จากเส้นพลาสติกเหลือใช้เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เป็นปัญหาอย่างยิ่งกับสิ่งแวดล้อม หากนำไปเผาจะเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ถ้านำไปทิ้งจะย่อยสลายช้าและทำให้เกิดภาวะโรคร้อน เกษตรชาวสวนผลไม้และสวนยางจึงมีแนวคิดที่จะประยุกต์เส้นพลาสติกดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งมีความต้องการให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จึงมีแนวคิดที่จะสานเส้นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ จากประสบการณ์ของแต่ละคน ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในวิธีการสานเส้นพลาสติกให้เป็นรูปของ ตะกร้าต่างๆ จากรูปแบบง่ายๆ พัฒนาจนมีรูปแบบการสานที่ซับซ้อนหลากหลาย เช่น สานตะกร้าใส่ผลไม้, สานตะกร้าใส่ผ้า, สานเข่ง, สานกระเป๋าสะพาย, สานกล่องเก็บขออเนกประสงค์, สานกล่องกระดาษทิชชู, สารถังขยะ เป็นต้น
ประจวบเหมาะกับในปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนมีพฤติกรรมเปลี่ยนจากการผลิตแผ่นดิบ ซึ่งมีความยุ่งยากหลายขั้นตอน หันมาจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบยางสดมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ประหยัดเวลา ราคาใกล้เคียงการผลิตยางแผ่นดิบ และไม่เสี่ยงกับการขึ้นลงของราคา แต่เกษตรกรยังไม่มีปัญหาเรื่องการขนย้ายน้ำยางสดจากสวนยางมายังกลุ่มชาวสวนยาง กล่าวคือ เกษตรกรต้องบรรจุน้ำยางสดใส่แกลลอนแล้วผูกเชือกกับท้ายรถจักรยานยนต์ ครั้งละ 1-2 แกลลอน เพื่อนำมาขายที่จุดรับซื้อน้ำยางสดอย่างลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่สวนยางพาราของเกษตรกรพื้นที่เป็นดอนเขาสูง และจำเป็นต้องขนน้ำยางสดหลายรอบ
เกษตรกรชาวสวนยาง จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะบรรทุกน้ำยางสดได้สะดวก ไม่เสี่ยงในการขนย้ายน้ำยางสดในพื้นที่ควนเขา จึงคิดประยุกต์การสานตะกร้าจากเส้นพลาสติกจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่เป็นตะกร้าเส้นพลาสติกอเนกประสงค์ เพื่อความสะดวกในการบรรทุกแกลลอนน้ำยางสด และนอกจากจะขนย้ายน้ำยางสดแล้วเกษตรกรชาวสวนยางยังสามารถนำตะกร้าสานจากเส้นพลาสติกขนผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ลงมาจากสวนได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด กล้วย เป็นต้น และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน