอาหารอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ดังนั้น ภาชนะปลูกควรมีความลึก 25-30 เซนติเมตร แต่หากเป็นผักที่มีอายุปานกลาง เช่น พริก มะเขือต่าง ๆ หรือผักยืนต้น เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ชะอม ภาชนะปลูกควรมีความลึกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร จะทำให้พืชผักสามารถเจริญเติบโตออกผลได้สมบูรณ์ เลือกภาชนะปลูกที่มีความคงทนแข็งแรงพอสมควร หรือมีความแข็งแรงดี
3.2 การเตรียมภาชนะปลูก
เมื่อเลือกภาชนะปลูกได้เหมาะสมทั้งกับชนิดของพืชผัก และมีความแข็งแรงคงทนพอสมควรแล้ว สิ่งที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อไปคือ ทำให้ภาชนะปลูกมีรูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำในส่วนที่เหลือจากที่ดินไม่สามารถดูดซับได้แล้วจะได้สามารถระบายออกได้ เพื่อให้ไม่ขังและอยู่ในภาชนะปลูกซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดรากเน่าและ ต้นไม่เจริญเติบโตและตายได้
วิธีการทำรูระบายน้ำ โดยการเจาะเป็นรูเล็ก ๆ ขนาดและจำนวนพอสมควร โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับขนาดของภาชนะปลูกเป็นสำคัญ

4. อุปกรณ์สำหรับการให้น้ำผัก

เนื่องจากผักเป็นพืชที่มีอายุสั้นมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีความต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ สิ่งจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในการให้น้ำ พืชผักคือควรใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมในการให้น้ำ โดยทั่วไปหากมีการปลูกผักไม่มากให้ใช้บัวรดน้ำที่มีหัวฝอยละเอียด เพื่อไม่ให้ความแรงของน้ำทำให้ผักซ้ำหรือทำให้ดินกระจายซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของผัก
หากไม่ใช้บัวรดน้ำอาจใช้สายยางรดน้ำ แต่แนะนำให้ติดหัวฝักบัวที่ปลายสายยางเพื่อให้น้ำแตกกระจาย ลดความดันของน้ำที่จะทำให้ผักเสียหาย

5. อุปกรณ์ในการพรวนดิน

หากเป็นการปลูกในดินโดยตรง ควรมีจอบสำหรับใช้ในการพรวนดินหรือถ้าเป็นการปลูกในภาชนะปลูกควรมีพลั่วมือทำดินผสมสำหรับการปลูกผัก และใช้พรวนดินในระหว่างการปลูก โดยเมื่อมีการปลูกผักในระยะหลัง หน้าดินอาจเริ่มอิ่มตัวแน่นให้ใช้จอบหรือพลั่วมือพรวนดินรอบ ๆ ต้นผัก เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศทำให้ออกซิเจนสามารถถ่ายเทลงไปในดินได้ และเพื่อประโยชน์กับรากผักในการเจริญเติบโต
ทั้งนี้ การพรวนดินต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนต่อรากหรือลำต้นด้วย

การเลือกชนิดผักสวนครัวในการปลูก

การเลือกชนิดผักสวนครัวในการปลูก เช่น ผักอายุสั้น อายุปานกลาง ยืนต้น

1. ผักอายุสั้น

ผักอายุสั้น หมายถึง ผักที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยกว่า 2 เดือน ส่วนใหญ่เป็นผักที่ใช้ส่วนของใบและลำต้นสำหรับการบริโภค มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทำให้สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเวลาสั้น เช่น ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักซี เป็นต้น

2. ผักอายุปานกลาง

ผักอายุปานกลาง หมายถึง ผักที่มีอายุประมาณ 2-5 เดือน ตั้งแต่ปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบริโภคได้ มีทั้งผักที่ใช้ลำต้น ดอก ผล ในการบริโภค เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ มะเขือเทศ แตงโม บวบ มะระ และฟักทอง เป็นต้น

3. ผักยืนต้น

ผักยืนต้น หมายถึง ผักที่สามารถปลูกและ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถปลูกและอยู่ข้ามปีได้หากเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วยังมีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ผักหวาน ชะอม กระถิน กะเพรา โหระพา แมงลัก ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ และกระชาย เป็นต้น
การเลือกชนิดผักสำหรับปลูกนอกจากจะพิจารณาจากอายุของพืชผักเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภค และสภาพพื้นที่หรือภาชนะปลูกให้เหมาะสมแล้ว ควรคำนึงถึงฤดูกาลที่จะปลูกให้เหมาะสมกับชนิดของพืชผักด้วย เพราะจะทำให้ดูแลรักษาง่าย มีโรคและแมลงรบกวนน้อยได้ผักที่มีคุณภาพและรสชาติที่ดีด้วย

วิธีการปลูกผักสวนครัว

วิธีขั้นตอนการปลูกผักสวนครัว

1. การปลูก

1.1 การปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์โดยตรง ควรแช่เมล็ดพันธุ์ด้วยน้ำอุ่น (อุณหภูมิประมาณ 55-60 องศาเซลเซียส) ประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น และสามารถฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่ติดมากับดินได้
1.2 การย้ายกล้าปลูก ต้องเลือกต้นกล้าที่มียอด ลำต้น ใบ และรากที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงไปปลูก
1.3 การใช้กิ่งพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์อื่น ๆ ให้คัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงกิ่งมีความแก่พอสมควร หรือกลีบและหัวแน่น เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้สมบูรณ์

2. การเพาะกล้า

การเพาะกล้าสามารถทำแปลงเพาะหรือเพาะในถุงพลาสติก หรือใช้ถาดเพาะกล้า ดินที่ใช้ในการเพาะกล้า ควรเป็นดินผสมที่มีอัตราส่วนของดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2 : 1 หรือดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและ ขี้เถ้าแกลบหรือขุยมะพร้าวในอัตรา 1 : 1 : 1 นำเมล็ดที่เตรียมไว้หยอดลงในหลุมปลูก หลุมละ 1 เมล็ด กลบดินบาง ๆ แล้วรดน้ำด้วยบัวรดน้ำที่ฝอยละเอียดเพื่อไม่ให้ดินกระจายตัว ควรมีการกันมดหรือแมลงมาคาบเมล็ด โดยใช้ปูนขาวโรยบาง ๆ ล้อมรอบบริเวณที่วางถุงหรือถาดเพาะกล้า ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ในเวลาเข้าและบ่าย โดยทั่วไปอายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก ประมาณ 15-20 วัน แต่สำหรับพริก และมะเขือต่าง ๆ ควรมีอายุ 25-30 วัน

3. การให้ปุ๋ย

ปุ๋ยรองพื้น ใส่ช่วงเตรียมดินหรือรองก้นหลุมก่อนปลูกควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย ช่วยในการอุ้มน้ำ และรักษาความชื้นของดิน ให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช

4. การให้น้ำ

พืชผักเป็นพืชอายุสั้น ระบบรากตื้นต้องการน้ำสม่ำเสมอทุกระยะการเจริญเติบโต ต้องให้น้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าแฉะหรือมีน้ำขัง เพราะน้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในดิน ทำให้รากพืชขาดออกซิเจน และเน่าตายได้ ควรรดน้ำในช่วงเช้า-เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด

5. การกำจัดวัชพืช

ได้แก่ หญ้าหรือพืชอื่น ๆ ที่ขึ้นแซมในแปลง จะทำให้แย่งน้ำและธาตุอาหารทำให้ผักเจริญเติบโตได้ไม่ดีรวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่ของศัตรูพืชอื่น ๆ ด้วย การกำจัดโดยการใช้ถอนด้วยมือ หากมีพื้นที่มากใช้พลั่วหรือจอบพรวนดินในการกำจัดวัชพืชไปพร้อม ๆ กับการใส่ปุ๋ย

6. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

การป้องกันกำจัดแมลง ที่ปลอดภัยทำได้หลายวิธีดังนี้
6.1 การใช้สารชีวภาพต่างๆ
6.2 ปลูกพืชผักร่วมกับพืชที่มีกลิ่นไล่แมลง เช่น โหระพา กะเพรา ตะไคร้

7. การป้องกันกำจัดเชื้อโรคในผัก

ในการปลูกผักหากมีการดูแลให้พืชผักมีการเจริญเติบโตที่แข็งแรง สมบูรณ์และปลูกไม่ให้ต้นแน่นหรือชิดกันเกินไป สามารถช่วยป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกอาจทำให้เกิดปัญหาใบจุดหรือโคนเน่า ให้ทำการเก็บใบหรือต้นผักที่เป็นโรคทิ้ง และนำไปทำลายนอกแปลง และใช้น้ำปูนใสรดที่แปลงผักหรือต้นผัก
วิธีการทำน้ำปูนใส ให้ใช้ปูนขาวจำนวน 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมให้เข้ากัน และทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นให้นำน้ำปูนโสที่ปูนตกตะกอนแล้ว อัตราน้ำปูนใส 1 ส่วน น้ำธรรมดาสำหรับรดผัก 5 ส่วน เพื่อรดในแปลงปลูก

8. การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผักควรเก็บในเวลาเข้าจะทำให้ผักสด รสชาติดี และหากยังไม่ได้นำไปรับประทานให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผักประเภทผลควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัด จะได้ผลที่มีรสชาติดี และจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้นต่อไปผลผลิตจะลดลง สำหรับผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน ผักคะน้า กะหล่ำปลี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อน หรือโตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือลำต้นและรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น ราก หรือต้นที่เหลืออยู่จะสามารถงอกงามให้ผลผลิตได้อีกหลายครั้ง
ทั้งนี้ จะต้องมีการดูแลรักษาให้น้ำและปุ๋ยอยู่เสมอ การปลูกพืชหมุนเวียนสลับชนิด หรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันและปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้างยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกันหรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3-5 ต้น หรือประมาณว่ารับประทาน ได้ในครอบครัวในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยวก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี
วิธีสังเกตในการเก็บเกี่ยวผักสวนครัวชนิดต่างๆ
ชนิดผัก
ประมาณอายุจากวันปลูกถึงวันเก็บครั้งแรก
ลักษณะภายนอกที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว
มะระ
50-60 วัน นับจากวันปลูก
ขณะผลโตยังไม่แก่ สีเขียวอ่อน
แตงกวา
30 วัน จากวันปลูก
ผลอ่อน ผลยังมีหนามอยู่
ถั่วลันเตา
45-60 วัน แล้วแต่พันธุ์
ขณะที่ฝึกยังอ่อน เมล็ดยังไม่แก่
ข้าวโพดหวาน
55-72 วัน
ขณะที่เมล็ดยังอ่อน
ผักกาดหัว
40-55 วัน
หัวยังไม่ฟ่าม ต้นยังไม่ออกดอก
กระเจี๊ยบเขียว
40-55 วัน
ขณะที่ยอดฝักยังเปราะอยู่ หักง่าย
หอมแบ่ง
50 วัน จากวันปลูก
(โดยปกติถ้าแก่แล้วโคนต้นจะโตพองขึ้น นิดหน่อยไม่ลงหัวโตเหมือนหอมธรรมดา)
ผักซี
40-50 วัน จากวันปลูก
ขณะที่ยังไม่ออกดอก
ผักกาดกวางตุ้ง
30-35 วัน จากวันปลูก
ขณะที่กำลังขึ้นลำออกดอกและดอกยังไม่บาน
ผักบุ้ง
25-30 วัน นับจากวันปลูก
ขณะที่ยอดยังอ่อน ยาวประมาณ 1 ฟุต
มะเขือเทศ
60 วัน หรือ 80 วัน แล้วแต่พันธุ์
ตั้งแต่ผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูเป็นต้นไป
ถั่วฝักยาว ถั่วแขก
50-60 วัน
ฝักเจริญเต็มที่แต่ยังไม่พอง
กะหล่ำปลี
45 วัน หลังย้ายกล้า หรือ 70-75 วัน หลังหยอดเมล็ด
หัวแน่นใส เคาะดูรู้สึกมีเสียงแน่นและหนัก
กะหล่ำดอก
45 วัน จากวันย้ายกล้า หรือ 65-70 วัน หลังหยอดเมล็ด
สีครีมอ่อน แน่นและเรียว อย่าทิ้งไว้นานจะบานและมีสีเหลืองแก่ เป็นขุยหยาบไม่น่ารับประทาน
คะน้า
35-45 วัน หลังหยอดเมล็ด
ตั้งแต่ 40-50 วัน ผักยังไม่เป็นเสี้ยน
ผักกาดขาวปลี
50 วัน จากวันเพาะเมล็ด
ขณะที่กำลังห่อปลีแน่น
ผักกาดเขียวปลี
60 วัน จากวันเพาะเมล็ด
กำลังเข้าปลี อวบอ้วน ยังไม่มีดอก
ผักกาดหอม
40-50 วัน จากวันเพาะเมล็ด
ขณะที่ยังไม่ออกดอก และกำลังอ่อนอยู่ถ้าแก่จะมีรสขม

เทคนิคในการปลูกผักสามัญประจำบ้าน

1. ต้องมีแดดส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน ให้ผักสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารในการเจริญเติบโต
2. ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ
3. ถ้าผักกินใบเริ่มมีดอกให้รีบเด็ดทิ้ง เพื่อไม่ให้ธาตุอาหารไปเลี้ยงตอก จะทำให้ใบเล็กไม่สมบูรณ์
4. การดูแลรักษา หมั่นสังเกตต้นผักโดยพลิกดูใต้ใบ ส่วนใหญ่ แมลงจะหลบแสงแดดอยู่ใต้ใบให้จับทำลาย
5. ถ้าพบแมลงจำนวนมากให้ใช้น้ำยาล้างจาน 2 ช้อนชา ใส่ในกระบอกฉีดน้ำ (ฟอกกี้) ฉีดให้ทั่วต้น โดยเฉพาะบริเวณยอดและใต้ใบทิ้งไว้ 3 วัน เก็บรับประทานได้

เทคนิคการเก็บผักบางชนิด

คะน้า กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ไม่ควรเก็บโดยถอนผักทั้งต้น ควรเก็บโดยตัดต้นให้เหลือข้อไว้ 2-3 ข้อ ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ ตาข้างจะแตกยอดใหม่ออกมา สามารถเก็บรับประทานได้อีก 2-3 ครั้ง
ปูเล่ เก็บใบที่อยู่ด้านล่างขึ้นไปหายอด ให้เหลือยอดไว้ประมาณ 6 ใบ ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ ปูเล่จะแตกยอดใหม่เรื่อย ๆ สามารถเก็บใบรับประทานเป็นปี
ปลูกกุยช่ายเขียว- ขาว ไว้รับประทาน
1. ปลูกกุยช่ายเขียวอายุ 2 เดือน ตัดต้นรับประทาน
2. ใช้กระถางขนาดที่มีความสูงกว่ากระถางปกติดรอบให้สนิทไม่ให้มีแสงผ่าน ครอบไว้ 2 สัปดาห์จะได้ปุ๋ยช่ายขาว
3. ตัดกุยช่ายขาว บำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยดอก ไม่ดรอบกระถางปล่อยเป็นกุยช่ายเขียว เพื่อให้พืชสังเคราะห์แสง มีคลอโรฟิล เลี้ยงลำต้น
4. ต้องทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้นไม่สมบูรณ์จึงรื้อปลูกใหม่
ประโยชน์การปลูกผักสวนครัว
ประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกผักสวนครัว
1. ปลูกเป็นรั้วบ้าน (รั้วกินได้) ผักที่สามารถนำมาปลูก ทำเป็นรั้ว ได้แก่ กระถินบ้าน ชะอม ตำลึง ผักหวาน ผักปลัง ต้นแค ถั่วพู มะระ ฯลฯ ซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิต ตลอดปีมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัยจากสารเคมี
2. ใช้ประดับตกแต่งบริเวณบ้าน เช่น จัดสวน การนำผักปลูกในกระถางแบบแขวน-ห้อยมาตกแต่งบริเวณรอบ ๆ บ้าน
3. ใช้พื้นที่ส่วนที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์
4. ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาประกอบอาหารประจำวัน
5. ได้ผักที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและปลอดภัยจากสารเคมี
6. สร้างความสัมพันธ์และสานสายใยที่ดีในครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
การรับประทานผักให้มีคุณค่าสูงสุด
ผักเป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่ โดยวิตามินที่อยู่ในผักมีทั้งวิตามินที่ละลายในน้ำและวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินบางตัวถูกทำลายได้ง่าย ดังนั้น เพื่อสงวนคุณค่าทางโภชนาการของพืชผักต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการแช่ผักที่หั่นฝอยหรือชิ้นเล็ก ๆ ในน้ำหรือตั้งทิ้งไว้ในอากาศเป็นเวลานาน ควรล้างทั้งหัว ทั้งต้นและเปลือกถ้าจำเป็นต้องปอกเปลือก ควรปอกแต่เพียงบาง ๆ ก่อนล้างควรเลือกส่วนที่เน่าเสียและส่วนที่ใช้ไม่ได้ออก การต้มผักให้ใช้น้ำน้อย เช่น การลวก นึ่ง ผัด ใช้เวลาสั้น อย่างไรก็ตามหากสามารถรับประทานผักสดจะได้ประโยชน์และ คุณค่าของผักครบถ้วน
ตัวอย่างผักที่มีวิตามินและธาตุอาหารสูง
วิตามินและแรธาตุ
ชนิดผัก
คาร์โบไฮเดรต (4.1-13.3 กรัม)
ตำลึง (ใบ ยอด) ต้นหอม ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (เขียว) พริกชี้ฟ้า (แดง) พริกหยวก พริกเหลือง ฟักทอง มะเขือเจ้าพระยา มะระจีน มะระ (ยอด)
โปรตีน (2.1-6.4 กรัม)
ใบกะเพรา ใบตั้งโอ๋ ใบแมงลัก ผักกระเฉด ผักคะน้า ผักบุ้ง (ต้นขาว) ปวยเล้ง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (เขียว) พริกชี้ฟ้า (แดง) พริกเหลือง มะระจีน
ไขมัน (1.0-3.6 กรัม)
ใบแมงลัก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (แดง) พริกเหลือง
แคลเซียม (54-387 กรัม)
ขึ้นฉ่าย ตำลึง (ใบ ยอด) ต้นหอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ใบกะเพรา ผักกระเฉด ผักกาดหอม ฟักทอง มะเขือเทศ
เหล็ก (3.1-260 กรัม)
ขึ้นฉ่าย ตำลึง (ใบ ยอด) ต้นหอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ใบกะเพรา ผักกระเฉด ผักกาดหอม ฟักทอง มะเขือเทศ
วิตามินซี (41-204 กรัม)
ขึ้นฉ่าย แคร์รอต แตงร้าน ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักคะน้า พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (เขียว) พริกชี้ฟ้า (แดง) พริกหนุ่ม พริกหยวก พริกเหลือง ฟักทอง (ยอด) มะระจีน มะระ (ยอด)
วิตามินเอ (มากกว่า 200 ไมโครกรัม)
กวางตุ้ง กวางตุ้ง (ตอก) ขึ้นฉ่าย แคร์รอต ดอกกุยช่าย ตำลึง (ใบ ยอด) ต้นหอม ถั่วพู บร็อคโคลี่ ใบกะเพรา ใบตั้งโอ๋ ใบแมงลัก ผักกระเฉด ผักกาดหอม ผักคะน้า ผักบุ้ง (ต้นขาว) ปวยเล้ง พริกชี้ฟ้า (เขียว) พริกชี้ฟ้า (แดง) พริกเหลือง ฟักทอง ฟักทอง (ยอด) มะระจีน มะระ (ยอด)
การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ
การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ
การปลูกผักไว้รับประทานเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้ได้บริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ แต่ทุกครอบครัวคงไม่สามารถปลูกผักทุกชนิดไว้รับประทานเองได้ การต้องซื้อหาผักจากตลาดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ ทั้งนี้ ผักต่าง ๆ เหล่านั้นอาจจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างก็ได้ ดังนั้น ควรมีการล้างผักให้ถูกวิธี และปลอดภัยจากสารพิษมากที่สุด วิธีการล้างผักให้สะอาดเพื่อลดปริมาณสารพิษ สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก ดังนี้
1. ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่ในน้ำสะอาดนาน 5-10 นาที หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-72
2. แช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 34-52
3. แช่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นาน 10 นาที (ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1 ช้อนขา ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 35-50
4. แช่น้ำต่างทับทิมนาน 10 นาที (ต่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 35-43
5. ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกนาน 2 นาที ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-39
6. แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
7. แช่น้ำเกลือนาน 10 นาที (เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
8. แช่น้ำส้มสายชูนาน 10 นาที (น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-36
9. แช่น้ำยาล้างผักนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 22-36
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr code ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147